กรรมการบอร์ด สปสช. เปิดประเด็นท้าทาย “ศูนย์องค์รวม” หลังขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวีในระบบบัตรทอง ย้ำต้องคงคุณภาพการทำงานดูแลผู้ติดเชื้อ ด้าน พยาบาลวิชาชีพ รพ.ขุขันธ์ ระบุ เติมเต็มงานเชิงรุกดูแลติดตามผู้ติดเชื้อโรงพยาบาลในพื้นที่
ในงานมอบประกาศนียบัตร “การให้บริการด้านเอชไอวี/เอดส์แบบองค์รวม โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รุ่นที่ 1 พ.ศ. 2565” จัดโดย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร่วมกับวิทยาลัยราชสุดามหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (กอพ.) กรมควบคุมโรค โครงการร่วมสหประชาชาติว่าด้วยเอชไอวีและโรคเอดส์ (UNAIDS) และ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ โรงแรมทีเค.พาเลซ แอนด์คอนเวนชั่น ทีผ่านมา ได้มีการเสวนาในเรื่อง ก้าวต่อไปของ “ศูนย์องค์รวม” ไปสู่การเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวี”
นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ผู้แทนภาคประชาชน กล่าวว่า จากวันแรกของการทำงานด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ หลายคนคงนึกไม่ถึงว่ามาถึงวันนี้ จากรวมตัวเป็นเครือข่าย จัดตั้งศูนย์บริการแบบองค์รวมหรือ “ศูนย์องค์รวม” ในการร่วมดูแลผู้ติดเชื้อ และเตรียมที่จะร่วมเป็น “หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวี/เอดส์” ตามมาตรา 3 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ซึ่งจะมีการยื่นขอจดทะเบียนหลังจากนี้
ทั้งนี้ หลังเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวี/เอดส์ มีสิ่งท้าทาย คือเมื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการแล้ว การทำงานจะไม่ใช่เรื่องอาสาสมัครอีกแล้ว เพราะต้องทำงานทุกวันจากภาระผูกพันในการเป็นหน่วยบริการ และอาจทำให้เกิดความเคยชินจนมองเป็นงานรูทีน (Routine) ดังนั้นจะสร้างพลังของการทำงานที่สร้างสรรค์และสนุกอย่างที่เริ่มต้นได้อย่างไร รวมถึงคุณภาพการทำงานจะทำอย่างไร เพราะเมื่อเป็นหน่วยบริการก็จะมีเรื่องของปริมาณเข้ามาร่วมด้วย ต้องมีการยืนยันและพิสูจน์ตัวตนผู้ใช้สิทธิ (Authentication) และคีย์ข้อมูลบริการเพื่อใช้สำหรับเบิกจ่าย
“คุณภาพของศูนย์องค์รวมคือคนทำงานในศูนย์จะเข้าใจปัญหา เข้าใจอารมณ์ของผู้ติดเชื้อ มีการติดตามและเข้าถึง มีจิตวิญาณดูแล คำถามคือเมื่อเป็นหน่วยบริการ เมื่อมีเรื่องปริมาณแล้วคุณภาพจะยังเดินไปด้วยกันได้หรือไม่ ซึ่งอยากฝากไว้”
นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้แม้ว่าเราจะมีผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรแล้ว 46 คน ทำงานในศูนย์องค์รวม 22 แห่ง แต่โรงพยาบาลชุมชนทั้งประเทศมี 900 แห่ง ทำอย่างไรจึงจะขยายศูนย์องค์รวมให้มีจำนวนเพียงพอได้ รวมถึงการสร้างแกนนำรุ่นใหม่เพื่อเข้ามารับช่วงงานต่อ ขณะเดียวกันยังต้องเผชิญความท้าทาย เนื่องจากสถานการณ์เอชไอวี/เอดส์ ปัจจุบันได้ถูกลดทอนความสำคัญลง จากที่ถูกกำหนดเป็นโรคติดต่อร้ายแรงเป็นโรคติดต่อทั่วไป ที่ส่งผลต่องบประมาณสนับสนุนการขับเคลื่อนในพื้นที่ รวมถึงงบในส่วนงานป้องกันเองก็ลดน้อยลง ก็เป็นสิ่งที่กังวล เพราะในที่สุดงานเอชไอวีทั้งหมดจะไปจมที่การรักษาที่โรงพยาบาล
ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ถึงงานด้านเอชไอวี/เอดส์วันนี้จะเดินหน้าไปมาก ทั้งบริการรักษาพยาบาล การเข้าถึงยา ความเข้าใจต่อโรคและผู้ติดเชื้อ รวมความครอบคลุมค่าใช้จ่ายจากสิทธิบัตรทอง 30 บาท แต่ก็พบว่าเรายังมีกรณีของผู้ติดเชื้อหรือญาติที่ไม่เข้าใจอยู่ต่อกระทบต่อการเข้าถึงการรักษา สะท้อนให้เห็นช่องว่างการทำงาน โดยเฉพาะงานในชุมชนที่ “ศูนย์องค์รวม” ได้เข้ามาช่วยเสริมได้ รวมถึงการสนับสนุนงานด้านการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากวันนี้ก็ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่อง และจำนวนหนึ่งก็ยังเป็นหญิงตั้งครรภ์ รวมไปถึงการทำให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้รับยาต้านไวรัสเอดส์โดยเร็วที่สุด นอกจากลดอัตราการป่วยแล้ว ยังจำนวนเชื้อไวรัสลงจนถึงตรวจไม่พบเชื้อเหมือนคนปกติทั่วไปได้
