กทม.แจงกรณีร้องเรียนปัญหาขาดแคลนพยาบาล รพ.ในสังกัด ต้องควงเวร 24 ชั่วโมง ตรวจสอบแล้วคาดน่าจะ 2 กรณี ลั่นให้ทุก รพ. ปรับระบบบริหารจัดการอัตรากำลัง ห้ามทำงานขึ้นเวรเกิน 16 ชั่วโมง มีระบบเช็กการขึ้นเวร และไม่อนุญาตควงเวรแม้เจ้าตัวเต็มใจ หรือบังคับ
ตามที่กลุ่ม Nurses Connect โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุเกี่ยวกับปัญหารพ.ในสังกัดกทม. บุคลากรขาดแคลนหนัก โดยระบุใจความว่า ปัญหาใหญ่รพ.สังกัดกทม บุคลากรขาดแคลนหนัก บีบพยาบาลขึ้นเวร 24 ชั่วโมง! จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการบริหารจัดการดังกล่าวนั้น
(ข่าว: กลุ่ม Nurses Connect ขอให้กทม.ตรวจสอบด่วน หลัง รพ.ในสังกัดกทม. ขาดแคลนบุคลากรอย่างหนัก)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงข่าวเรื่องนี้ ว่า จากกรณีมีการร้องเรียนว่า รพ.ในสังกัดกทม.มีการให้พยาบาลทำงานขึ้นเวรมาเกินกว่าที่ควรทำนั้น ล่าสุดได้สอบข้อเท็จจริงว่ามีเหตุการณ์นี้จริงหรือไม่ ซึ่งพบว่ามีการให้พยาบาลทำงานมากกว่าที่ควรเป็น ซึ่งจริงๆสำนักการแพทย์มีมาตรฐานการทำงานที่เข้มงวดมาก โดยปกติจะอยู่กะติดต่อกันเพียง 2 กะ คือ 16 ชั่วโมง จริงๆ เหตุการณ์นี้ไม่ควรเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เพราะหากพยาบาลทำงานมากเกินไปจะกระทบต่อการให้บริการประชาชนได้
ตรวจสอบข้อมูลแล้วเป็นจริง ทำงานขึ้นเวรเกินมาตรฐาน
“ท่านผู้ว่าฯ ได้สั่งให้หาข้อเท็จจริง และให้หยุดให้พยาบาลทำงานเกินมาตรฐาน เพราะจะส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเราไปดูข้อเท็จจริง ซึ่งไม่แน่ใจว่าเคสที่เป็นข่าว กับเคสที่เราไปหาข้อมูลจะเป็นข้อมูลเดียวกัน หรือแยกเป็น 2 เคส ซึ่งเราก็ไปหาข้อมูลในโซนตะวันออก เพราะประชากรมีจำนวนมากจริง แต่เราก็ยังไม่ได้รู้ว่าจริงหรือไม่ แต่เราก็ไปเทียบชื่อพยาบาลกับการทำงานจริงว่า เกินกี่ชั่วโมงอย่างไร ซึ่งส่วนหนึ่งยอมรับว่า ระบบของเราในการเตือนว่า พยาบาลทำงานเกินเวลาที่กำหนด ซึ่งระบบพวกนี้ในวชิรพยาบาลมีระบบนี้ รพ.กลางก็มี แต่บางแห่งก็ยังไม่ได้ครอบคลุม จึงต้องแก้ไขและทำให้ตรวจสอบได้” รศ.ดร.ทวิดา กล่าว และว่า แต่ตอนนี้ไม่ได้หมายความว่า เป็นรพ.ใดในสังกัดกทม. แต่ที่วันนี้มีตัวแทนพยาบาลจากรพ.กลางมาให้ข้อมูล ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นรพ.กลาง
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบมุมหนึ่งมาจากการบริหารจัดการด้วย เช่น อัตราพยาบาล อัตราคนทำงานในรพ.สังกัดกทม.ก็ตึงตัวมาก เรามีการจ้างพยาบาลเสริมทุก รพ. เป็นจำนวนมาก จึงไม่ปฏิเสธเรื่องอัตรากำลัง พยายามบรรจุเพิ่มในทุกรพ. ในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมนี้ แต่การบริหารจัดการในช่วงตึงตัว เช่น หากพยาบาลติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นพร้อมกันก็อาจเป็นไปได้ที่ต้องให้หยุดในเวลาเดียวกัน แต่การพูดแบบนี้ไม่ใช่ว่าเราปฏิเสธ และให้คนทำงานยาวนาน ตรงนี้เราต้องแก้ไข โดยจะมีการปรับระบบบริหารจัดการบุคลากรใหม่ทั้งหมดทุกรพ. เพื่อให้เห็นหน้าตักของทุกวอร์ดทุกตึกในรพ.
ใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา อย่าให้ขึ้นเวรเกินกำหนด
“เราต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยด้วย เช่น หากการเข้าเวร เมื่อพยาบาลเซ็นชื่อ ก็ต้องมีเลขนัมเบอร์พยาบาลว่า ขึ้นเวร แต่หากชั่วโมงชนกันหรือเกินมาตรฐาน ก็จะต้องเตือนทันที ซึ่งตรงนี้จะรีบแก้ไขโดยด่วน” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ ต้องมองว่าหากบางกรณีต้องอยู่เวรต่อเนื่อง หรือแผนบริหารจัดการไม่ดี การขอให้อยู่ หรือการบังคับให้อยู่ก็ไม่ควรเกิดขึ้น แม้เต็มใจอยู่ช่วยงานก็ไม่ควร เพราะการทำงานมากเกินไปย่อมส่งผลต่อการบริการ และกระทบต่อประชาชนได้
เมื่อถามว่าตรวจสอบแล้วพบกี่เคส รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เบื้องต้นไม่ทราบว่าจากที่ร้องเรียนคือจุดไหนอย่างไร แต่เราตรวจสอบของเราพบเคสหนึ่ง หากแยกก็จะเป็น 2 เคส ซึ่งเรามองว่าเรื่องนี้น่าจะมีอีก แต่ไม่ว่าอย่างไรต้องจัดการระบบ และไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ
สำหรับตำแหน่งว่างพยาบาลวิชาชีพและตำแหน่งอื่น ๆ อยู่ในระหว่างดำเนินการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครในหลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิตจากพยาบาลเกื้อการุณย์มหาวิทยาลัยนวมินทร์ 138 ราย อยู่ระหว่างรอประกาศผลสอบเพื่ออนุญาตใบวิชาชีพการพยาบาล ซึ่งเราน่าจะสามารถดึงบุคลากรบางส่วนจากตรงนี้ไปได้ ในขณะเดียวกันของสังกัดสำนักการแพทย์โดยตรงซึ่งได้ดำเนินการสัมภาษณ์แล้วจะบรรจุแต่งตั้งภายใน 1 สิงหาคมนี้ จะเร่งประสานว่าสามารถที่จะบรรจุแต่งตั้งเร็วกว่านั้นได้หรือไม่
อีกทั้งยังต้องดูเรื่องแผนการเกลี่ยอัตรากำลัง เนื่องจากครั้งหนึ่งมีการเปิดโรงพยาบาลใหม่จึงมีการเกลี่ยอัตรากำลังไป และหลังจากการเกลี่ยอัตรากำลังครั้งนั้นยังไม่ได้ทบทวนในจำนวนที่เพียงพอและรวดเร็ว นอกจากนี้ แม้ว่าเราจะถูกควบคุมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น แต่โรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการความยืดหยุ่นของเงินทุนของตัวเองในการจ้างพยาบาลห้วงเวลาเสริมได้ ฉะนั้นต้องยอมรับว่าเราบริหารจัดการได้ไม่รอบคอบพอ
“ต้องขออภัยน้องพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ที่ทำให้เกิดความเครียด หลังจากนี้จะมีการเร่งจัดการเรื่องอัตรากำลังโดยประสานไปยังสำนักงาน ก.ก. ในการเรียกบรรจุสำหรับบุคคลที่สอบแข่งขันได้และขึ้นบัญชีไว้ให้เร็วขึ้นหากสามารถทำได้” รองผู้ว่าฯ กล่าว
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า กรณีน้องพยาบาลมีภาระงาน และต้องทำงานต่อเนื่องนั้น เป็นประเด็นน่าเห็นใจในระบบงานของรพ. ซึ่งตอนนี้มีภาระงานจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม สำนักการแพทย์ให้ความสำคัญกับมาตรฐานในการดูแลประชาชน ซึ่งเรามีมาตรฐานทุกแห่ง โดยได้คุยกับผู้บริหารแต่ละรพ.ว่าต้องให้ความสำคัญของบุคลากร หากติดขัดตรงไหนให้ช่วยกันแก้ไข และเรื่องระบบก็จะมีการพัฒนาระบบการตรวจสอบ ติดตามอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น
รพ.สังกัดกทม.มีพยาบาล 2.3 พันคน จ่อเพิ่มอีก 5-10%
เมื่อถามว่าปัจจุบันพยาบาลในสังกัดกทม.มีจำนวนเท่าไหร่ นางเลิศลักษณ์ กล่าวว่า จำนวนพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์มี 2,300 คนใน 11 แห่งของทุกรพ. โดยโควต้าที่จะต้องเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 5-10% ซึ่งจริงๆ ตามนโยบายท่านผู้ว่าฯ ที่ต้องเน้นเรื่องการให้บริการในระดับปฐมภูมิ ก็จะลดความแออัดในรพ.ได้
นางสายฝน ภู่พิทยา หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลกลาง กล่าวว่า รูปแบบการบริหารอัตรากำลังของฝ่ายการพยาบาลทั้ง 11 โรงพยาบาลมีรูปแบบใกล้เคียง โดยปกติต้องไม่เกิน 16 ชั่วโมงใน 1 เวร หากเกินขึ้นมาก็จะเกลี่ยอัตรากำลังขึ้นมา อย่างบางตึกจะเกลี่ยมา ซึ่งก็มีเพียงพอ อย่างรพ.กลางเคยเกิดขึ้นเช่นกัน มีน้องพยาบาลติดโควิดทีเดียว 6 คนเราก็เกลี่ยอัตรากำลัง
- 1645 views