บริบทใหม่กับการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากคนไทย : Oral Health in Upcoming Era
ประชุมวิชาการทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2566 ภายใต้แนวคิด “บริบทใหม่กับการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากคนไทย : Oral Health in Upcoming Era” แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปาก ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สู่เป้าหมายระดับโลก ลดภาระโรคในช่องปาก และให้ประชากรโลกมีสิทธิได้รับบริการดูแลสุขภาพช่องปากที่จำเป็น ภายใน พ.ศ.2573
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2566 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานการประชุมวิชาการทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2566 “บริบทใหม่กับการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากคนไทย” (Oral Health in Upcoming Era) ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์สุขภาพว่า จากข้อมูลสถานการณ์สุขภาพโดยองค์การอนามัยโลกในปี 2561 พบว่า ประชาชนทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มากถึงร้อยละ 71 ในประเทศไทยพบ การเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มากถึงร้อยละ 74 ปัญหาการเกิดของคนไทยน้อยลง เด็กที่เกิด ปี 2565 มีจำนวน 502,107 คน ซึ่งมีจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งของการเกิดเมื่อ 50 ปีก่อน สำหรับปัญหาสุขภาพช่องปากยังเป็นปัญหาที่สำคัญของคนไทย โดยพบว่า
- เด็กอายุ 3 ปี ร้อยละ 52.9 และเด็กอายุ 5 ปี ร้อยละ 75.6 มีประสบการณ์ฟันน้ำนมผุ
- เด็กวัยเรียนและเยาวชนอายุ 12 ปี ร้อยละ 52 มีประสบการณ์การเกิดโรคฟันแท้ผุ
- กลุ่มวัยทำงานอายุ 35 - 44 ปี มีปัญหาสภาวะปริทันต์ที่พบการอักเสบของเหงือก มีเลือดออกง่าย ร้อยละ 51.0 และปัญหาโรคฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษาร้อยละ 43.3
- ผู้สูงอายุมีฟันถาวรใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่ เพียงร้อยละ 56.1
นพ.สุวรรณชัย เพิ่มเติมว่า กรมอนามัยได้ดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะด้านทันตสาธารณสุข ได้ปรับรูปแบบการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขยุคใหม่ เพิ่มการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการดำเนินงานส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูสุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน รวมทั้งปรับบริการส่งเสริมสุขภาพที่จำเพาะกับบุคคล ด้วยเวชศาสตร์วิถีชีวิตใช้ Digital Technology ในการสร้าง Health Literacy โดยพัฒนา Digital Health Book รวมถึงการสร้างนิเวศใหม่ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทันตบุคลากรและบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องควรตระหนัก รับรู้ และปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง และประยุกต์ใช้กระแสการเปลี่ยนแปลงให้เป็นประโยชน์ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงาน
นพ.สุวรรณชัย กล่าวด้วยว่า การประชุมวิชาการทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2566 บริบทใหม่กับการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากคนไทย (Oral Health in Upcoming Era) เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปาก รวมถึงเป็นเวทีเพื่อนำเสนอผลงานวิชาการเชิงรูปแบบและนวัตกรรมด้านทันตสาธารณสุขในทุกช่วงวัย มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 330 คน ประกอบด้วยทันตบุคลากร นักวิชาการ และภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านการบรรยายและอภิปรายรวม 5 หัวข้อ มีการนำเสนอผลงานวิชาการภายใต้ประเด็นการพัฒนาระบบบริการส่งเสริมสุขภาพช่องปากทุกกลุ่มวัย การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปาก และการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปาก เพื่อรองรับบริบทใหม่ในการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ทั้งในรูปแบบโปสเตอร์และวาจา รวมทั้งสิ้น 36 เรื่อง ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวสามารถนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
