สภาการพยาบาล เปิดรายละเอียดข้อเสนอเชิงนโยบาย เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพยาบาลในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ ลดภาระงาน เพิ่มความก้าวหน้า ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

 

ปัจจุบันประเทศไทยมีพยาบาลวิชาชีพ ประมาณ 2.1 แสนคน ที่ปฏิบัติงานให้บริการสุขภาพ (Healthcare service) ทั้งภาครัฐทุกสังกัดและเอกชน ในจำนวนนี้ ทำงานในหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขประมาณร้อยละ 60  โรงพยาบาลเครือข่ายกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ (UHOS-Net) ประมาณร้อยละ 16 หน่วยบริการภาคเอกชนประมาณร้อยละ 14 และอีกประมาณร้อยละ 10 ทำงานในหน่วยบริการสังกัดภาครัฐอื่นๆ รวมทั้งท้องถิ่น ซึ่งหากเปรียบเทียบกับระดับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบน (Upper Middle Income Country) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แล้ว พบว่า
ในปี พ.ศ.2567 นี้ ประเทศไทยควรมีพยาบาลวิชาชีพต่อประชากรในอัตราส่วน 1:250 ประชากร หรือควรมีพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานให้บริการสุขภาพของประเทศอย่างน้อย 2.6 แสนคน

ปัญหาพยาบาลขาดแคลนเป็นเรื่อซับซ้อน สะสมยาวนาน

การขาดแคลนพยาบาลในระบบบริการสุขภาพ เป็นปัญหาที่ซับซ้อน และสะสมมายาวนาน ซึ่งไม่อาจแก้ไขได้ด้วยมาตรการหรือวิธีการแบบเดิมๆ หรือการแก้ปัญหาแบบแยกส่วน ระหว่างการเพิ่มการผลิต จัดการกระจายโดยบังคับใช้ทุน หรือการใช้มาตรการธำรงรักษาด้วยระเบียบบริหารงานบุคคลของราชการที่อาจไม่ยืดหยุ่นเพียงพอและไม่สอดคล้องกับบริบทของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการขยายตัวของตลาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรมสุขภาพ และการลงทุนของทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาโครงสร้างและยกระดับศักยภาพของบริการสุขภาพ โดยเฉพาะนโยบายกระทรวงสาธารณสุขที่มุ่งทำให้เกิดการกระจายและการยกระดับมาตรฐานการให้บริการให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย สะดวก ทั่งถึงและเป็นธรรม

ดังนั้น เพื่อรองรับการพัฒนาดังกล่าว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีนโยบายและยุทธศาสตร์กำลังคนทางการพยาบาล ที่ครอบคลุมแผนความต้องการกำลังคนในเชิงประเภทและปริมาณ การพัฒนาคุณภาพ/ศักยภาพ การธำรงรักษา และการใช้ประโยชน์จากกำลังคนที่มีอยู่ โดยคำนึงถึงบทบาทหรือโอกาสที่จะใช้ประโยชน์ในระบบบริการสุขภาพของประเทศ ที่จะพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้นในอนาคต และสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาไม่ให้ความขาดแคลนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสุขภาพของประชาชน

แม้ผลิตเพิ่ม แต่ยังพบปัญหาพยาบาลไหลออกนอกระบบต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แม้ว่าตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ลงทุนผลิตพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนพยาบาลต่อประชากรในภาพรวมของประเทศดีขึ้นเป็นลำดับ จากที่มีพยาบาล 1:2,600 ประชากรในปี พ.ศ.2522 เป็น 1:310 ประชากร ในปี พ.ศ. 2566 แต่ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเพิ่มของพยาบาลในระบบบริการสุขภาพ กลับเพิ่มขึ้นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากมีการสูญเสียพยาบาลออกจากระบบอย่างต่อเนื่อง ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลยังคงมีความรุนแรงมากในบางพื้นที่จากความเหลื่อมล้ำของการกระจายตัว ทั้งระหว่างหน่วยบริการในภาครัฐด้วยกัน ภาครัฐกับเอกชน ระหว่างพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และระหว่างหน่วยบริการที่มีระดับศักยภาพแตกต่างกัน จนส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพของประชาชน

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สภาการพยาบาล หารือสธ. เสนอแก้ปัญหา 'พยาบาลขาดแคลน' ถูกจุดเน้นคงอยู่ในระบบมากที่สุด)

