ปลัด สธ.เผยปัญหาสุขภาพช่องปากเป็นปัญหาระดับโลก มีมากถึง 3,500 ล้านคน ที่ต้องเผชิญความทุกข์ทรมาน ชี้ปัญหาสำคัญ! ประชาชนเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมได้น้อย คนไทย 70 ล้านคน เข้าถึงบริการไม่ถึงร้อยละ 10 เพียงปีละ 12 ล้านครั้ง ต้องแก้ปัญหา วางรากฐานระบบทันตกรรมให้เข้มแข็ง พร้อมแนะแนวทาง 3 ขั้น เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติด้านทันตกรรม

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2567 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ปลัด สธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถา เนื่องในวันสุขภาพช่องปากโลก “World Oral Health Day 2024” ภายใต้แนวคิด “A Happy Mouth is a Happy Body” ซึ่งจัดขึ้นโดย ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพและทันตสาธารณสุข ว่า ปัญหาสุขภาพช่องปากเป็นปัญหาระดับโลก ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ประชากรทั่วโลกต้องเผชิญความทุกข์ทรมานจากโรคในช่องปากถึง 3,500 ล้านคน ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา คือ การที่ประชาชนเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมได้น้อย เช่นเดียวกับคนไทย 70 ล้านคน ที่ควรเข้าถึงบริการอย่างน้อยคนละ 2 ครั้งต่อปี รวม 140 ล้านครั้ง แต่ปัจจุบันยังเข้าถึงบริการไม่ถึงร้อยละ 10 หรือเพียงปีละประมาณ 12 ล้านครั้งเท่านั้น 

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า นโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มีจุดมุ่งหมายให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันไม่ให้เกิดโรค รวมทั้งการดูแลรักษาระดับปฐมภูมิและระดับขั้นสูง จึงเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการด้านทันตกรรมมากขึ้น รวมทั้งจะช่วยสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ จากการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติด้านทันตกรรม (Dental Hub) ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นขั้นตอน ให้เกิดความสมดุลและเกิดการยอมรับให้ได้ เริ่มจาก 

1.การแก้ปัญหาสุขภาพช่องปากที่สำคัญของคนไทยให้ได้ก่อน 

2.การเสริมรากฐานระบบทันตกรรมของไทยให้แข็งแรงมั่นคง ทั้งการมีบุคลากรด้านทันตกรรมที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ และมีการกระจายตัวอย่างเหมาะสม รวมถึงมีงบประมาณ ค่าตอบแทนและรายได้ที่จูงใจคนอยู่ในระบบ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะจัดตั้งโรงพยาบาลทันตกรรม เพื่อช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการ แก้ปัญหาได้ตรงตามบริบทของพื้นที่ และช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิชาชีพ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงงานวิจัย 

3.การพัฒนาสู่การเป็น Dental Hub เพื่อสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งอุตสาหกรรมบริการสุขภาพเป็นจุดแข็งของไทยที่หลายประเทศให้การยอมรับ การเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติด้านทันตกรรมจึงเป็นเรื่องที่สามารถทำได้