กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยผลสำรวจเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 9.1 โดยถูกชักชวนจากเพื่อนมากถึงร้อยละ 92.2 หนุน ยุว อสม. เยาวชนจิตอาสา บอกกล่าว เตือน รณรงค์ไม่ทดลองสูบ ไม่ชวนสูบป้องกันนักสูบหน้าใหม่

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า การสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต นอกจากจะส่งผลเสียด้านสุขภาพต่อผู้สูบแล้วยังส่งผลกระทบต่อผู้รับควันบุหรี่อีกด้วย หากงดการสูบบุหรี่ จะช่วยลดการสูญเสียก่อนวัยอันควรได้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองสุขศึกษา ได้สำรวจ “พฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย” โดยดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายระดับประเทศ และระดับพื้นที่ระหว่างวันที่ 25 เมษายน - 6 มิถุนายน 2566 มีผู้ตอบแบบสำรวจฯ จำนวน 61,688 คน พบว่าในภาพรวมของประเทศเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 9.1 หากเจาะลึกในรายเขตสุขภาพ พบ 6 เขตที่เยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าในระดับประเทศ ได้แก่ เขต 13 กรุงเทพมหานคร, เขต 3, เขต 9,  เขต 4, เขต 8 และเขต 5 โดยสูบบุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 14.6, 13.6, 13.6, 13.2, 12 และร้อยละ 11.2 ตามลำดับ

ทั้งนี้ สาเหตุของพฤติกรรมดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากการถูกชักชวนให้สูบบุหรี่ไฟฟ้าจากคนรอบข้าง โดยส่วนใหญ่ถูกชักชวนจากเพื่อนร้อยละ 92.2 รองลงมาถูกชักชวนจากญาติร้อยละ 3.2 และจากคนในครอบครัวร้อยละ 1.6 นอกจากนี้ยังพบว่าเยาวชนที่สูบบุหรี่มวนจะสูบบุหรี่ไฟฟ้าร่วมด้วยสูงถึงร้อยละ 43.9 ซึ่งจะทำให้เกิดอันตราย  ต่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น จึงเตือนเยาวชนไม่ทดลองสูบ ไม่ชวนสูบ เพื่อไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่

นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า เชิญชวนเยาวชนปฏิบัติสุขบัญญัติข้อที่ 5 งดสูบบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน และการสำส่อนทางเพศ โดยสนับสนุนให้ยุวอาสาสมัครสาธารณสุข แกนนำสุขภาพร่วมรณรงค์ และให้ความรู้ กับคนในพื้นที่เกี่ยวกับโทษของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า       โดยรณรงค์สร้างกระแสในประเด็น บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ไม่สูบ ไม่เสี่ยง ผ่านเครือข่ายภาครัฐและเอกชน สื่อมวลชน ในทุกมิติ ซึ่งเป็นพลังที่สำคัญทำให้เยาวชน ได้ตระหนัก และเห็นถึงพิษภัยของบุหรี่มวน และบุหรี่ไฟฟ้า ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเยาวชนได้      

 

 

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)