สัมภาษณ์พิเศษ: พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กับการวางมาตรฐานคุณภาพสถานพยาบาล รองรับการยกระดับ 30 บาทพลัส บริหารจัดการผู้ป่วยวอล์กอินจากบัตรประชาชนใบเดียว เชื่อผู้ป่วยเดินทางเลือกรพ.ไม่มาก ส่วนใหญ่ต้องการรักษาใกล้บ้าน พร้อมวางมาตรฐานเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ และรพ.สต.ถ่ายโอนไปท้องถิ่น นำร่องแล้ว “สกลนคร”
สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(องค์การมหาชน) หรือ สรพ. เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญ มีหน้าที่พัฒนามาตรฐานและรับรองคุณภาพสถานพยาบาลโดยสมัครใจ...แน่นอนว่า เมื่อนโยบายรัฐบาลประกาศยกระดับ 30 บาทพลัส สถานพยาบาลย่อมต้องเกิดคำถามว่า มาตรฐานจะต้องปรับเปลี่ยนหรือยกระดับอย่างไร.........
สรพ.แนะรพ.จัดระบบบริการรองรับยกระดับ 30 บาทพลัส
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักข่าวออนไลน์ Hfocus ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ถึงการดำเนินการตามมาตรฐาน HA ในสถานพยาบาลต่างๆ เมื่อมีการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยเฉพาะบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่
พญ.ปิยวรรณ ให้ข้อมูลว่า การดำเนินการตามมาตรฐานของสถานพยาบาลยังคงเป็นไปตามระบบที่วางไว้ ซึ่งยังคงเน้นเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย ทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการยกระดับบัตรทอง และมีเรื่องบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ สิ่งที่ต้องมีการปรับเปลี่ยน คือ สถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลนั้นๆ โดยต้องออกแบบระบบบริการในการรองรับผู้ป่วยที่จะเข้ามาแบบวอล์กอิน เพราะเดิมรพ.จะทราบจำนวนผู้ป่วยตามสิทธิหลักประกันสุขภาพฯ ที่เข้ามารักษาพยาบาล ทำให้สามารถออกแบบการให้บริการที่เหมาะสมตามกลุ่มเป้าหมายได้
เชื่อผู้ป่วยเพิ่มไม่มาก เหตุปชช.ต้องการรักษาใกล้บ้าน
ดังนั้น เมื่อประชาชนสามารถไปได้ทุกที่ รพ.ต้องบริหารความเสี่ยงโดยคาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และออกแบบระบบเพื่อเตรียมรองรับผู้ป่วยกลุ่มใหม่ๆที่อาจจะเดินทางมารักษา แต่ในความเป็นจริงยังมองว่า ตามศักยภาพและที่ตั้งของรพ.แต่งล่ะแห่ง รพ.บางกลุ่มอาจมีจำนวนผู้ป่วยกลุ่มใหม่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก เพราะประชาชนอาจไม่อยากเดินทางไกลๆ ในการรักษาพยาบาล
ส่วนใหญ่อาจอยากรักษาใกล้บ้านมากกว่า แต่รพ.ที่มีศักยภาพสูงและเป็นความคาดหวังของคนไข้ การเดินทางไปยังรพ.ใหญ่ๆ ถึงแม้ห่างไกล ก็อาจเกิดขึ้นได้ ทำให้มีโอกาสรับคนไข้เพิ่มมากขึ้นทั้งลักษณะกลุ่มโรคหายาก โรคที่มีความซับซ้อน หรือแม้แต่โรคที่สามารถรักษาได้ตามรพ.ทั่วไป ฉะนั้น คู่ขนานกับสิทธิบัตรประชาชนใบเดียวที่ประชาชนจะได้รับ ต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน ถึงความจำเป็นในการรักษา ความเร่งด่วน และลักษณะของโรคแต่ละชนิดที่สอดคล้องกับศักยภาพของรพ.
