สภาการพยาบาล หนุนนโยบายยกระดับบัตรทอง การบริการเพื่อประชาชน แต่ห่วงบุคลากรไม่เพียงพอ เสนอบอร์ดสุขภาพแห่งชาติให้น้ำหนักเพิ่มกำลังคนของผู้ประกอบวิชาชีพ ขณะที่แพทยสภาห่วงระบบดิจิทัลเชื่อมข้อมูลยังไม่เป็นเนื้อเดียว ส่วนก.ดิจิทัล เสนอโคราช นำร่องเพิ่มอีก 4 จ.เชื่อมบัตรปชช.ใบเดียวทุกสังกัด ด้าน “หมอเลี้ยบ” เล็งขยายจังหวัดเพิ่มในเฟส 2

 

ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการฯ  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  และนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ในฐานะเลขาฯคณะกรรมการฯ รวมถึงกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมประชุม และเห็นชอบแต่งตั้ง “น.ส.แพทองธาร” นั่งคณะกรรมการบริหารขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุข 5 ประเด็นยกระดับบัตรทอง พร้อมเพิ่มสัดส่วนกรรมการจาก 2 สภาวิชาชีพ(สภาการสาธารณสุขชุมชน และสภาการแพทย์แผนไทย) 

(ข่าว :นายกฯ ตั้ง “อุ๊งอิ๊ง” นั่งประธานบริหารขับเคลื่อน 5 นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมเห็นชอบ 5 นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคทำให้ได้ 100 วัน คือ 1.บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ 2.มะเร็งครบวงจร 3.สถานชีวาภิบาล 4.การบริการเขตเมือง กทม.และเชียงใหม่ และ5.ยาเสพติดและการดูแลสุขภาพจิต ภายในการประชุม กรรมการภาคส่วนต่างๆ ได้มีการเสนอความคิดเห็นในการประชุมครั้งนี้

ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา กล่าวว่า สำหรับนโยบายยกระดับโครงการ 30 บาทรักษาได้ทุกที่ จะต้องคำนึงถึงสถานพยาบาล เพราะหากเริ่มในโรงพยาบาล (รพ.) สังกัดกระทรวงสาธารณสุขก่อน ก็มีความเป็นไปได้ เพราะใช้ระบบ ‘หมอพร้อม’ แต่ด้วยสัดส่วน รพ. นั้น พบว่าอยู่ในสังกัดของ สธ. เพียง 70% ที่เหลือ 30% จะอยู่ในสังกัดของกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และ รพ.ภาคเอกชน ซึ่งจะใช้อีกระบบหนึ่งในการดูแลข้อมูลสุขภาพประชาชน ขณะเดียวกันการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก  ที่ผ่านมาตนรณรงค์เรื่องบุหรี่ตั้งแต่ปี 2547 ในการทำงานของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีความพยายามเชื่อมข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค เพราะข้อมูลทั้งหมดกรมฯจะเป็นส่วนเสนอให้กับทางองค์การอนามัยโลก แต่ข้อมูลเหล่านี้เชื่อมต่อกันยากมาก ซึ่งเข้าใจดี เพราะกังวลเรื่องข้อมูลคนไข้ มีประเด็นความปลอดภัยทางไซเบอร์

“สิ่งสำคัญต้องให้มีการเชื่อมข้อมูลทั้งหมดให้ได้ทุกสังกัด ยิ่งการขับเคลื่อนเรื่องบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ จะทำได้ยากขึ้น แต่ในรัฐบาลชุดที่แล้วได้มีการอนุมัติงบประมาณในการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวแล้ว จึงขอสอบถามถึงงบฯ ส่วนนี้ว่าจะนำไปดำเนินการอย่างไรบ้าง” นายกแพทยสภา กล่าว

ก.ดิจิทัลเสนอโคราชพร้อมควิกวิน 100 วันบัตรปชช.ใบเดียว

ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  กล่าวถึงกรณีบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ใน 4 จ.นำร่อง มีแพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ที่เข้าบริการได้ในรพ.ทุกสังกัด ว่า ตนเห็นว่าในพื้นที่ภาคอีสาน อย่างจ.นครราชสีมา มีความพร้อม มีการเตรียมข้อมูลแล้ว ซึ่งสามารถดำเนินการได้ภายใน 100 วัน

"หมอเลี้ยบ" เล็งขยายจังหวัดอื่นใช้บัตรปชช.ใบเดียว ระยะสอง

ด้าน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับข้อคำถามจากท่านนายกแพทยสภา ตนจึงอยากเรียนว่าเป็นสาเหตุที่ต้องมีการนำร่องนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ใน 4 จังหวัดก่อน เพื่อทำให้ระบบต่าง ๆ ที่อยู่ในและอยู่นอกสังกัด สธ. ได้เชื่อมต่อกันก่อน โดยจะมีการถอดบทเรียนจาก รพ.มหาวิทยาลัย ในจ.นราธิวาส เพื่อเรียนรู้ว่าเราจะเชื่อมต่อกันอย่างไร เพื่อให้ 2 ระบบนี้เป็นเนื้อเดียวกัน และสามารถเชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ นพ.สุรพงษ์  ยังตอบประเด็นจังหวัดที่พร้อมใช้บัตรประชาชนใบเดียวฯ ว่า จริงๆ เรื่องความพร้อมพิจารณาว่าต้องพร้อม 100% ซึ่งจ.นครราชสีมา ได้มีการเล็งไว้เช่นกัน แต่เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อระบบ ทำให้เกรงว่าช่วงแรกอาจขลุกขลักได้ แต่เรียนว่าจะมีการขยายเพิ่มเติมจาก 4 จังหวัดให้เร็วที่สุด อย่างนครราชสีมา เมื่อพร้อมก็จะเริ่มในระยะที่สองทันที

 

สภาการพยาบาลหนุนบอร์ดฯ ให้น้ำหนักกำลังคน

รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล กล่าวสนับสนุนนโยบายยกระดับบัตรทอง ว่า พร้อมสนับสนุนนโยบาย แต่เป็นห่วงในเรื่องกำลังคนของผู้ประกอบวิชาชีพ อยากให้น้ำหนักเรื่องนี้  เพราะตอนนี้จะเห็นว่ามีการนำเสนอการบริการยกระดับต่างๆ แต่ขอฝากประเด็นเรื่องการลงทุนด้านสุขภาพ ด้านกำลังคน