สปสช.เขต 13 กรุงเทพมหานคร เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น “กองทุนสิทธิบัตรทอง ปี 2566” ระดมความเห็นผู้รับบริการ-ผู้ให้บริการ มีผู้ร่วมแสดงความเห็น 200 ความคิดเห็น เผยฝ่ายผู้ให้บริการส่วนใหญ่เสนอพัฒนาระบบบันทึกข้อมูลหน่วยบริการเป็นระบบเดียวกัน ช่วยลดความซับซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่าย ให้เกิดความคล่องตัวมากกว่าเดิม ขณะที่ด้านผู้รับบริการ เน้นลดความเหลื่อมล้ำเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ เพื่อดูแลคนไทยทุกคน พร้อมเพิ่มหน่วยบริการในพื้นที่ที่ขาดแคลน และมีประชากรหนาแน่น เตรียมรวบรวมความเห็นสู่เวทีรับฟังความเห็นระดับประเทศ และเสนอคณะกรรมการฯ ในระดับพื้นที่ต่อไป 

วันที่ 9 มิ.ย. 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กรุงเทพมหานคร ได้จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้และผู้รับบริการระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 ที่โรงแรมเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งแบบ Online และ Onsite อย่างคับคั่ง 

ทั้งนี้ การรับฟังความคิดเห็นทั่วไปฯนี้ สปสช.จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีตามมาตรา 18 (13) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 2545 ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากทุกภาคส่วน ซึ่งความเห็นที่ได้มานั้นจะถูกนำไปพัฒนาเป็นชุดสิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ เพื่อดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองทั้งประเทศ รวมถึงการพัฒนายกระดับคุณภาพและมาตรฐานการบริการสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนและหน่วยบริการเกิดความพึงพอใจ ในระบบสิทธิบัตรทอง

“กองทุนสิทธิบัตรทอง ปี 2566”

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่เขต 13 กรุงเทพ มหานคร กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทย มีลักษณะโดดเด่นที่ไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ เพราะมีกลไกการอภิบาลระบบแบบผสมผสานที่ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนจากภาครัฐและการมีส่วนร่วม รวมถึงกลไกการตลาด ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ช่วยให้การอภิบาลในระบบหลักประกันสุขภาพมีความสมดุล นอกจากนี้ยังมีการกำหนดประเด็นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมเกี่ยวข้อง สะท้อนถึงการเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพร่วมกัน

นอกจากนี้ การรับฟังความคิดเห็นทั่วไปฯ ยังมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดข้อคิดเห็นที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานบริการสาธารณสุข รวมไปถึงเป็นข้อมูลที่จะถูกนำไปพิจารณากลั่นกรองในแต่ละระดับเพื่อพัฒนาเป็นชุดสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ในอนาคต 

นพ.สุวิทย์ กล่าวอีกว่า เวทีรับฟังความเห็นฯ ในวันนี้ ทาง สปสช. เขต 13 กทม. จะดำเนินการการรวบรวมข้อคิดเห็นที่ได้รับทั้งจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการสาธารณสุข รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การสังเคราะห์ข้อมูลเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในระดับประเทศ พร้อมนำเข้าสู่การพิจารณาโดยคณะกรรมการระดับพื้นที่และกรรมการระดับชาติ ก่อนมีมติออกมาเพื่อให้คณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ดำเนินการต่อไป 

 
"วันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวนมาก สะท้อนว่าทุกคนเป็นเจ้าของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร่วมกัน โดยมี สปสช. ทำหน้าที่บริหารจัดการระบบ ที่รวมถึงการจัดรับฟังความเห็น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้มีคุณภาพและมาตรฐานให้กับประชาชน" นพ.สุวิทย์ กล่าว

 
ด้าน ทพญ.น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจะกำหนดหัวข้อเบื้องต้น เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแก้ไข อาทิ การถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการเพิ่มเติม การเข้าถึงบริการตามชุดสิทธิประโยชน์ให้มากขึ้น เช่น บริการทันตกรรม การฟอกไต ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ และบริการการแพทย์ทางไกล จะส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอย่างไร 
 
นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ ซึ่งผู้เข้าร่วมสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ โดยจะมีเจ้าหน้าที่รวบรวมทุกความคิดเห็นเอาไว้ เพื่อนำไปพัฒนาต่อเป็นชุดสิทธิประโยชน์ต่อไป
 
ทั้งนี้ เวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไป ในพื้นที่เขต 13 กรุงเทพมหานคร วันนี้ดำเนินการทั้งแบบ Onsite และ Online กำหนดหัวข้อใน 8 ประเด็น ประกอบด้วย
1.ประเภทขอบเขตบริการสาธารณสุข 2. มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3. การบริหารจัดการสำนักงาน 4. การบริหารจัดการกองทุน 5. กองทุนท้องถิ่น และกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ 6. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 7. การรับรู้แลคุ้มครองสิทธิ และ 8. ปัญหาเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นจากผู้รับบริการและผู้ให้บริการ กว่า 200 ความคิดเห็น 
 
สำหรับประเด็นการบริหารจัดการสำนักงาน มีความคิดเห็นมากสุด 44 รายการ โดยความเห็นส่วนใหญ่ ต้องการให้จัดระบบบันทึกข้อมูลในส่วนผู้ให้บริการ เนื่องจากมีความซับซ้อน อยากให้รวมระบบเดียวกัน ขณะที่ฝั่งผู้รับบริการ ต้องการให้ลดความเหลื่อมล้ำและสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้กับคนไทยทุกคนอย่างถ้วนหน้า ส่วนประเด็นบริหารจัดการกองทุนนั้นให้มีระบบเบิกจ่ายที่มีประสิทธิภาพ และเพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรแพทย์ในพื้นที่ที่ให้บริการไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหาหน่วยบริการไม่เพียงพอ ควรเพิ่มหน่วยบริการตามความหนาแน่นของประชากร ขณะที่โครงการรับยาที่ร้านยา ให้มีการยกระดับการจ่ายยาให้มีคุณภาพเทียบเท่าโรงพยาบาล 
 
ทั้งนี้ ภายหลังการรับฟังความคิดเห็นจะมีการสรุปและส่งมอบข้อมูลให้กับ สปสช.ส่วนกลาง เพื่อเตรียมดำเนินการในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพสำหรับประชาชนสิทธิบัตรทอง รวมถึงไปพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีต่อไป