กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมสำนักงานคกก.นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พัฒนา'ศูนย์ปฏิบัติการผลิตและทดสอบผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงที่ได้มาตรฐาน'   เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง

 

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดย นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการอีอีซี ในการพัฒนา 'ศูนย์ปฏิบัติการผลิตและทดสอบผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงที่ได้มาตรฐาน' (Good Manufacturing Practice: GMP) ในพื้นที่อีอีซี เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advanced Therapy Medical Product: ATMP)

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า พิธีลงนามความร่วมมือในวันนี้เป็นจุดร่วมต้นของความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานที่จะช่วยกันบูรณาการทั้งงานวิจัย พัฒนา และการให้บริการด้วยผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงในประเทศไทย สู่นวัตกรรมการแพทย์สมัยใหม่ที่นำออกมาใช้งานได้จริง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วย เนื่องจากปัจจุบันไทยยังคงต้องพึ่งพาต่างประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ดังนั้น การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฯ ระยะแรกจะเริ่มต้นที่กรมวิทย์ จากนั้นจะพัฒนาไปสู่การจัดตั้งที่อีอีซี เพื่อให้เกิดการลงทุน นำเม็ดเงินเข้าประเทศ รวมถึงการลดต้นทุนการใช้นวัตกรรมการแพทย์ในประเทศ ทั้งนี้ การแพทย์ขั้นสูงมีประโยชน์กับมนุษย์อย่างมาก เช่น การผลิตเซลล์บำบัด เซลล์ต้นกำเนิด การรักษาด้วยยีน และวิศกรรมเนื้อเยื่อ เป็นต้น

“การพัฒนาประเทศสู่บีซีจีโมเดล ในทางการแพทย์จะมี ATMP ที่เป็นผลิตภัณฑ์การแพทย์ชั้นสูง มีราคาสูง แต่ช่วยชีวิตมนุษย์ในโรคยากได้มากขึ้น ฉะนั้น ความร่วมมือนี้ืเป็นความตั้งใจของกรมวิทย์ ที่อยากเข้าไปมีส่วนร่วมให้เกิดความสำเร็จ เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์การแพทย์ที่ไทยเป็นเจ้าของ โดยผ่านการพัฒนาวิจัย การลงทุนทางเทคโนโลยีให้ได้คำตอบที่เป็นที่น่าเชื่อถือ ให้ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล ให้เป็น Made in Thailand ก่อให้เกิดสุขภาพและเศรษฐกิจ อย่างโรคที่พบมากในคนไทย เช่น โรคธาลัสซิเมีย ที่เป็นความผิดปกติในเซลล์เม็ดเลือด หากผู้ป่วยเป็นตั้งแต่เกิดอาจต้องถ่ายเลือดตลอด ดังนั้น ถ้าหากเรานำเซลล์เม็ดเลือดผู้ป่วย ออกมาแก้ไขแล้วนำไปใส่ในร่างกายให้ผลิตเซลล์เม็ดเลือดใหม่ออกมาใช้ ก็จะช่วยเหลือผู้ป่วยได้มาก” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ด้าน นายจุฬา กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่าน อุตสาหกรรมการแพทย์มีความตื่นตัวจากความก้าวหน้าด้านการรักษาโรคด้วยเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง เช่น การรักษาด้วยเซลล์บำบัด หรือยีนบำบัด ซึ่งเป็นการรักษาแบบใหม่ที่ให้โอกาสแก่ผู้ป่วยโรคที่รักษาได้ยาก หรือรักษาไม่ได้ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือด โรคที่เกิดจากพันธุกรรมให้สามารถรักษาจนหายขาดได้ ดังนั้น ความร่วมมือนี้นอกจากจะร่วมกับกรมวิทย์แล้ว อีอีซียังได้ประสานความร่วมมือไปยังโรงเรียนแพทย์และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อสร้างระบบนิเวศให้ประเทศมีความสามารถในการผลิตและรักษาโรคด้วยเทคโนโลยี ATMP รองรับความต้องการในและต่างประเทศ รวมถึงยกระดับความเป็นศูนย์กลางการแพทย์ หรือ Medical Hub ของไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ อย่างไรก็ตาม การตั้งศูนย์ปฏิบัติการฯ นั้นมีความเป็นไปได้ในการลงทุนของเอกชน ดึงการลงทุนจากต่างประเทศได้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการแพทย์