ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. สานพลัง ภาคีคนไร้บ้าน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แก้ปัญหา-ป้องกัน ไร้บ้านหน้าใหม่ วางแผนสิทธิ-ที่อยู่-สวัสดิการ ให้ “คนไร้บ้าน” หลุดพ้นสภาวะไร้บ้านฐาวร 

ที่ จุดประสานงานคนไร้บ้าน ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า เขตพระนคร กทม. (จุด Drop-in)  คณะกรรมการกำกับทิศการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้านใน กทม.และ จ.ปทุมธานี เยี่ยมชมจุดประสานงานคนไร้บ้านใต้สะพานพระปิ่นเกล้า  และศูนย์พักคนไร้บ้าน บ้านพูนสุข จ.ปทุมธานี จุดบูรณาการความร่วมมือสนับสนุนสวัสดิการ ป้องกันคนไร้บ้านหน้าใหม่ 

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตร ประธานกรรมการกำกับทิศการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน ฯ สสส. กล่าวว่า ข้อมูลการแจงนับคนไร้บ้านปี 2566 พบคนไร้บ้านทั่วประเทศ จำนวน 2,499 คน เฉพาะพื้นที่ กทม. มีคนไร้บ้าน 1,217 คน   พื้นที่เขตพระนคร และราชดำเนินมีการกระจุกตัวมากที่สุด 500-600 คน ที่ผ่านมา สสส. โดยภาคีเครือข่าย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประสานความร่วมมือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สปสช. ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร สำนักพัฒนาสังคมกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย เข้าร่วมกระบวนการจนเกิดจุด Drop-in คนไร้บ้านครบวงจร ปัจจุบัน จุดใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งบริการด้านสิทธิรักษาพยาบาล สวัสดิการคนพิการ ผู้สูงอายุ ทำบัตรประชาชนเคลื่อนที่ บริการซัก-อบผ้า ห้องน้ำ จัดหางาน และด้วยโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง ทำให้บริเวณหัวลำโพง จำนวนคนไร้บ้านลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งทาง พม. ได้ปรับรูปแบบเรียกว่าเดินเท้าเข้าหา ให้การช่วยเหลือ รวมถึง กทม.ให้ความสำคัญกับนโยบายคนไร้บ้าน

“สสส. ภายใต้แผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ พัฒนาโมเดลขับเคลื่อนสุขภาวะคนไร้บ้าน ถอดบทเรียนการทำงานกับภาคีเครือข่าย ทั้งยังพัฒนาแนวทางฟื้นฟูและพัฒนาคนไร้บ้านที่อยู่ใน ศูนย์พักคนไร้บ้าน 3 จังหวัด กทม. จ.ปทุมธานี จ.เชียงใหม่ พัฒนาต้นแบบระบบการดูแลสุขภาพ และบ้านพักพิงชั่วคราวทางการแพทย์สำหรับคนไร้บ้านใน กทม. ลดโอกาสการเกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่ เพราะการสร้างเสริมสุขภาพของคนไร้บ้าน ต้องเริ่มที่การลบแต้มลบในชีวิต” นพ.วีระพันธ์ กล่าว

นางสาวฐาปนีย์ ศิริสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูล จุด Drop-in ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า พบคนไร้บ้านหน้าใหม่ 50% อายุ 40-60 ปี นอกจากสุขอนามัย สิทธิสวัสดิการต่าง ๆ แล้ว จัดหางาน เป็นสิ่งที่คนไร้บ้านเข้ารับบริการมากที่สุด โดยทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งฯ ได้ประสานจัดหางานสำเร็จ 159 คน เข้าสู่ระบบการทำงานประจำได้ 26 คน   จัดหางานตามความสนใจ และคุณสมบัติ เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน คนดูแลสวน พม. พยายามปรับการทำงานเป็นเชิงรุกมากขึ้น ป้องกันการเกิดคนไร้บ้านมากขึ้น ซึ่งจุด Drop-in ไม่ได้ให้บริการแค่คนไร้บ้านเท่านั้น ยังให้บริการประชาชนใกล้เคียง ผู้มีรายได้น้อย สามารถใช้บริการได้เช่นกัน

จากนั้น คณะกรรมการกำกับทิศการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้านฯ สสส. ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ศูนย์พักคนไร้บ้าน บ้านพูนสุข จ.ปทุมธานี 

นางสาวนพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ศูนย์พักคนไร้บ้าน “บ้านพูนสุข” มีจำนวนผู้อาศัย 39 คน ประจำ 27 คน หมุนเวียน 12 คน แบ่งเป็น ผู้สูงอายุ 7 คน คนพิการ 5 คน  และจิตเวช 2 คน เป็นบ้านพักที่อยู่อาศัยร่วมกัน การดำรงชีวิตต้องจัดการเอง ค่าน้ำ-ไฟ เฉลี่ยกันออก มีกฎกติกาที่คนไร้บ้านร่วมกันคิด ร่วมกันดูแล แต่ในระยะหลังนอกจากคนไร้บ้านแล้ว ทางศูนย์เจอกรณีวัยรุ่นมีปัญหาครอบครัว หนีออกจากบ้าน บางครอบครัว ต้องออกจากบ้านเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า อย่างน้อยศูนย์นี้ยังเป็นสถานที่ ที่จะดูแลเบื้องต้นได้ เมื่ออยู่สักระยะทางศูนย์มีกิจกรรมการพัฒนา ฝึกทักษะ ส่งเสริมอาชีพ รับงานรายวัน แปลงเกษตร เปิดตลาดนัดหน้าศูนย์ เพื่อให้เขามีรายได้ ตั้งหลัก เริ่มต้นชีวิตในสังคมอีกครั้ง

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง