กปท. เทศบาลเวียงเชียงแสน หนุนโครงการคัดกรองสุขภาพจิตนักเรียน ‘วัยรุ่น วัยใส ใส่ใจสุขภาพจิต’ โรงเรียนเชียงแสนวิทยาคม-โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ พื้นที่เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน จ.เชียงราย แก้ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กนักเรียน ผ่านแบบประเมิน-ให้คำปรึกษา พบมีเด็กที่มีปัญหาเข้าสู่การรักษาอย่างต่อเนื่อง ช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายได้ผล
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย น.ส.จินตนา สันถวเมตถ์ ผู้อำนวยการกลุ่มจังหวัด สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ไปยัง โรงเรียนเชียงแสนวิทยาคม และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 ต.เวียงเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานสร้างเครือข่ายค้นหาผู้ป่วยจิตเวชชุมชนในโครงการ “วัยรุ่น วัยใส ใส่ใจสุขภาพจิต” ที่ดำเนินการโดยเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน ผ่านงบกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) โดยมี นางเกศสุดา สังขกร นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อต้องการเยี่ยมชมและดูถึงความร่วมมือของท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็งและอาจเป็นตัวอย่างหรือต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆนำไปปรับใช้ ระหว่าง โรงเรียน โรงพยาบาล และ กปท. ที่ทำโครงการดีๆ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกกลุ่มทุกเพศทุกวัย จากที่ได้รับฟังการจัดทำโครงการขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วยกลไก กปท.เวียงเชียงแสน นั้น
“พื้นที่นี้เริ่มจากการพบปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็ก ทางนายกฯ ก็เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ จนนำมาสู่การหารือกับโรงพยาบาล เพื่อหาทางป้องกันร่วมกัน จุดที่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญคือโรงเรียน” ทพ.อรรถพร กล่าว
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่น่าสนใจของโครงการนี้ คือการสร้างเครือข่ายของนักเรียนภายใต้การสนับสนุนจากครู ซึ่งมีทั้งผู้นำนักเรียนและมีช่องทางการให้คำปรึกษาทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ เพื่อให้เด็กที่มีปัญหาสามารถพูดคุย ระบายให้กับคนรุ่นเดียวกันได้ฟัง จนทำให้อัตราการฆ่าตัวตายของที่นี่เป็นศูนย์ หากมองดูตัวเลขงบประมาณที่ใช้จะพบว่าไม่ได้มาก จึงอยากจะบอกต่อให้กับพื้นที่อื่นๆ ว่าหากสามารถขยายการดำเนินการในลักษณะไปได้ก็จะทำให้กลายเป็นสังคมที่มีสุขภาพจิตแข็งแรงได้ ซึ่ง สปสช. ก็พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่
ด้านนางเกศสุดา สังขกร นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้มีโอกาสปรึกษากับนักจิตวิทยา โรงพยาบาลเชียงแสน จ.เชียงราย ถึงกรณีที่พบว่านักเรียนจาก 2 โรงเรียนนี้ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต จึงได้มีการพูดคุยเพื่อหาแนวทางการแก้ไข จนเกิดเป็นโครงการวัยรุ่น วัยใส ใส่ใจสุขภาพจิตขึ้นในปี 2564 จากนั้นได้มีการค้นหาแกนนำนักเรียนที่จะเข้ามาเป็นที่ปรึกษาในลักษณะของเพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง
อย่างไรก็ดี หลังจากเริ่มโครงการไปได้ 1 ปีก็ได้มีการกลับมาประเมินผลและพบว่าที่ผ่านมาในเขตเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบนั้นไม่พบว่ามีเด็กนักเรียนคิดสั้น หรือฆ่าตัวตาย อีกทั้งยังพบอีกว่าปัญหายาเสพติด ท้องก่อนวัยลดลงก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ จนได้เริ่มโครงการฯ ต่อมาในปี 2565 จนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ น.ส.น้ำเพชร วงศ์น้อย อายุ 16 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเชียงแสนวิทยาคม และเป็นอาสาสมัครแกนนำของโครงการฯ เล่าว่า ตนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่อยู่ ม.3 ปีนี้ถือเป็นปีที่ 2 ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการพบว่าเพื่อนที่สนิทเริ่มไม่มาเรียน หยุดเรียนบ่อย ชอบโพสต์เรื่องเศร้า หดหู่ใจอยู่เสมอ พอได้พูดคุยกันมากๆ เพื่อนก็รู้สึกดีขึ้นเพราะได้มาเล่าหรือระบายความในใจให้ฟัง เชื่อว่าการที่มาทำเรื่องนี้จะสามารถช่วยให้เพื่อพี่น้องนักเรียนด้วยกันสามารถกลับมาเป้นคนร่าเริง ไม่เครียด และสามารถปรับตัวเข้าหากับเพื่อนๆได้ไม่มากก็น้อย
ซึ่งส่วนมากนักเรียนส่วนใหญ่ในโรงเรียนจะมีความเครียดเรื่องเพื่อน การเรียน และครอบครัว โดยอาสาสมัครโครงการฯ จะใช้วิธีการรับฟังปัญหามากกว่าการให้คำปรึกษา ซึ่งนักเรียนที่เข้ามาจะเป็นในลักษณะของการระบายมากกว่าการขอคำปรึกษา โดยจะมีการติดตามผลการให้คำปรึกษาเพื่อดูว่าวิธีที่ใช้พูดคุยนั้นได้ผลหรือไม่ ส่วนมากก็พบว่าดีขึ้น
“หนูคิดว่าเด็กทุกคนควรได้รับการใส่ใจมากกว่านี้ หากถ้าเขาได้มีการระบาย พูดคุยบ่อยๆ รับฟังเขาด้วยใจ หรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับเขาด้วยใจจริง ปัญหาด้านสุขภาพจิตก็จะลดน้อยลง” น้ำเพชร กล่าว
สำหรับโครงการวัยรุ่น วัยใส ใส่ใจสุขภาพจิต เป็นการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของเด็กในโรงเรียน ผ่านกลไกงบประมาณจาก กปท. โดยได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลเชียงแสน จ.เชียงราย และเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนในการคัดกรองสุขภาพจิตเด็กนักเรียน เช่น ความเครียด โรคซึมเศร้า ฯลฯ ผ่านการทำแบบประเมินและให้คำปรึกษาเบื้องต้น จนนำไปสู่การส่งต่อการรักษาดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2564 ข้อมูลปัจจุบันพบว่าขณะนี้มีนักเรียนเข้ารับบริการปรึกษาสะสม 63 ราย และส่งต่อไปยังโรงพยาบาล 28 ราย
- 159 views