ย้ำ! รพ.ออกแบบระบบใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย
พญ.ปิยวรรณ อธิบายเพิ่มเติมว่า ภายใต้ความเป็นจริงของสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในขณะที่ทรัพยากรบุคคลยังคงมีเท่าเดิม แต่อาจมีข้อกังวลเรื่องภาระงาน การออกแบบระบบบริการเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จึงต้องคำนึงถึง 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ คน เทคโนโลยี และกระบวนการ อาจเกิดระบบบริการรูปแบบใหม่เพื่อประชาชน อย่างไรก็ตาม มองว่านโยบายยกระดับบัตรทองนั้น ไม่ใช่ว่าจะออกมาทีเดียวทำทั้งหมด น่าจะเป็นการนำร่อง ควรมีการสื่อสารให้รพ.ได้เตรียมความพร้อม ให้ประชาชนได้เข้าใจ และอาจมีการวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อสนับสนุนสถานพยาบาลทีมีโอกาสให้บริการผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ส่วนมาตรฐาน HA เป็นมาตรฐานที่ใช้ได้กับทุกบริบท เพียงใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารองค์กร เช่นมาตรฐานการเข้าถึงบริการของประชาชน อาจต้องมาออกแบบบริการ ภายใต้การวิเคราะห์กลุ่มผู้ป่วยที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลง
ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่หากพูดถึงบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ส่วนตัวมองว่า รพ.ขนาดใหญ่จะต้องมีการจัดระบบรองรับ เพราะไม่ใช่แค่มาตรฐานของสถานพยาบาล แต่เรื่องนี้จะต้องมีการสื่อสารประชาชนให้เข้าใจว่า หากเจ็บป่วยไม่มาก เป็นหวัด มีน้ำมูก ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปรักษาถึงโรงเรียนแพทย์ สิ่งสำคัญต้องมีการสื่อสารควบคู่ว่า โรคที่เป็นควรเข้าถึงบริการที่ไหน อย่างไร ซึ่งการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ด้วยการใช้มาตรฐานและกลไกการพัฒนาคุณภาพ ในการตั้งเป้าหมายการบริหารจัดการในรพ.ว่าจะส่งมอบระบบบริการที่มีคุณค่าต่อประชาชนได้อย่างไร จะออกแบบการรับบริการอย่างไรตามมาตรฐาน ที่ตอบสนองความต้องการประชาชน ตอบโจทย์นโยบาย ภายใต้ทรัพยากรที่มี
สรพ.เราพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพระบบบริการเพื่อคุณภาพและความปลอดภัยของประชาชน พร้อมสร้างการเรียนรู้กับสถานพยาบาลผ่านกระบวนการเยี่ยมสำรวจ ส่งเสริมความรู้และเครื่องมือคุณภาพและเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของสถานพยาบาลเพื่อหาวิธีการที่ดีร่วมกัน รวมถึงสรุปประเด็นที่เป็นโอกาสพัฒนาจากสถานการณ์ดังกล่าวเสนอต่อหน่วยงานกำกับต่อไป
สรพ.รุกวางมาตรฐาน รพ.สต.ถ่ายโอนไปท้องถิ่น นำร่องสกลนคร
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)ไปยังท้องถิ่น จะมีการดูแลมาตรฐานการบริการเพื่อไร้รอยต่อด้วยหรือไม่ ยิ่งหากมีการยกระดับบัตรทองแล้ว พญ.ปิยวรรณ กล่าวว่า ปัจจุบัน สรพ.พัฒนามาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ เพื่อเป็นเครื่องมือการบริหารและพัฒนาระบบบริการให้รพ.สต. โดยการนำไปใช้ต้องสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ล่ะที่ ในส่วนของรพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปนั้น ทางสรพ.มีการหารือและร่วมมือกับท้องถิ่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ลงนามข้อตกลงในจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นพื้นที่มีเคยมีการพัฒนาระบบริการเครือระบบสุขภาพระดับอำเภอผ่านการรับรองตามมาตรฐานระบบเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System Accreditation : DHSA) มากที่สุด เป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการปฐมภูมิ โดยมีฐานที่โรงพยาบาลชุมชน เป็นพี่เลี้ยงดูแลเรื่องส่งมอบคุณภาพที่ได้มาตรฐานให้กับ รพ.สต. ในเครือข่าย เรียกว่า เราไม่ยืนเดี่ยว แต่ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ
ขยายมาตรฐานสู่จังหวัดอื่นๆ เช่น โคราช จัดระบบเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ
“การถูกถ่ายโอนไปต้องมีสะพานเชื่อมโยงให้ไร้รอยต่อจริงๆ ซึ่งการพัฒนาคุณภาพระบบริการมาตรฐานปฐมภูมิของ HA ที่ให้ความสำคัญเรื่องเครือข่ายระบบบริการสุขภาพอาจจะเป็นตัวช่วยที่ดีในการดูและผู้แต่แรกไปจนถึงการดูแลต่อเนื่อง โดยสกลนคร จะเป็นพื้นที่นำร่องเน้นเป้าหมายพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อประชาชน เพราะเรื่องสุขภาพของคน บางครั้งไม่ได้สิ้นสุดแค่ตำบล หรืออำเภอ การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิภายใต้มาตรฐานเป็นเสมือนการพัฒนาวิธีการทำงานและพัฒนาคน ซึ่งจะมีการขยายแนวคิดการพัฒนาไปจังหวัดอื่นๆเช่น จังหวัดนครราชสีมาด้วย” ผอ.สรพ.กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเกี่ยวข้อง :
-“สันติ” รมช.สาธารณสุข เดินหน้าแก้ปัญหาบุคลากรฯ หนุน 1 รพ.สต.มีแพทย์หมุนเวียน 3 คน
- 8380 views