สธ.เฝ้าระวังผู้ป่วยโควิดอาการหนักและเสียชีวิต ส่วนตัวเลขเพิ่มแต่ไม่รุนแรงในคนไข้ทั่วไป ย้ำ! ขอกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ โรคเรื้อรังฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เผยครั้งนี้ติดเชื้อมากในกลุ่มไม่เคยติด แต่อาการไม่รุนแรง ขณะที่เตียงรองรับยังเพียงพอ

 

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีโรคโควิด 19 ว่า หลังจากที่ประเทศไทยประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 และองค์การอนามัยโลกยกเลิกภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ แต่ไม่ได้แปลว่าโรคโควิด 19 จะหมดไปจากโลกนี้ แต่ความรุนแรงลดระดับลง การแพร่ระบาดไม่ได้รุนแรงแบบทั่วโลก จึงปรับมาตรการให้สอดคล้องกัน  

 

โควิดพบหนักในกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ-โรคประจำตัว

 

"ข้อมูลที่เราสนใจ คือ ผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต ก็ยังเป็นไปตามคาดการณ์ว่าหลังสงกรานต์จะมีผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามี 42 ราย ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่มี 60 กว่าราย ดูแนวโน้มอัตราเริ่มลดน้อยลง ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตเป็นกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ จากการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยา พบว่า คนอายุ 60 ปีขึ้นไปเมื่อป่วยมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า และอายุ 70 ปีขึ้นโอกาสเสียชีวิตมากกว่า 4 เท่า ปัจจัยสำคัญที่เสียชีวิตคือ เกือบทั้งหมดไม่ได้ฉีดวัคซีนตามคำแนะนำของ สธ. บางคนไม่ฉีดเลยสักเข็ม จากการกลัวผลข้างเคียง" นพ.โอภาสกล่าว

ย้ำ! วัคซีนโควิดมีประโยชน์ลดป่วยหนัก-เสียชีวิต

นพ.โอภาสกล่าวว่า วัคซีนมีประโยชน์ช่วยลดการป่วยและเสียชีวิต ขอให้ลูกหลานพาผู้สูงอายุในบ้านไปฉีดวัคซีน แต่บางครั้งพบว่าลูกหลานคือคนที่กลัวผลข้างเคียง จึงขอย้ำว่าให้ฉีดวัคซีนประจำปี ซึ่งรณรงค์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะคนที่ยังไม่ได้เคยฉีดเลยก็ไปฉีดได้ นอกจากนี้ คนที่ติดเชื้อและเสียชีวิตพบว่า มักติดเชื้อจากคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งไม่ได้ออกไปไหน แต่ลูกหลานที่มีกิจกรรมนอกบ้าน เมื่อติดเชื้อทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการก็เอามาติด ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงเป็นมาตรการเร่งด่วนสำหรับผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 ที่ยังไม่ฉีดเลยสักเข็ม ส่วนผู้ที่มีผู้สูงอายุในบ้าน หากตนเองมีอาการทางเดินหายใจไม่ควรเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดผู้สูงอาย หรือใส่หน้ากากอนามัย จะช่วยลดความเสี่ยงผู้สูงอายุได้

สายพันธุ์โควิดเฝ้าระวัง XBB.1.16  แนวโน้มเพิ่มขึ้นในไทย

สำหรับสายพันธุ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องและจับตา คือ XBB.1.16 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประเทศไทย แต่ความสามารถในการแพร่ระบาดไม่ได้สูงกว่าสายพันธุ์อื่นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งความรุนแรงไม่ได้รุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิม แม้มีข่าวว่า รพ.บางแห่งบอกว่า ER โควิดเต็ม เตียงโควิดเต็ม อาจเป็นบาง รพ.ที่เต็ม เพราะลดระดับเตียงโควิดลง แต่ภาพรวมทั้งประเทศและ กทม. เตียงที่สำรองไว้สำหรับผู้ป่วยโควิด อัตราใช้เตียงอยู่ที่ 22% ย้ำว่าเตียง บุคลากร ยามีความพร้อม อีกประเด็น คือ การติดเชื้อมีบางสถานที่ที่มีความเสี่ยง เช่น เรือนจำ เพราะมีคนอยู่แออัด และมีการเข้าออกสม่ำเสมอ แม้จะมีมาตรการกักตัว ก็ขอให้คงมาตการไว้ และจะประสานกับทางเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ ในการฉีดวัคซีนผู้ต้องขังผู้ต้องกักในเรือนจำต่างๆ