สภาการพยาบาลเสนอมาตรการดำเนินการอย่างบูรณาการ

ในฐานะที่กระทรวงสาธารณสุขมีบทบาท เป็นทั้งผู้กำหนดนโยบายและกำกับทิศทาง (Regulator) และเป็นผู้ให้บริการสุขภาพ (Service provider) ที่มีหน่วยบริการและกำลังคนมากที่สุดในประเทศ จำเป็นอย่างยิ่ง
ที่จะต้องกำหนดนโยบายและมาตรการใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันผลกระทบต่อระบบสุขภาพ และความปลอดภัยของประชาชน ทั้งในบริบทของกระทรวงสาธารณสุข และภาพรวมของประเทศ สภาการพยาบาลจึงขอเสนอมาตรการสำคัญจำเป็นที่ควรดำเนินการอย่างบูรณาการ ในลักษณะ Bundle or mix policy tools ดังนี้

มาตรการระยะ  1-2 ปี 

ข้อเสนอมาตรการระยะสั้นในระยะ 1-2 ปี เร่งรัดการเติมกำลังคนเข้าสู่ระบบ

ด้วยการผลิตพยาบาลต้องใช้เวลานานถึง 4 ปี จึงจะมีพยาบาลจบการศึกษาใหม่ และเข้าสู่ระบบการทำงาน สภาการพยาบาล จึงเห็นว่า เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมาย Active aging ในสังคมประชากรสูงวัย และเป็นอีกแนวทางหนึ่งในระยะสั้นที่จะบรรเทาความรุนแรงของการขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพที่ให้บริการสุขภาพโดยตรง
จึงเสนอมาตรการเพื่อเพิ่มกำลังคนพยาบาลในระบบ ดังนี้

1.พัฒนาตำแหน่งงานที่มีคุณค่า (Decent job) และระบบการจ้างงานพยาบาลอาวุโสที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ ร่วมกับการฝึกอบรมเพื่อให้มีทักษะใหม่ (Re-skill) หรือเพิ่มทักษะที่จำเป็น (Up-skill) ให้พร้อมที่จะทำงานในตำแหน่งดังกล่าว เช่น ตำแหน่งผู้จัดการคุณภาพโรงพยาบาล ผู้ประสานคุณภาพ ผู้จัดการผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (Case manager) พยาบาลผู้บริหารทรัพยากรในระบบประกันสุขภาพ (Utilization management Nurse) เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะได้กำลังคนเพิ่มในระยะสั้นแล้ว ยังช่วยลดภาระงานของพยาบาลที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโดยตรงอีกด้วย

2.ส่งเสริมระบบการจ้างงานแบบบางเวลา (Part time employment) ในภาครัฐ ที่มีประสิทธิภาพและจูงใจพยาบาลวิชาชีพที่ออกจากงานไปแล้วสามารถเลือกเวลาที่จะกลับเข้ามาทำงานได้  โดยมีกระบวนการประกันคุณภาพและกำกับวิชาชีพอย่างเป็นระบบ

มาตรการระยะ 1-5 ปี

ข้อเสนอมาตรการที่ควรดำเนินการในระยะ 1-5 ปี  

  1. ผลักดันการผลิตพยาบาลเพื่อเพิ่มศักยภาพบริการสุขภาพของประเทศ

1.1 ดำเนินการวางแผนกำลังคนทางการพยาบาลในภาพรวมของประเทศ โดยคำนึงถึงพลวัตตลาดแรงงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อรองรับนโยบายและทิศทางการพัฒนาของประเทศ รวมทั้งการบูรณาการแผนการผลิตโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ใช้และผู้ผลิต (Demand side & Supply side) ซึ่งปัจจุบันสภาการพยาบาลเป็นกลไกประสานและขับเคลื่อนแผนการผลิตกำลังคนทางการพยาบาลของประเทศให้สอดคล้องกับศักยภาพการผลิตของแต่ละสถาบันการศึกษา

1.2 เร่งรัดจัดทำแผนพัฒนาศักยภาพการผลิตกำลังคนทางการพยาบาลในภาพรวมของประเทศ ทั้งแผนพัฒนาอาจารย์พยาบาลในระยะ 10 ปี แผนการสรรหาและการธำรงรักษา และสร้างแรงจูงใจในการเพิ่มอาจารย์ใหม่ โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมทั้งสถาบันการศึกษาพยาบาล

1.3 ส่งเสริมและผลักดันการพัฒนานวตกรรมเพื่อการผลิตพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

  1. เพิ่มประสิทธิภาพการกระจาย การใช้ประโยชน์ และการธำรงรักษากำลังคนไว้ในระบบบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข

            เนื่องจากประเด็นการกระจาย การใช้ประโยชน์และการธำรงรักษา เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาความขาดแคลนพยาบาลในหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น จึงขอเสนอมาตรการแก้ปัญหาที่กระทรวงสาธารณสุขควรดำเนินการ ดังนี้

