รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย อบจ. 12 จังหวัด เตรียมส่งมอบภารกิจทั้งหมดวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ที่เหลือพร้อมบริหารในปีนี้ 16 จังหวัด และยังไม่พร้อม 5 จังหวัด มอบ สสจ.ช่วยดูแลไม่ให้กระทบการบริการ ส่วนจังหวัดที่ยังไม่ตอบจะติดตามสอบถามอีกครั้ง หากไม่ตอบรับจะถือว่ามีความพร้อมทั้งหมด เตรียมส่งหนังสือถึง สตง. สอบถามความชัดเจนกรณีจัดหายา วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ สนับสนุนหน่วยงานที่ถ่ายโอนแล้ว ป้องกันการทำผิดระเบียบราชการ
 
วันที่ 12 พ.ค. 2566 นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มาตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2565 จนครบ 3,263 แห่ง ใน 49 จังหวัด หลังการถ่ายโอนได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ติดตามการจัดบริการของ สอน./รพ.สต. พบว่ายังดำเนินภารกิจด้านการบริการได้ไม่เต็มที่ จึงให้ สสจ.ช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบในการจัดบริการประชาชนต่อไปอีก 6 เดือน จนถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก่อนจะมอบให้ อบจ.บริหารจัดการเบ็ดเสร็จทั้งหมด พร้อมทั้งให้ สสจ.สำรวจความพร้อมของ อบจ. ในการรับบริหารจัดการภารกิจ โดยยังเฝ้าระวังผลกระทบกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรวบรวมเสนอต่อคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป 

นพ.พงศ์เกษม กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 สำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ ได้รวบรวมผลการสำรวจและยืนยันการเตรียมพร้อมบริหารจัดการ สอน./รพ.สต. ของ อบจ. ทั้ง 49 จังหวัด ซึ่งมีการตอบแบบสำรวจมา 33 จังหวัด พบว่ามีความพร้อมทันทีหลังการถ่ายโอน วันที่ 2 ตุลาคม 2565 จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี และมีความพร้อมในวันที่ 1 เมษายน 2566 (หลังการถ่ายโอน 6 เดือน) จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ปราจีนบุรี ชัยภูมิ และยโสธร รวมมีความพร้อมทั้งหมด 12 จังหวัด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะมอบให้ อบจ. บริหารจัดการภารกิจทั้งหมด ในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 โดยยังคงให้ สสจ.ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบต่อประชาชน เพื่อให้การช่วยเหลือหากเกิดปัญหาทันที 

ส่วนที่เหลือ เป็น อบจ.ที่จะเตรียมความพร้อมแล้วเสร็จภายในปี 2566 จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี (เดือนมิถุนายน) แพร่ นนทบุรี กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู ชุมพร นครปฐม น่าน ราชบุรี มุกดาหาร (เดือนกันยายน) ตาก ระยอง นครราชสีมา สงขลา (เดือนตุลาคม) และ มหาสารคาม (เดือนธันวาคม) และ อบจ.ที่ยังไม่มีความพร้อม 5 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน สุโขทัย ปทุมธานี นครพนม และพัทลุง ซึ่งจะมอบให้ สสจ.ช่วยประคับประคองการให้บริการต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชน พร้อมกับให้วางแนวทางดำเนินการเพื่อให้มีความพร้อมในการจัดบริการ ขณะเดียวกัน จะมีการสอบถามสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กรณีที่มีการส่งมอบภารกิจไปแล้ว หากกระทรวงสาธารณสุข โดย สสจ. หรือโรงพยาบาลในพื้นที่ ยังคงจัดหายา วัสดุทางการแพทย์ รวมถึงอุปกรณ์และทรัพยากรต่างๆ สนับสนุนให้กับหน่วยงานที่ถ่ายโอนแล้ว จะเป็นการผิดระเบียบราชการหรือไม่ และต้องดำเนินการแก้ไขอย่างไร

"โดยสรุปภาพรวมจาก 33 อบจ. พบว่า ส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อม และต้องการระยะเวลาในการเตรียมการรับการถ่ายโอนภารกิจ รวมทั้งต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลด้านวิชาการและการควบคุมกำกับ สำหรับ 16 อบจ. ที่ยังไม่ตอบแบบสำรวจความพร้อม สสจ.ในพื้นที่จะติดตามสอบถามอีกครั้ง หากยังไม่มีการตอบรับจะถือว่ายืนยันความพร้อมในการบริหารจัดการภารกิจทั้งหมด ทั้งนี้ จะมีการรายงานข้อมูลดังกล่าวต่อคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมาธิการวุฒิสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามที่ได้รับการสอบถามข้อมูลมาอย่างต่อเนื่องด้วย" นพ.พงศ์เกษมกล่าว