บุคลากรสาธารณสุขกว่า 400 คนยังไร้วี่แววกลไกช่วยเหลือย้ายกลับ สธ. หลังทำเรื่องขอถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.ไป อบจ. บางส่วนมองไม่เป็นธรรม รอลุ้นจะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไรไม่ขัดระเบียบ โดยเฉพาะเงื่อนไขสธ.กำหนดย้ายกลับ แต่ขอตำแหน่งเดิมกลับมา เหตุกระทรวงฯ ไม่มีตำแหน่งเพิ่ม เพราะมีกลุ่มรอบรรจุตามคิวขณะที่ถ่ายโอนรอบใหม่แจ้งความประสงค์ขอย้ายกลับอีก 103 คน
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าว Hfocus รายงานหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นบุคลากรสาธารณสุขที่ถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และพบบุคลากรบางส่วนขอย้ายกลับมากระทรวงสาธารณสุขนั้น ซึ่งบางรายร้องเรียนมายังสำนักข่าวออนไลน์ Hfocus เพื่อขอให้ติดตามเรื่องนี้ว่า จะมีกลไกอะไรช่วยให้กลับมาได้บ้าง เนื่องจากมองว่า หลังจากย้ายมาท้องถิ่นกลับไม่เป็นอย่างที่เคยได้รับการสื่อสารก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะไม่ได้ตำแหน่งตามที่คาด ประเด็นค่าตอบแทน รวมถึงระบบงานทันตสาธารณสุขที่ไม่มีวิชาชีพรองรับก็ไม่สามารถทำได้ เป็นต้น
ปมบุคลากรถ่ายโอนขอย้ายกลับ ยังไม่มีกลไกชัดเจนช่วยเหลือ
ล่าสุดแหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับงานการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข เปิดเผยกับ Hfocus กรณีแนวทางการช่วยเหลือคนที่ถ่ายโอนไปอบจ. และต้องการขอย้ายกลับมากระทรวงสาธารณสุขนั้น จริงๆ ต้องทำตามขั้นตอนโดยต้องไปแจ้งกับ อบจ. ที่บุคลากรคนนั้นย้ายไปตั้งแต่ต้น แต่ปัญหาคือ บุคลากรกลุ่มดังกล่าวกังวล ไม่กล้าที่จะไปทำเรื่อง เพราะกลัวว่า หากไปยื่น อบจ. ซึ่งจะเป็นเจ้านายในอนาคต จะส่งผลอะไรหรือไม่ ทำให้ต้องไปยื่นเรื่องที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) แทน จึงไม่แปลกที่ผ่านมาจะเห็นข่าวจากฝั่งกระทรวงสาธารณสุขว่า มีตัวเลขคนขอย้ายกลับกว่า 400 คน
“ปัญหาคือ ขณะนี้ยังไม่มีกลไกชัดเจนที่จะช่วยบุคลากรย้ายกลับมายังกระทรวงสาธารณสุข เพราะโดยหลักเมื่อตอนทำเรื่องย้ายไป ตำแหน่งราชการของคนนั้นก็ไปด้วย ทราบว่ากระทรวงสาธารณสุข มีเงื่อนไขว่า หากกลับมาขอให้ใช้ตำแหน่งเดิมกลับมา เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่า ต้องหาตำแหน่งเพิ่ม หรือใครเกษียณก็ต้องเอาตำแหน่งนั้นมาแทน ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น เพราะตำแหน่งการบรรจุข้าราชการจะมีคิวการบรรจุที่กำหนดไว้ก่อนแล้ว ตรงนี้ยังเป็นปัญหาว่า จะช่วยกลุ่มคนที่ถ่ายโอนกลับมาได้หรือไม่ ต้องมารอดูว่า จะมีกลไกอะไร”
ทางออกคือ คณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ ชุด "วิษณุ เครืองาม"
