บอร์ด สปสช. เห็นชอบแผนปฏิรูปการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปตามมาตรา 18 (13) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2567 เน้นเพิ่มช่องทางรับฟังออนไลน์ที่หลากหลาย บูรณาการร่วมกับงานประจำของ สปสช. เพื่อให้ได้รับข้อเสนอตลอดทั้งปี และสรุปความก้าวหน้าข้อเสนอแต่ละเรื่องเป็นรายไตรมาส
ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยมี รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไป ตามมาตรา 18 (13) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ประจำปี 2566 และเห็นชอบแนวทางการโครงการปฏิรูปการรับฟังความคิดเห็น ปีงบประมาณ 2567 นำเสนอโดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความเห็นฯ และ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นในปี 2566 ดำเนินการภายใต้หลักการ 3 ข้อ คือเน้นบูรณาการกับงานประจำตลอดทั้งปี เพิ่มช่องทางการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายและตอบสนองข้อเสนอระดับเขตอย่างรวดเร็วเป็นระบบ ซึ่งผลจากการรับฟังความคิดเห็นพบว่ามีผู้ร่วมเสนอข้อคิดเห็นเพิ่มขึ้น จากประมาณ 8,000-9,000 รายในปีก่อนหน้า เพิ่มเป็นประมาณ 16,000 ราย โดยช่องทางที่มีการเสนอข้อคิดเห็นเข้ามาส่วนมากจะเป็นช่องทางออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ โดยมีข้อเสนอในระดับเขต 735 ข้อและกลั่นกรองมาเป็นข้อเสนอระดับประเทศ 506 ข้อ และเมื่อผ่านกระบวนการกลั่นกรองและรับฟังความคิดเห็นระดับประเทศ ก็สรุปข้อเสนอระดับประเทศออกมาได้ 32 ข้อ และได้ส่งมอบให้แก่คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องในแต่ละด้านเรียบร้อยแล้ว
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า ในส่วนของแนวทางการปฏิรูปการรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของภาคส่วนต่าง ๆ ปีงบประมาณ 2567 จะเน้นเพิ่มช่องทางการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวกรวดเร็ว โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่ได้รับการตอบสนองดี ก็อาจจะหาเทคโนโลยีหรือช่องทางใหม่ๆเข้ามาช่วยรับฟังความคิดเห็นให้มากขึ้น
นอกจากนี้จะใช้กลไกการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย เพิ่มกลุ่มเป้าหมายเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ และบูรณาการการรับฟังความคิดเห็นกับงานประจำให้มากขึ้นเพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะต่างๆอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมทั้งมีการประเมินความพึงพอใจ ประชาสัมพันธ์สื่อสารสาธารณะให้ประชาชนทราบถึงคุณค่าของการรับฟังความคิดเห็นและร่วมเป็นเจ้าของระบบ และจะมีการสรุปความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะอย่างเป็นระบบเป็นรายไตรมาส สามารถตรวจสอบได้ว่าข้อเสนอแต่ละเรื่องอยู่ในขั้นตอนไหนแล้วบ้าง
ทั้งนี้ บอร์ด สปสช. ได้รับทราบและอนุมัติแผนงานรับฟังความคิดเห็นทั่วไปประจำปี 2567 รวมทั้งได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่าควรจะมีการนำเสนอข้อมูลขาลงแก่ผู้เสนอความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ เพื่อชี้แจงว่าในแต่ละประเด็นแต่ละเรื่องที่ สปสช. ได้รับฟังมาแล้วนั้น ได้มีการดำเนินการอย่างไรต่อ มีการแก้ไขในระดับเขตหรือผลักดันเข้าสู่กระบวนการอย่างไรเป็นต้น
นอกจากนี้ บอร์ด สปสช. ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าแม้จะเพิ่มช่องทางรับฟังความคิดเห็นออนไลน์มากขึ้น แต่ก็ควรให้น้ำหนักกับการรับฟังความคิดเห็นแบบ onsite เนื่องจากผู้เข้าร่วมเสนอความคิดเห็นที่มาจากกลุ่มหรือเครือข่ายต่างๆ จะได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันอีกทางหนึ่งด้วย
- 48 views