“ศูนย์องค์รวมจะมาช่วยเสริมบริการเอชไอวี/เอดส์ ของโรงพยาบาลที่ส่วนใหญ่เป็นงานตั้งรับ เนื่องด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มีมาก ดังนั้นการติดตามผู้ติดเชื้อ เรื่องของการกินยา การดูแลและฟื้นฟูจิตใจ การให้กำลังใจ ต้องอาศัยการทำงานของศูนย์องค์รวม ส่วนหนึ่งก็เป็นผู้ติดเชื้อด้วยกันก็จะมีความเข้าใจและเข้าถึงการดูแลได้ดี” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
นางกชพรรณ วังฐาน กลุ่มใจประสานใจ ศูนย์องค์รวม อ.พาน จ.เชียงราย กล่าวว่า การเข้ามาทำงานที่ศูนย์องค์รวม เพราะอยากให้เพื่อนๆ ที่เป็นผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลรักษาเป็นมาตรฐาน ขณะเดียวกันในพื้นที่เองก็ยังมีคนที่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์อยู่ ซึ่งมีน้องอยู่รายหนึ่ง ทางศูนย์ฯ ได้ติดตามเยี่ยมบ้านมาตั้งแต่น้องอายุ 2 ขวบ โดยน้องไม่ได้รับการดูแลรักษาที่สม่ำเสมอ เนื่องจากย่าไม่อยากพาน้องไปหาหมอ นอกจากประเด็นการยอมรับว่าเด็กมีเชื้อเอชไอวีไม่ได้แล้ว ด้วยการเดินทางไปหาหมอและรับยาต้านไวรัสแต่อละครั้ง ในตอนนั้นจะต้องไปที่ รพ.ศูนย์เท่านั้น รพ.พาน ยังให้ยาต้านไวรัสไม่ได้ ทำให้เกิดความไม่สะดวก กลายเป็นข้อจำกัด และย่าเองไม่สามารถดูน้องในเรื่องการกินยา ดังนั้นทางศูนย์องค์รวมจึงลงไปติดตามและดูแล โดยนำป้าและคนในละแวกบ้านที่ย่าไว้ใจมาช่วยพูดคุย ทำให้น้องเข้าสู่ระบบการรักษาได้
“งานของศูนย์องค์รวมคือ การค้นหาและติดตามว่าผู้ติดเชื้อมีปัญหาอะไร ทำไมเข้าไม่ถึงการรักษา รวมไปถึงการดูแลภาวะจิต ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องเอชไอวีแม้ว่าสังคมจะเปิดยอมรับและมีความมากขึ้น แต่ก็ยังมีคนส่วนหนึ่งที่ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับอยู่ หรือแม้แต่ผู้ที่ติดเชื้อเองก็ตาม จำเป็นต้องได้รับการดูแล” ตัวแทนกลุ่มใจประสานใจ กล่าว
นางชื่นจิต ชาญจิตร์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ศูนย์องค์รวม รวมถึงแกนนำกลุ่มและแกนนำเครือข่ายผู้ติดเชื้อมองว่าสำคัญ เพราะเราทำงานคนเดียวไม่ได้ ทุกวันนี้ได้น้องๆ เข้ามาเติมเต็ม ทั้งงานเชิงรุกและตั้งรับ ซึ่งในการรักษาผู้ติดเชื้อ ในกรณีพบรายใดที่มีค่าซีดีโฟรต่ำ แสดงว่ากินยาไม่สม่ำเสมอ ก็จะประสานน้องๆ ศูนย์องค์รวมลงไปติดตาม ให้คำปรึกษา และแนะนำการกินยา รวมถึงวิธีการดูแลสุขภาพตนเอง ผู้ติดเชื้อที่มาหาหมอตามนัดครั้งต่อไปก็จะดีขึ้น ขณะนี้บางครั้งทางโรงพยาบาลก็มีการจัดกิจกรรมให้คำปรึกษาเป็นกลุ่ม น้องๆ ก็จะมาร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ คำแนะนำ ทักษะต่างๆ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ติดเชื้อด้วยกัน นับว่าเป็นส่วนที่เข้ามาช่วยเติมเต็มในระบบ
“การดูแลผู้ติดเชื้อของโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลจะให้บริการในเรื่องของยาและการรักษา แต่ในส่วนของเวลาในการดูแลติดตามผู้ติดเชื้อนั้นยังเป็นช่องว่างอยู่ ศูนย์องค์รวมจึงเป็นส่วนที่เข้ามาช่วยสนับสนุนตรงนี้ได้ ส่วนการผ่านอบรมหลักสูตรฯ และการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองนั้น มองว่าจะเป็นใบเบิกทาง รับรองมาตรฐาน ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ติดเชื้อด้วยกัน” นางชื่นจิตร์ กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
- 285 views