เลขาธิการ สปสช. เยี่ยมชมกระบวนการผลิตอาหารปั่นเหลวพร้อมบริโภค ผลงานวิจัยร่วมคณะแพทยศาสตร์ และคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยหลังจากนี้จะดำเนินการขึ้นทะเบียนนวัตกรรมไทยเพื่อบรรจุไว้ในชุดสิทธิประโยชน์บัตรทอง เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องให้อาหารทางสายยาง และผู้ป่วยอื่นๆที่มีปัญหาการกลืนอาหาร
วันที่ 14 ส.ค. 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 12 สงขลา เดินทางลงพื้นที่คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อเยี่ยมชมกระบวนการผลิตอาหารปั่นเหลวพร้อทบริโภค ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่คณะอุตสาหกรรมเกษตรคิดค้นร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยขณะนี้ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการขอการรับรองมาตรฐานฮาลาล และเตรียมขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยในเร็วๆ นี้ อีกทั้งดำเนินการยกระดับผลิตภัณฑ์เป็นอาหารทางการแพทย์เพื่อใช้ในโรงพยาบาลต่อไปได้
นพ.จเด็จ กล่าวว่า เวลาพูดถึงการให้บริการผู้ป่วย คนส่วนมากจะนึกถึงยา แต่จริงๆ แล้ว อาหารก็เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการ เพราะการที่ผู้ป่วยจะฟื้นฟูสภาพดีขึ้นไม่ใช่แค่กินยาอย่างเดียว แต่จำเป็นที่ต้องได้รับสารอาหารครบถ้วนด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่สามารถทานอาหารแบบคนปกติได้ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยที่ต้องเจาะคอ ผู้ป่วยที่ต้องให้อาหารทางสายยาง ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เป็นต้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีจำนวนประมาณ 1 แสน ที่ผ่านมาญาติของผู้ป่วยมีภาระในการประกอบอาหาร ต้องเอามาปั่นให้ละเอียด อีกทั้งต้องมีความสะอาดและมีสารอาหารครบถ้วนด้วย หรือบางคนก็ซื้อสินค้าอาหารปั่นเหลวที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง
อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์อาหารปั่นเหลวที่คณะอุตสาหกรรมเกษตรผลิตขึ้นมานั้น ใช้ผลผลิตจากเกษตรกรไทยเป็นวัตถุดิบ ทำให้มีราคาต่ำกว่านำเข้าจากต่างประเทศ โดยสินค้าจากต่างประเทศมีราคาอยู่ที่ประมาณ 150 บาท แต่ผลิตภัณฑ์อาหารปั่นเหลวนี้ประเมินว่าในต้นทุนในอนาคตอาจจะต่ำกว่าซองละ 35 -40 บาท แต่ยังคงคุณค่าสารอาหารครบถ้วนตามมาตรฐานทางโภชนาการที่กำหนด
“ผลิตภัณฑ์นี้มีการทำวิจัยใช้กับผู้ป่วยเพื่อศึกษาว่าผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วนหรือไม่อย่างไร ผลทางการแพทย์เป็นอย่างไร เมื่อมีผลการศึกษาที่ชัดเจนและได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีนวัตกรรมไทยแล้ว ก็จะสามารถบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกระจายไปยังผู้ป่วยที่มีความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง หรือ ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องให้อาหารทางสายยาง หรือในอนาคตอาจพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายมากขึ้น เช่น อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต เป็นต้น”นพ.จเด็จ กล่าว
ด้าน นายสุวิชาญ เตียวสกุล รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออก คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์นี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดในการนำมาใช้กับผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการอาหารปั่นเหลวในช่วงของการพักฟื้น จึงร่วมกับคณะแพทยศาสตร์คิดค้นอาหารปั่นเหลวที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ โดยปัจจุบันได้นำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวบริจาคแก่มูลนิธิผู้ป่วยมะเร็งของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่อใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนยากและผู้ป่วยที่ต้องให้อาหารทางสายยาง รวมทั้งมีการจำหน่ายแก่ผู้ป่วย ผู้สูงอายุหรือผู้ที่ขาดสารอาหารประเภทโปรตีนก็สามารถรับประทานได้เช่นกัน
นายสุวิชาญ กล่าวอีกว่า ปกติแล้วในขั้นตอนการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยจะได้รับอาหารอยู่แล้ว เพียงแต่หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว ครอบครัวผู้ป่วยส่วนมากจะไม่มีกำลังซื้ออาหารปั่นเหลวที่นำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องทำเองและอาจไม่ตรงตามหลักโภชนาการ อีกทั้งไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน การผลิตอาหารปั่นเหลวนี้ขึ้นมาจึงจะช่วยทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึงในราคาย่อมเยา ซึ่งนอกจากผลิตภัณฑ์นี้จะได้รับการคำนวณให้มีสารอาหารอย่างครบถ้วนแล้ว ยังผ่านกระบวนการผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐาน สามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิปกติโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็นได้นาน 1 ปี ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการให้อาหารแก่ผู้ป่วยมากขึ้น
ทั้งนี้ กำลังการผลิตในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 2,000 แพ็ก/เดือน อย่างไรก็ดี เพื่อให้เข้าถึงผู้ป่วยได้มากขึ้น ทางคณะจึงได้ลงทุนสร้างโรงงานซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 300,000 แพ็ก/เดือน รองรับผู้บริโภคได้มากขึ้นในอนาคต.
- 416 views