2.1บริหารจัดการประสิทธิภาพการเคลื่อนย้ายหรือหมุนเวียนงาน (Job rotation) ของพยาบาลให้เป็นไปในทิศทางการส่งเสริมความก้าวหน้าของบุคลากร พร้อมๆ กับการเติบโตขององค์กร และสร้างความสมดุลในการกระจายและการใช้ประโยชน์กำลังคน (Managed distribution and utilization)

2.2เพิ่มแรงจูงใจพยาบาลวิชาชีพ ที่ให้บริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิ ซึ่งเป็นบริการหลักด่านแรกที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน ที่จะแก้ปัญหาลดความแออัดเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน ให้ได้รับความก้าวหน้า ค่าตอบแทน และโอกาสการพัฒนาตนเอง ทัดเทียมกับพยาบาลที่ทำงานในโรงพยาบาลทุติยภูมิ ตติยภูมิ

2.3 จัดระบบเพิ่มพูนทักษะพยาบาลจบใหม่ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะวิชาชีพ และประสบการณ์ก่อนออกไปทำงานในหน่วยงานต้นสังกัดที่ให้ทุนการศึกษา โดยมอบหมายให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปเป็นหน่วยฝึกเพิ่มพูนทักษะ และสภาการพยาบาลวางแนวทางการเพิ่มพูนทักษะ และสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมสำหรับพยาบาลวิชาชีพ ทั้งที่เป็นผู้สอนระหว่างเพิ่มพูนทักษะและผู้ผ่านการเพิ่มพูนทักษะ (เช่นเดียวกับโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ)

2.4สนับสนุนการเชิดชูเกียรติพยาบาลวิชาชีพ (Recognition initiatives) ซึ่งทำหน้าที่ครูพี่เลี้ยง หรืออาจารย์ร่วมผลิต เช่น การให้ตำแหน่งทางวิชาการในฐานะอาจารย์ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์/รองศาสตราจารย์) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเพิ่มการผลิตพยาบาลให้สอดคล้องกับความต้องการของระบบบริการสุขภาพ และประชาชนในแต่ละพื้นที่

ลดภาระงานที่ไม่จำเป็นของพยาบาล

2.5สนับสนุนการบริหารจัดการของหน่วยบริการในการลดภาระงานที่ไม่จำเป็นของพยาบาล ส่งเสริมการขยายบทบาทการทำงานของบุคลากรวิชาชีพสาขาอื่นๆ ในการทำงานร่วมกันเป็นทีม

2.6ส่งเสริมการพัฒนานวตกรรมด้านการบริหารงานบุคคล เช่น Mid-Career recruitment strategy เพื่อให้หน่วยบริการได้ใช้ประโยชน์จากบุคลากรจากหน่วยบริการอื่นต่างสังกัด ซึ่งมีทักษะ ความรู้ความเชี่ยวชาญสูง  มีความพร้อมปฎิบัติงานได้ทันทีไม่ต้องรอการส่งเรียนหรือฝึกอบรมเพิ่มเติม เช่น การเตรียมตำแหน่งข้าราชการรองรับการโอน ย้าย หรือบรรจุเข้ารับราชการใหม่ ของพยาบาลวิชาชีพผู้มีความรู้ ความชำนาญสูง ในระดับชำนาญการ/ชำนาญการพิเศษ โดยไม่ต้องเริ่มทำงานในระดับปฏิบัติการ

สร้างแรงจูงใจในวิชาชีพให้คงอยู่ในระบบ

** 2.7 สร้างแรงจูงใจและความผูกพันองค์กร  แบ่งได้ดังนี้

1.เร่งรัดมาตรการสร้างความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากร ส่งเสริมการนำแนวคิด Human Factor Engineering มาใช้ในการออกแบบกระบวนการทำงานเพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย บุคลากรปลอดภัย

2.สนับสนุนความก้าวหน้าในการทำงานอย่างเป็นธรรม เช่น ปรับปรุง กำหนดหลักเกณฑ์และส่งเสริมให้พยาบาลวิชาชีพสามารถเลื่อนไหลขึ้นสู่ตำแหน่งระดับที่สูงขึ้น ตามความรู้ความสามารถและบทบาทความรับผิดชอบ

3.ปรับปรุงค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ ให้สามารถสร้างแรงจูงใจในการคงอยู่และทุ่มเททำงานที่มีคุณภาพ

4.สนับสนุนการศึกษาต่อเนื่องหลังปริญญา ที่สอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงาน ง่ายต่อการเข้าถึงการเรียนจากพื้นที่ทำงานหรือการใช้ชีวิตระหว่างการเรียนกับการทำงาน

5.ส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายวิชาชีพในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติในโอกาสต่างๆ

สภาการพยาบาล พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขในการขับเคลื่อนและผลักดันมาตรการดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสุขภาพอนามัยของประชาชนและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ภาพจากสภาการพยาบาล