"สถานการณ์สุขภาพปัจจุบันพบ โรคทางพฤติกรรมหรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นสำคัญ การรับมือแบบเดิม ประกอบด้วย 1.การรักษาฟื้นฟู 2.การป้องกัน และ 3.การส่งเสริมสุขภาพ มากกว่าร้อยละ 90 ยังมุ่งเรื่องการรักษา แต่เทรนด์โลกเริ่มขยับจากการส่งเสริมสุขภาพมาทำ Wellness และ Well-being ให้คนมีความสุข ทุกข์น้อย อารมณ์ดี และมีสุขภาวะที่ดี ซึ่งทัศนคติของผู้ให้บริการเป็นสิ่งสำคัญ ควรซัพพอร์ตผู้รับบริการด้วยวิชาชีพของเรา ให้คำแนะนำที่ถูกต้อง" นพ.สุวรรณชัย กล่าว
สำหรับการอภิปรายเรื่อง “Global oral health strategy towards Thailand: ยุทธศาสตร์ สุขภาพช่องปากระดับโลกสู่ประเทศไทย” น.ส.สุชีรา บรรลือสินธุ์ National Professional Officer (NCD) องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปีที่แล้ว องค์การอนามัยโลก ได้ตีพิมพ์รายงานฉบับแรกเกี่ยวกับ สุขภาพช่องปากทั่วโลก ในรายงานชี้ให้เห็นว่า ประชากรทั่วโลก 3.5 พันล้านคน ได้รับผลกระทบ โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำที่ส่งผลต่อสุขภาพช่องปาก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ยากจน ขัดสนทางเศรษฐกิจ 3 ใน 4 ของคนเหล่านี้ อาศัยในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ทำให้มีปัญหาการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ สำหรับโรคทางช่องปากที่สำคัญ ได้แก่
- ฟันผุ
- โรคปริทันต์
- การสูญเสียฟันทั้งปาก
- โรคมะเร็งในช่องปาก
น.ส.สุชีรา กล่าวด้วยว่า ปัญหาสำหรับเด็ก คือ ฟันน้ำนมผุ มีความชุกถึง 19-53 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าจะเกิดในบางประเทศ แต่เด็กจะมีความเสี่ยงสูงที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหา ส่วนฟันผุนั้นเป็นปัญหาอันดับ 1 ส่งผลกระทบต่อทุกช่วงชีวิต ภาพรวมค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 29 เปอร์เซ็นต์ และจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ปัจจัยเสี่ยง เช่น การบริโภคน้ำตาลจากอาหารและเครื่องดื่ม การสูบบุหรี่ การใช้ยาสีฟันที่ฟลูออไรด์ไม่เพียงพอ และการไม่ดูแลสุขภาพช่องปาก
ด้าน ทญ.วรมน อัครสุต หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบทันตสาธารณสุข สำนักทันตสาธารณสุข กล่าวว่า สุขภาพช่องปาก คือ สภาวะของโครงสร้างปาก ฟัน ช่องปากและใบหน้า ที่ช่วยให้บุคคลสามารถทำหน้าที่ที่จำเป็น เช่น การกิน การหายใจ และการพูด รวมถึงมิติด้านจิตสังคม เช่น ความมั่นใจในตนเอง ความเป็นอยู่ที่ดี และความสามารถในการเข้าสังคมและการทำงาน โดยปราศจากความเจ็บปวด ความอึดอัด และความอับอายใจ สุขภาพช่องปากแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงชีวิต ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ เป็นส่วนสำคัญของสุขภาพทั่วไป และสนับสนุนให้บุคคลมีส่วนร่วมในสังคมและบรรลุศักยภาพของตนเอง โดยเป้าหมายและตัวชี้วัดระดับโลก แบ่งออกเป็น
- เป้าหมายหลัก 1 หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับสุขภาพช่องปาก ภายใน พ.ศ.2573 80% ของประชากรโลก มีสิทธิได้รับบริการดูแลสุขภาพช่องปากที่จำเป็น
- เป้าหมายหลัก 2 ลดภาระโรคในช่องปาก ภายใน พ.ศ.2573 ความชุกรวมของโรคและสภาวะในช่องปากทั่วโลก ทุกช่วงอายุลดลง 10%
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : สุขภาพช่องปากถูกบรรจุในวาระด้านสุขภาพระดับโลก
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 2257 views