ผลประชุมคณะอนุกรรมการถ่ายโอนฯ เป็นไปด้วยดี  หารือเพื่อประโยชน์ประชาชน มอบ สธ.จัดทำข้อเสนอทางการบริหารต่อคณะอนุกรรมการฯครั้งหน้า ย้ำ! ถ่ายโอนต้องมีความพร้อมจริงๆก่อนไป ที่ประชุมยังเห็นพ้องช่วยเหลือบุคลากรที่ต้องการย้ายกลับบนพื้นฐานระเบียบที่ทำได้ ขณะที่สธ.เสนอกลไกคณะทำงานสุขภาพพื้นที่ ชงผู้ว่าฯ เป็นประธาน ส่วนอบจ.และสธ.เป็นรองปธ. เพื่อการทำงานครอบคลุมระดับจังหวัด

ประชุมร่วมคณะอนุฯถ่ายโอนเป็นไปด้วยดี อิงประชาชนเป็นหลัก

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิ 11) และประธานคณะอนุกรรมการ MIU วิชาการและติดตามประเมินผลถ่ายโอนภารกิจ สอน./รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุข ร่วมกับคณะอนุกรรมการประสานงานการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ที่มีนายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ เป็นประธานการประชุมเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ว่า  ตนเข้าร่วมประชุมในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการฯ แทนท่าน นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์  รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดยการประชุมเป็นไปด้วยดี  กรรมการฯทุกท่านรับฟังและพร้อมหาทางออกร่วมกัน

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า กระทรวงฯ เห็นด้วยกับการถ่ายโอนภารกิจครั้งนี้  แต่สิ่งสำคัญ ขอให้มีการเตรียมความพร้อม รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ มีกลไกการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว มีทั้งพื้นที่ที่ทำได้ดี และพื้นที่ที่ต้องเข้าไปช่วยกันดูแล ก็ต้องมาร่วมกันทำงานหาทางออกให้ดีที่สุด ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้นำเสนอประเด็นปัญหาข้อห่วงใยต่างๆ และทางคณะอนุกรรมการฯ รับฟัง พร้อมทั้งให้ทางกระทรวงสาธารณสุข กลับมาทำข้อเสนอในทางบริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น ร่วมกับทางภาคส่วนต่างๆ และเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า    

(ข่าวเกี่ยวข้อง: 11 ก.ค.นี้ ถกปัญหาถ่ายโอนรพ.สต.ไป อบจ. หลายแห่งขาดแพทย์ - บุคลากรขอย้ายกลับกว่า 400 คน)

ที่ประชุมพร้อมช่วยบุคลากรต้องการย้ายกลับ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานระเบียบที่ทำได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าในการประชุมมีการหารือแนวทางกรณีบุคลากร 423 คนที่ถ่ายโอนไปแล้วต้องการขอกลับมายัง สธ.ด้วยหรือไม่ นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า  ทางกระทรวงฯ เสนอเป็นทางออกว่า กรณีกลุ่มดังกล่าวควรมีการช่วยเหลือให้กลับมาได้ แต่ต้องดูระเบียบในการบริหารอัตรากำลังเป็นสำคัญ ขณะนี้เรามองถึงความร่วมมือในการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาในบางพื้นที่ เพราะคนไข้ ประชาชนเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด โดยการทำงานแก้ไขปัญหาร่วมกันจะเป็นในรูปแบบคณะทำงานร่วมกัน แต่ทั้งหมดเราต้องอิงระเบียบ  

“ประเด็นบุคลากรที่อยากกลับมาสธ.นั้น เราเข้าใจและเห็นใจ ซึ่งการประชุมฯ ต่างก็เข้าใจเรื่องนี้ พร้อมช่วยเหลือบนพื้นฐานของระเบียบที่ทำได้” นพ.รุ่งเรือง กล่าว

นพ.รุ่งเรือง กล่าวอีกว่า การประชุมเป็นไปด้วยดี  ยึดหลักหารือแบบ Constructive Feedback  มองประชาชนเป็นตัวตั้ง มองการให้ข้อมูลแต่ละฝ่ายเป็นเรื่องที่จะนำมาพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งข้อห่วงใยหลักๆ  กรณีที่จะมีการถ่ายโอนรอบใหม่ต้องมาหารือเพื่อช่วยกันในการเตรียมความพร้อม ยกตัวอย่าง หน่วยงานไหนจะไปต้องเตรียมพร้อมให้เกิน 70% ขึ้นไป ยกตัวอย่างเช่น หากสมมติรพ.สต.มีบุคลากร 10 คน ถ้าไป 2 คนอาจต้องหารือกัน และต้องหาทางให้พร้อมจริงๆก่อนจึงจะถ่ายโอน โดยเรามีคณะทำงานสุขภาพในพื้นที่ที่เป็นกลไกคอยช่วยประสานงาน พิจารณาการดำเนินการต่างๆ ก็จะสามารถพิจารณาช่วยเหลือได้ 

เสนอประธานคณะทำงานสุขภาพระดับพื้นที่เป็นผู้ว่าฯ  

นพ.รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องกลไกการทำงานระดับพื้นที่นั้น สธ.เสนอว่า ประธานคณะทำงานสุขภาพระดับพื้นที่ ควรเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เนื่องจากสามารถดูแลระดับจังหวัด ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น เป็นไปได้หรือไม่จากเดิมประธานคณะทำงานสุขภาพฯ เป็นนายกฯอบจ. ขอปรับเป็นผู้ว่าฯ  และมีนายกฯอบจ. และสาธารณสุขเป็นรองประธาน ซึ่งอันนี้เป็นข้อเสนอของทาง สธ.

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการหารือกรณีแนวทางการจ้างแพทย์หรือบุคลากรที่มีใบประกอบวิชาชีพมาปฏิบัติงานในรพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปหรือไม่ นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า  ต้องอาศัยกลไกคณะกรรมการสุขภาพในพื้นที่เช่นเดียวกัน เพราะแต่ละพื้นที่บริบทไม่เหมือนกัน การออกแบบแนวทางก็จะแตกต่างกัน

ข้อเสนอการถ่ายโอนรพ.สต.ไปท้องถิ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นข้อเสนอการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี(สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่ อปท. มีการหารือประเด็นต่างๆ อาทิ

1.ผลของการจัดบริการให้แก่ประชาชนภายหลังจากการถ่ายโอน สอน. และรพ.สต.ให้แก่อบจ. พบว่า กรณีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง(เบาหวาน ความดันโลหิตสูง) ที่ต้องรับยาเป็นประจำภายใต้การดูแลของแพทย์ ไม่สามารถไปรับยาต่อเนื่องได้ที่ สอน.และรพ.สต. ต้องเข้ารับการรักษาที่รพ.ชุมชน หรือกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน ต้องทำแผลฉีดยา พบว่าผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาที่รพ.ชุมชน เพิ่มขึ้นหลังถ่ายโอนร้อยละ 12.5

กรณีนี้ในที่ประชุมให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ สธ. และอบจ.หารือร่วมกัน และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหา เพื่อเสนอต่อที่ประชุมต่อไป

 2.การถ่ายโอนบุคลากรไปสังกัด อบจ.สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2565 เป็นความสมัครใจของบุคลากรสังกัด สป.สธ. ควรเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานใน สอน. และรพ.สต. ไม่ใช่บุคลากรที่ปฏิบัติงานหน่วยงานอื่น คือ ต้องตรงภารกิจ เป็นสำคัญ

กรณีนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ สธ. และกรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  หรือ สถ.ดำเนินการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหา เป็นต้น

3.กรณีการถ่ายโอนรอบใหม่ปีงบประมาณพ.ศ.2567 ขอให้มีการประเมินความพร้อมของอบจ.เพื่อรองรับการถ่ายโอน ซึ่งที่ประชุมรับข้อเสนอไว้พิจารณา

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ ซึ่งที่ประชุมรับทราบ และให้ทางกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันจัดทำข้อเสนอกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อเสนอต่อที่ประชุมครั้งต่อไป เช่น การบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพร่วมกันและระบบการรายงานข้อมูลสุขภาพ เป็นต้น

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : ‘เลอพงศ์’ เผยขณะนี้ รพ.สต. ที่ประสงค์ถ่ายโอนฯ ปี 67 มี 1,236 แห่ง และบุคลากรประมาณ 3 พันกว่าคน