แหล่งข่าวฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพิจารณาส่วนที่มีอำนาจเรื่องนี้ ก็ต้องเป็นคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.กระจายอำนาจฯ ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการฯ ปัญหาคือ ในเนื้อหาของกฎหมายก็ไม่ได้ระบุถึงแนวทางย้ายกลับ จึงต้องมาหาจะทำอย่างไร ส่วนตัวมองว่า บุคลากรที่ขอย้ายกลับ ต้องมีเหตุผลมากพอว่า ตนเองย้ายไปแล้วประสบปัญหาไม่เป็นธรรมอย่างไรบ้าง เพื่อให้มีรายละเอียดเหตุผลของการขอย้ายกลับมากยิ่งขึ้น
“ เท่าที่ทราบมีการหารือกันในกลุ่มถ่ายโอนว่า จะทำอย่างไร บางคนก็เสนอว่า อาจต้องรวบรวมประเด็นและร้องเรียนให้ชัดเจนตามระบบราชการแผ่นดิน เพื่อให้มีกลไกย้ายกลับได้หรือไม่ แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขเรื่องตำแหน่งข้าราชการด้วย เพราะไม่เช่นนั้นทางกระทรวงฯ คงไม่สามารถหาตำแหน่งให้ได้ เมื่อย้ายไป ตำแหน่งราชการไปด้วย เมื่อย้ายกลับก็ต้องใช้ตำแหน่งเดิม เนื่องจากเข้าใจว่าตำแหน่งข้าราชการใหม่ๆ จะมีคิวบุคลากรที่จะเข้ามาบรรจุข้าราชการ เช่น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่จบมาและต้องได้บรรจุตามโควตา หรือกลุ่มที่มีคิวรอการบรรจุ ไม่ใช่ว่าเอาตำแหน่งตรงนี้มารองรับกลุ่มที่ขอย้ายกลับ สมมติ มีตำแหน่งข้าราชการจาก 10 ตำแหน่ง เมื่อโอนไปแล้ว ทำให้เหลือ 9 ตำแหน่ง แต่ถ้าจะกลับมาก็ต้องเอาตำแหน่งที่ไปกลับมาด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะมาเบียดตำแหน่งข้าราชการที่มีอยู่ 9 ตำแหน่ง กลายเป็นเหลือ 8 ตำแหน่ง ลดลงไปอีก”
แหล่งข่าวฯ กล่าวอีกว่า สำหรับล็อตใหม่ อย่างคนที่จะลงชื่อเพื่อถ่ายโอนภารกิจรพ.สต.ไปยังอบจ.ในเดือนตุลาคม 2566 ล่าสุดมีบุคลากรในหน่วยบริการปฐมภูมิบางส่วนขอยกเลิกถ่ายโอน โดยขออยู่กระทรวงสาธารณสุขเช่นเดิม ตรงนี้ก็ต้องมาดูว่า ทางฝั่งกระทรวงสาธารณสุข และฝั่งท้องถิ่นจะดำเนินการอย่างไร แต่รอบใหม่คิดว่า ปัญหาไม่น่ามากเท่ารอบที่ผ่านมา เพราะล่าสุดเห็นข่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ขอให้การถ่ายโอนรพ.สต.ครั้งใหม่เป็นไปตามภารกิจของหน่วยบริการปฐมภูมิ ไม่ใช่เหมือนรอบที่ผ่านมาที่มีคนในรพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป ถ่ายโอนไปด้วย ทั้งที่ไม่ตรงตามภารกิจ ดังนั้น การถ่ายโอนรอบหน้าน่าจะปัญหาน้อยลง
ถ่ายโอนรอบใหม่ปี 67 ขอย้ายกลับอีก 103 คน
แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวอีกว่า จากการติดตามข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 19 ก.ค.2566 พบว่า ข้อมูลการถ่ายโอน รพ.สต. แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. จำนวนบุคลากร ที่ถ่ายโอนไปปี 2566 และขอย้ายกลับกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้มีข้อมูลประมาณ 412 คน และ 2. จำนวนบุคลากรที่ยื่นถ่ายโอนปี 2567 ซึ่งเป็นล็อตใหม่ที่จะถ่ายโอนในเดือนตุลาคมนี้ มีความประสงค์ขอยกเลิกการถ่ายโอนล่าสุด 103 ราย โดยทั้งหมดมีหนังสือและเอกสารยินยอมและแจ้งความประสงค์ แต่ยังมีอีกที่ต้องการย้ายกลับ แต่ไม่กล้าแจ้งเป็นเอกสาร
- 5404 views