สปสช. รับยื่นหนังสือขอขึ้นทะเบียน พร้อมแสดงเจตจำนง “ศูนย์องค์รวม” ร่วมเป็น “หน่วยบริการรับส่งต่อด้านเอชไอวี ในระบบบัตรทอง” เบื้องต้นนำร่อง 13 กลุ่ม พร้อมจัดอบรมขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ การจัดบริการในระบบ การเบิกจ่ายค่าบริการ หนุนโรงพยาบาลดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี เสริมการทำงานของศูนย์องค์รวมให้ยั่งยืน       

ที่สำนักงาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ - เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รับยื่นหนังสือขอขึ้นทะเบียนจากตัวแทน “ศูนย์องค์รวม” จำนวน 13 กลุ่ม และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย แสดงเจตจำนงศูยน์องค์รวม ในการเข้าร่วมเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น (หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวี) ตามมาตรา 3 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ค. 2545 

รศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ให้องค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จึงได้จัดอบรมแกนนำกลุ่มศูนย์องค์รวม โดยร่วมมือกับวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล สปสช. และการสนับสนุนงบประมาณจาก UNAIDS และ USAID/PEPFAR พัฒนาหลักสูตรอบรมขึ้น โดยได้มีการอบรมรุ่นที่ 1 ไปแล้ว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา 

 

จากการอบรมในครั้งนั้น รวมถึงมีการประเมินมาตรฐานการจัดบริการดูแลผู้ติดเชื้อโดยของโรงพยาบาลที่ศูนย์องค์รวมร่วมดำเนินการอยู่ ได้นำมาสู่การยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงในวันนี้ เพื่อร่วมเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวีในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท โดย สปสช. จะได้ดำเนินการขึ้นทะเบียน พร้อมได้ทำการอบรมการเป็น “หน่วยบริการที่รับส่งต่อฯ ในระบบบัตรทอง” ในวันนี้ ซึ่งจะได้เรียนรู้ขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การสมัครขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ การส่งข้อมูลสู่ระบบ วิธีการเบิกจ่ายและการจ่ายชดเชยค่าบริการ รวมถึงการประเมินคุณภาพบริการ เป็นต้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ สปสช. ทั้งฝ่ายการบริหารงานทะเบียน ฝ่ายการบริหารการจัดสรรและชดเชยค่าบริการ ฝ่ายการตรวจสอบการจ่ายและคุณภาพบริการ เป็นต้น เป็นพี่เลี้ยงและให้ความรู้ 

“วันนี้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้เดินไปอีกก้าวหนึ่ง ในการขยายเครือข่ายหน่วยบริการระบบบัตรทอง 30 บาท เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง ซึ่งศูนย์องค์รวมฯ สปสช. ได้สนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 เพื่อหนุนเสริมโรงพยาบาลในการดูแลผู้ติดเชื้อฯ ทั้งการติดตามการรักษาต่อเนื่อง การเยี่ยมบ้าน เป็นต้น และด้วยศักยภาพการเข้าถึงการดูแลผู้ติดเชื้อฯ ได้อย่างมีประสิทธิผลนี้ จึงนำมาสู่การเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองในที่สุด” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว    

ด้าน สุนทราพร เกษแก้ว ผู้จัดการเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า การเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองนั้น ศูนย์องค์รวมจะต้องผ่านการรับรอง ทั้งความเป็นองค์กรจากหน่วยงานภาครัฐ  เช่น ได้รับการขี้นทะเบียนจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) หรือขึ้นทะเบียนโดยสภาองค์กรของผู้บริโภคซึ่งได้รับใบรับรองจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ขณะที่บุคลากรต้องผ่านการอบรมให้มีศักยภาพจัดบริการได้ตามมาตรฐาน ซึ่งศูนย์องค์รวมได้ร่วมกับวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำหลักสูตรการอบรมระยะเวลา 90 ชั่วโมง ในการดูแลผู้ติดเชื้อ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยผู้อบรมจะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรอง นอกจากนี้ยังต้องผ่านการประเมินมาตรฐานการจัดบริการด้านเอชไอวีจากโรงพยาบาลในพื้นที่ด้วยเพื่อร่วมเป็นเครือข่ายการทำงาน ซึ่งศูนย์องค์รวมที่ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการในระบบบัตรทองฯ ต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้    
    
“การขึ้นทะเบียนศูนย์องค์รวมเป็นหน่วยบริการนี้ เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ภาคประชาชนมีส่วนร่วมและสามารถร่วมจัดบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานได้ ทั้งได้รับการยอมรับในระบบสาธารณสุขด้วย เป็นการยกระดับศูนย์องค์รวมสู่ความยั่งยืน ทั้งนี้เป้าหมายเราอยากให้ศูนย์องค์รวมทั่วประเทศที่มีจำนวน 239 กลุ่ม ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการทั้งหมด แต่เบื้องต้นในปี 2566 ตั้งเป้าไว้ที่ 35 กลุ่ม ซึ่งจะดำเนินการ 16 กลุ่มที่มีความพร้อมก่อน และจะพัฒนาศักยภาพศูนย์องค์รวมอื่นๆ ต่อไป” ผู้จัดการเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าว 

ด้าน กชพรรณ วังฐาน ประธานกลุ่มใจประสานใจ รพ.พาน กล่าวว่า ทำงานกับผู้ติดเชื้อฯ และร่วมผลักดันนโยบายด้านเอชไอวี/เอดส์มาโดยตลอด ตั้งแต่เป็นผู้รับบริการจนมาเป็นส่วนผู้ให้บริการที่ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลมาตั้งแต่ปี 2546 ในการดูแลเพื่อนๆ ผู้ติดเชื้อด้วยกันให้เข้าถึงระบบบริการ ได้รับยาต้านไวรัส ได้รับการดูแลที่มีคุณภาพและเป็นมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นความภาคภูมิใจ จากวันนั้นที่ไม่มีองค์ความรู้ แต่ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งที่มองจากภายในตัวเองและมองจากภายนอกเข้ามา จนได้พัฒนาเกิดเป็นเครือข่ายและเป็นศูนย์องค์รวมในวันนี้ ทั้งนี้การที่ศูนย์องค์รวมได้เป็นหน่วยบริการฯ ในระบบบัตรทอง จะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ทำให้การดำเนินการของศูนย์ฯ เป็นมาตรฐานยิ่งขึ้น สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบ ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนการดูแลด้านเอชไอวีในอนาคต

   “รู้สึกดีใจที่ศูนย์องค์รวมได้เดินมาถึงวันนี้ ซึ่งวันนี้เราเป็นเพียง 13 กลุ่มในการนำร่องก่อน เชื่อว่าจะมีศูนย์องค์รวมที่กระจายทั่วประเทศพัฒนาศักยภาพและมาเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ได้มีการอบรมลักสูตรการให้บริการด้านเอชไอวี/เอดส์แบบองค์รวม รุ่นที่ 2 แล้ว” ประธานกลุ่มใจประสานใจ รพ.พาน กล่าว