สธ.หารือปรับค่าตอบแทนทุกวิชาชีพสัปดาห์นี้ ส่วนการแก้ปัญหาชั่วโมงการทำงานอยู่ระหว่างดำเนินการ ล่าสุดมีการเผยแพร่ข้อมูลพยาบาลทำงานเฉลี่ย 60.28 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ สวนทางสภาการพยาบาลชี้ไม่ควรเกิน 40 ชม. ต่อสัปดาห์ หรือ ไม่เกิน 12 ชม.ต่อวัน ขณะที่สธ.เร่งรัดจ้างงานพยาบาล พบมีการบรรจุเป็นข้าราชการ 21,582 อัตรา ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา แต่ยังขาดกรอบอัตรากำลังในปี 2565-2569 จำนวน 62,531 อัตรา
เมื่อวันที่ 22 พ.ย.65 ผู้สื่อข่าว Hfocus รายงานว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาปรับค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกวิชาชีพ ซึ่งจะมีการพิจารณาตามความเป็นจริง ทั้งอัตราเงินเฟ้อ การสอดคล้องของภาระงาน ชั่วโมงการทำงาน เป็นต้น ซึ่งในส่วนของแนทางการลดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรนั้น ก็อยู่ระหว่างการดำเนินการว่า จะมีการลดหรือปรับอย่างไรต่อไป
ล่าสุดมีการเผยแพร่ข้อมูลของกองการพยาบาล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการดำเนินการแก้ปัญหาชั่วโมงการทำงานของพยาบาล พ.ศ.2560 เปรียบเทียบชั่วโมงการทำงานตามประกาศของสภาการพยาบาล และชั่วโมงการทำงานจริงของพยาบาล ดังนี้
1. ชั่วโมงการทำงานตามประกาศสภาการพยาบาล กำหนด 40 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ แต่เมื่อเปรียบเทียบชั่วโมงการทำงานจริงจะเฉลี่ย 60.28 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์
2. ไม่ควรเกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน กรณีจำเป็นไม่ควรติดต่อกันนานเกิน 3 วันต่อสัปดาห์ และการทำงานล่วงเวลาเป็นไปด้วยความสมัครใจ ขณะที่ชั่วโมงการทำงานจริงนั้น มีพยาบาลร้อยละ 25.20 ทำงานเกิน 12 ชม.ต่อวัน ติดต่อกันเกิน 3 วันต่อสัปดาห์ จัดไว้ในตารางเวรล่วงหน้าแบบบังคับ
3.หากจำเป็นต้องทำงานเกินชั่วโมง ต้องจัดหี้เวลาพักระหว่างปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม แต่ชั่วโมงการทำงานจริงพบว่า อัตรากำลังผลัดเปลี่ยนในแต่ละเวรไม่เพียงพอ ระยะการพักสั้น และไม่เหมาะสม จากสภาพแวดล้อมของห้องพัก
4.สภาการพยาบาลระบุว่า ต้องมีความสมดุลชีวิตการทำงานและสุขภาพ แต่ในความเป็นจริงไม่สมดุล วันหยุดน้อย ระยะพักระหว่างเวรน้อย และอัตราการเจ็บป่วย เครียดจากการทำงานมีแนวโน้มสูงขึ้น เกิดความเหนื่อยล้า อุบัติเการณ์ และข้อร้องเรียน มีความเครียดเพิ่มขึ้น และมีความต้องการลาออกจากงาน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าการขับเคลื่อนการดำเนินงานแก้ปัญหาชั่วโมงการทำงานของพยาบาล พบว่า กระทรวงฯมีการเร่งรัดการจ้างงานสายงานพยาบาลวิชาชีพในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ผลการดำเนินงานในปี 2565 การบรรจุข้าราชการสายงานพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 21,582 อัตรา ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา แต่ยังขาดกรอบอัตรากำลังในปี 2565-2569 จำนวน 62,531 อัตรา
ส่วนการกำหนดกรอบอัตรากำลังผู้ช่วยพยาบาล มีการจัดจ้างผู้ช่วยพยาบาลในรพ.ระดับ A-M1 ปัจจุบัน 4,666 อัตรา ยังขาดอยู่จำนวน 18,943 อัตรา ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกองการพยาบาล กำหนดนโยบายและทำข้อตกลงความร่วมมือกับองค์กรพยาบาลของโรงพยาบาลระดับ A -M1 และโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานคร ในการบริหารอัตรากำลังพยาบาลตามเกณฑ์ และเร่งรัดสนับสนุน กำกับติดตามการประกันคุณภาพการพยาบาล โดยประเมินคุณภาพการพยาบาลในโรงพยาบาลทุกแห่ง สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ องค์กรพยาบาลผ่านเกณฑ์การประเมินคุณภาพการพยาบาลร้อยละ 85.48 จากรพ.จำนวน 792 แห่ง
อนึ่ง โรงพยาบาลระดับ A คือ โรงพยาบาลศูนย์ , โรงพยาบาลระดับ S คือ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลระดับ M1 คือ โรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้จะมีการพิจารณาเรื่องค่าตอบแทนในแต่ละวิชาชีพ ซึ่งก็ต้องพิจารณาว่า จะสามารถปรับเพิ่มเติมอย่างไรได้บ้าง แต่ไม่ได้เฉพาะวิชาชีพพยาบาลเท่านั้น เนื่องจากท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. กำชับเรื่องนี้ให้พิจารณาทุกวิชาชีพอย่างละเอียดรอบคอบ อย่างไรก็ตาม หากได้ผลอย่างไรจะมีการเปิดเผยข้อมูลต่อไป
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
- “อนุทิน” หารือปลัดสธ.สั่งปรับค่าตอบแทนบุคลากรทุกวิชาชีพ ลั่น! ตั้งใจดูแลเต็มที่ ไม่ใช่เฉพาะพยาบาล
- สธ.แก้ปัญหาชั่วโมงการทำงาน “หมอ-พยาบาล” เผยโรดแมปแผน 3 ระยะ เบื้องต้นมอบผู้ตรวจราชการฯดำเนินการ
- สภาการพยาบาล ชง สธ. ปรับค่าตอบแทนวิชาชีพ 240 บาทต่อเวร หลังใช้นานกว่า 10 ปี
- Nurses Connect เผยข่าวดี สธ.ขับเคลื่อนปรับค่าตอบแทน ชงเพิ่ม “ค่าโอที 1 พัน -เวรบ่ายดึก 500 บาท”
- ปลัดสธ. ร่วม 64 ชมรม สมาคม วิชาชีพต่างๆ แถลงการณ์ 7 ข้อ แก้ปัญหาบุคลากรสาธารณสุข
- 2758 views