สบส.ทบทวนร่างพ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ เพิ่มโทษปรับ 3 เท่า เช่น เปิดคลินิกไม่ได้มาตรฐาน ส่วนโฆษณาชวนเชื่อเอาผิดแยกรายช่องทางที่เผยแพร่ทางโซเชียลฯ ขณะที่ตัวเลขร้องเรียนเฉลี่ยเดือนละ 80 เรื่อง พบ 60% เกี่ยวกับความงาม ร่างกฎหมายเสร็จแล้ว รอเข้าครม. กรณีหมอปฏิบัติงานในคลินิกผิดเงื่อนไขกฎหมาย หากรับโทษจำคุก เข้าข่ายละเมิดวิชาชีพฯ เพิกถอนใบอนุญาตฯ
จากกรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี แพทยสภา ฯลฯ แจงรายละเอียดเอาผิดคลินิกเอกชนแห่งหนึ่งย่านรังสิต ผ่าตัดศัลยกรรมแก้ไขจมูกให้ผู้ป่วย ซึ่งมีการดมยาสลบ แต่ ผู้ป่วยเสียชีวิต ขณะที่แพทย์ผู้ให้บริการ แม้มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ แต่ไม่ได้ขออนุญาตปฏิบัติงานในสถานพยาบาลนั้นๆ ซึ่งมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า ควรมีการเพิ่มโทษ เนื่องจากโทษอาจน้อยเกินไปจึงไม่เกรงกลัวนั้น
ปรับปรุงกม.เพิ่มโทษปรับ 3 เท่า
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าว ว่า ขณะนี้ สบส. อยู่ระหว่างดำเนินการร่าง พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรการให้มีความทันสมัยมากขึ้นประมาณ 10 กว่ามาตรา ทั้งเรื่องการปรับเพิ่มโทษกรณีการโฆษณาชวนเชื่อตามมาตรา 38 และมาตราที่เกี่ยวข้องกับการเปิดคลินิก ทั้งมาตรา 17 และ 18 ซึ่งจะมีการเพิ่มโทษให้หนักขึ้น อย่างโทษปรับจะเพิ่มขึ้น 3 เท่า ส่วนโทษจำคุกยังไม่ได้เพิ่ม
โฆษณาชวนเชื่อเอาผิดแยกช่องทางโซเชียลฯ
“อย่างการโฆษณาก็มีการปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน 3 เท่าในทุกช่องทาง อย่างปรับจาก 1 แสน เพิ่มเป็น 3 แสนและคิดตามช่องทางที่มีการโฆษณาออกไป เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูป หรืออื่นๆ อย่างมี 6 ช่องทาง ผิด 6 ช่องทางก็ต้องปรับเพิ่มคูณเข้าไป โดยขณะนี้ได้ร่างกฎหมายเสร็จแล้ว เหลือเพียงเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งก็ต้องรอรัฐบาลใหม่ พิจารณาตามขั้นตอนต่างๆ คาดว่าไม่น่าเกิน 1 ปี” รองอธิบดี สบส. กล่าว
ประชาชนร้องเรียนปัญหาการรักษา เสริมสวยเดือนละ 80 เรื่อง
ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ผ่านมา สบส.ได้รับเรื่องร้องเรียนของสถานพยาบาล หรือคลินิกเอกชนที่ทำผิดมากน้อยแค่ไหน ทพ.อาคม กล่าวว่า เฉลี่ยเดือนละ 80 เรื่อง ทั้งเรื่องมาตรฐานการรักษา มาตรฐานการบริการ ทั้งการรักษาทั่วไป ศัลยกรรม รวมไปถึงโรคโควิด19 และร้องเรียนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือยูเซป (Universal Coverage for Emergency Patients ; UCEP)
ร้องเรียนเรื่องคลินิกเสริมความงาม 5-10 เรื่องต่อเดือน
เมื่อถามว่ากรณีการร้องเรียนที่มีแพทย์เกี่ยวข้องกับการรักษา หรือศัลยกรรมเสริมความงามมีจำนวนเท่าไหร่ ทพ.อาคม กล่าวว่า ส่วนใหญ่จะมีแพทย์เกี่ยวข้องอยู่แล้ว อย่างเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการรักษาโดยแพทย์ก็มีหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาประมาณ 5-10 เรื่องต่อเดือน จาก 80 เรื่องที่เรียกร้องเข้ามา แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการร้องประเภทการทำความงามตามคอร์สต่างๆ ที่มีการจ่ายเงินไปแล้วและเมื่อมารับบริการกลับไม่ได้ดั่งที่คาดหวัง จึงเรียกร้องเอาเงินคืน เป็นต้น ซึ่งกรณีการร้องเรียนเกี่ยวกับความงามมีมากเฉลี่ย 60% นอกจากนี้ ยังมีเรื่องโควิดที่เข้าโครงการยูเซปว่าเข้าข่ายกลุ่มอาการสีเหลือง หรือสีแดง
ข่าวอื่นๆ : คลินิกผ่าจมูกคนไข้ตาย! พบ “2 หมอ” ดมยา-ผ่าตัดเป็นแพทย์ในรพ.รัฐ แต่ไร้ใบอนุญาตหัตถการคลินิกเอกชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า การทบทวนกฎหมาย โดยการปรับโทษเพิ่มขึ้น 3 เท่า แต่ไม่เพิ่มโทษจำคุกจะทำให้คนจงใจทำผิดไม่เกรงกลัวหรือไม่ ทพ.อาคม กล่าวว่า การเพิ่มโทษถือว่า ค่อนข้างมาก เพราะมีการแยกเป็นรายช่องทางในการเผยแพร่โฆษณา หรือกรณีหากมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของการเปิดคลินิก หรือการประกอบวิชาชีพฯ ในสถานพยาบาลหรือคลินิกก็จะมีการเพิ่มโทษเช่นกัน
เมื่อถามว่าหากแพทย์ที่ปฏิบัติงานในคลินิกได้รับโทษจำคุกถือว่าจะไม่สามารถมาประกอบวิชาชีพได้อีกใช่หรือไม่ ทพ.อาคม กล่าวว่า หากทำผิดและมีโทษถึงจำคุกก็จะเป็นเงื่อนไขของวิชาชีพนั้นๆว่า จะเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาวิชาชีพของบุคลากรที่ดำเนินการว่า พิจารณาอย่างไร หากไม่มีใบประกอบวิชาชีพ การจะมาขอขึ้นทะเบียน หรือขออนุญาตในการประกอบวิชาชีพย่อมไม่ได้
ข่าวอื่นๆ
- 774 views