โควิดระบาดมากในกทม.และปริมณฑล

นพ.โอภาสกล่าวว่า การระบาดในเขต กทม.และปริมณฑลพบว่า มากกว่าเขตอื่นของประเทศไทย แม้ตัวเลขห่างไกลจากการระบาดมากๆ ช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่ต้องให้ความสนใจ คือ ผู้ป่วยอาการหนัก ขอให้กรมควบคุมโรคในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ทำหนังสือประสานประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม./จังหวัด ทุกจังหวัด โดยเฉพาะเขตปริมณฑล ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด บูรณาการใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดดำเนินการประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กทม.

ขอความร่วมมือ กทม.สำรวจผู้สูงอายุมีจำนวนเท่าไหร่ไม่ฉีดวัคซีน

“เราไม่มี รพ.ของสำนักงานปลัด สธ. และ กทม.มี รพ.หลากหลายรวมทั้งเอกชน จึงเป็นหน้าที่ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.ต้องช่วยดูแลจุดนี้ ซึ่ง สธ.ยินดีสนับสนุนเวชภัณฑ์ ข้อมูลต่างๆ ที่จะประสานเกี่ยวข้องกัน รวมทั้งขอให้สำรวจว่ามีผู้สูงอายุจำนวนเท่าไร ไม่ได้ฉีดวัคซีนเท่าไรแม้แต่เข็มเดียวขอให้เร่งรัดฉีดวัคซีน โดยกรมควบคุมโรคจะประสานจัดส่งวัคซีน ให้เร่งรัดการฉีดวัคซีนประจำปี ประสานบูรณาการส่งต่อผู้ป่วย รพ.ไหนผู้ป่วยเต็ม ก็เป็นหน้าที่แต่ละจังหวัดบูรณาการส่งต่อผู้ป่วยไปยัง รพ.ที่ไม่เต็ม” ปลัดสธ.กล่าว

เมื่อถามถึงอาการของการติดเชื้อในขณะนี้แตกต่างจากเดิมหรือไม่ ส่วนใหญ่เป็นการติดซ้ำหรือไม่  นพ.โอภาสกล่าวว่า อาการไม่แตกต่าง ยังคงเหมือนเดิม แต่คนอาการหนักเสียชีวิต คืออาการปอดบวม และระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก บางคนมีโรคแทรกซ้อน คือ โควิดหายแล้ว แต่โรคแทรกซ้อนอาจถูกกระตุ้นให้รุนแรงขึ้น ที่พบบ่อยคือ โรคไตวายเรื้อรัง ขอให้ใส่ใจระมัดระวังกลุ่มเหล่านี้ด้วย ส่วนระยะหลังมีทั้งติดครั้งแรกและติดซ้ำ

ติดโควิดครั้งนี้เก็บตกคนไม่เคยติดเชื้อ แต่อาการไม่รุนแรง

ข้อสังเกต คือ คนยังไม่เคยติดเชื้อถือเป็นกลุ่มเสี่ยงอีกกลุ่มหนึ่ง หลังๆ พบคนไม่เคยติดเชื้อก็ติดเชื้อครั้งนี้ครั้งแรกจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนจึงไม่ค่อยมีอาการ จากการสำรวจที่ผ่านมาคนไทย 90% มีภูมิต่อโรคโควิดแล้ว ทั้งจากการติดเชื้อธรรมชาติหรือการฉีดวัคซีน คนติดครั้งที่สองพบเพิ่มขึ้น แต่อาการน้อยถึงไม่มีอาการ บางครั้งติดเชื้อครั้งที่สามแต่ก็ยังน้อยอยู่

สถานการณ์เตียงรองรับโควิดยังเพียงพอ

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์เตียงผู้ป่วยโควิด 19 ว่า สถานการณ์การใช้เตียงของประเทศไทยทั้ง 13 เขตสุขภาพ เรามีเตียงทั้งหมด 11,513 เตียง มีการใช้เตียง 2,524 เตียง  คิดเป็น 21.92% สำหรับจำนวนผู้ป่วยอาการหนักหรือปอดอักเสบมีนอนรักษา 417 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 293 ราย ซึ่งถือว่าสถานการณ์ยังน้อยกว่าช่วง ม.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผู้ที่ติดเชื้อมีจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ผู้ป่วยที่มา รพ.ส่วนใหญ่อาการน้อย แต่ที่มา รพ.เพราะมีโรคร่วมและเกิดความกังวล ซึ่งการใช้เตียงส่วนหนึ่งเกิดจากกลุ่มที่มีโรคร่วมอื่น เช่น เบาหวาน ความดัน ที่ต้องนอน รพ. แต่เมื่อตรวจก็พบว่าเจอโควิด ทำให้เกิดการใช้เตียงในกลุ่มที่ไม่มีอาการอยู่ที่ 9.5% กลุ่มที่มีอาการน้อยใช้เตียง 27.6% อาการปานกลางใช้เตียง 45.91% กลุ่มอาการรุนแรงใช้เตียง 17.1% และกลุ่มที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ใช้เตียงอยู่ที่ 12% จะเห็นว่าไม่ได้เยอะมาก คนนอน รพ.ส่วนใหญ่ ก็เป็นกลุ่มอาการปานกลาง

 

นพ.ณัฐพงศ์กล่าวว่า ส่วนกรณีบาง รพ.ออกมาบอกว่าเตียงเต็ม เท่าที่มีการหารือในช่วง 3 วันมานี้ทั้งเตียงระดับประเทศและ กทม. เมื่อมีการพูดคุยจริงๆ กับทุกฝ่ายก็พบว่า เขามีเตียงโควิดที่เคยมีอยู่เดิม แต่เอาคนไข้ติดเชื้ออย่างอื่น เช่น วัณโรค คนไข้ติดเชื้อโรคร่วมเข้าไปอยู่ในเตียงแล้ว ถึงวันนี้พอมีเคสโควิดเพิ่มขึ้นจึงปรับตัวไม่ทัน จึงบอกว่าเตียงเต็ม อย่างที่หารือในกลุ่ม UHosNet ก็บอกว่าแม้คนไข้จะตึงมากขึ้น แต่ก็ยังรับมือได้ โดยช่วงนี้จะพยายามปรับคนไข้ที่ไม่ใช่โควิดกลับไปอยู่วอร์ด เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับคนไข้โควิดเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดสามารถบริหารจัดการกันได้ เพราะมีประสบการณ์บริหารจัดการเตียงขยายเตียงในช่วงที่มีการระบาดหนักกันมาแล้ว เพียงแต่อย่างที่บอกว่า เตียงที่มีอยู่ได้เอาไปให้โรคอื่นเข้าใช้ การจะรับผู้ป่วยโควิดจึงไม่สามารถรับได้ในทันทีก้ต้องทยอยเคลียร์

การจ่ายยาแบ่งตามอาการ 4 กลุ่ม

"สำหรับอาการของผู้ป่วยโควิดที่มาช่วงนี้ยังเหมือนเดิม การจ่ายยาแบ่งตามอาการ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มไม่มีอาการ ก็ไม่ให้ยาหรือรักษาตามอาการ , อาการเล็กน้อยไม่เสี่ยงไม่ให้ยาก็ได้ , อาการเล็กน้อยมีความเสี่ยงก็ให้ฟาวิพิราเวียร์หรือโมลนูพิราเวียร์ แต่จะไม่ค่อยให้ยาแพกซ์โลวิด เนื่องจากมีปฏิกิริยากับยาที่กินอยู่จึงให้ยาก ส่วนอาการปานกลางมี 2 ตัวแนะนำ คือ หากนอน รพ.ก็ฉีดเรมดิซีเวียร์ หากไม่นอน รพ.ก็ให้แพกซ์โลวิดได้ และกลุ่มใส่ท่อช่วยหายใจอาการรุนแรง เข้า รพ.ก็ต้องฉีดเรมดิซิเวียร์" นพ.ณัฐพงศ์กล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : โควิด19 แม้มีอาการเล็กน้อยตรวจ ATK ไม่ขึ้น 2 ขีด ต้องรีบกินฟ้าทะลายโจร รักษาเร็วลดภาวะลองโควิด)

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org