ผู้สูงอายุ โมโหง่าย เรื่องธรรมดาตามวัยหรือป่วยด้วยโรคร้าย?

เมื่ออายุมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงมากมายก็เกิดขึ้น ทั้งสุขภาพทางกายที่ไม่แข็งแรง กระฉับกระเฉงเท่าเดิม สุขภาพจิตใจที่อ่อนไหว ขี้วีน ขี้เหวี่ยง จริง ๆ แล้ว ผู้สูงอายุ โมโหง่าย เป็นเรื่องปกติ หรือเป็นสัญญาณอันตรายกันแน่

เข้าใจผู้สูงวัย อายุมากขึ้น โมโหง่าย 

ผู้สูงอายุเป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลง อารมณ์และความรู้สึก จะเปราะบางได้ง่าย จึงจำเป็นต้องปรับตัวและยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงให้ได้ ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้ ผู้สูงอายุ โมโหง่าย หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า เป็นเรื่องของการควบคุมอารมณ์ที่ส่งผลไปถึงจิตใจ การตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก เมื่ออายุมากขึ้นแล้ว การควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ จะลดน้อยถอยลง ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นอาจจะดูรุนแรง ไม่สมเหตุสมผลได้ ถ้าเหวี่ยงมากเกินไป แม้จะไม่เกิดอาการหวาดระแวงหรือภาพหลอน ก็สุ่มเสี่ยงโรคภัย มีความเสี่ยงของโรคสมองเริ่มมากขึ้น 

"ผู้สูงอายุ โมโหง่าย เรื่องธรรมดาตามวัยหรือป่วยด้วยโรคร้าย?"

"ภาวะสมองเสื่อม คนจะเข้าใจว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่จริง ๆ แล้ว สมองเสื่อมเป็นได้หลายโรค เพียงแต่อัลไซเมอร์เป็นผู้ร้ายอันดับ 1 พบได้ 70 เปอร์เซนต์ ส่วนโรคสมองเสื่อมหรืออาการของสมองเสื่อมอื่น ๆ เกิดได้จากหลายสาเหตุอย่างเส้นเลือดฝอยอุดตัน ทำให้เนื้อสมองยุบตัวลง การทำงานของสมองไม่สามารถเชื่อมโยงหรือสัมพันธ์กันในส่วนต่าง ๆ การขาดวิตามินบางชนิดอย่างรุนแรง การติดเชื้อบางชนิด เช่น ผู้ป่วยโรคซิฟิลิส โรคเอดส์ หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันวิปริตหรือแปรปรวน ก็อาจเกิดสมองเสื่อมได้" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

อารมณ์ฉุนเฉียวก้าวร้าว สัญญาณโรคอัลไซเมอร์ 

สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ อธิบายถึงโรคอัลไซเมอร์ ว่า โรคอัลไซเมอร์ เกิดจากการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติในระบบประสาท ส่งผลให้เกิด การทำลายเซลล์ประสาทและเกิดสมองฝ่อ พบได้บ่อยในสูงวัยที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • มีปัญหาความจำบกพร่อง ถามเรื่องเดิมซ้ำ ๆ จำวัน เวลา และสถานที่ของเหตุการณ์ในอดีตไม่ได้ 
  • เมื่ออาการของโรคมากขึ้นผู้ป่วยอาจเสียความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน  
  • มีปัญหาพฤติกรรม เช่น หงุดหงิดง่ายขึ้น หลงผิด หรือมีอาการหลอน

สำหรับการรักษาปัจจุบันจะเน้นการรักษาทางยา ชะลอให้ความจำเสื่อมถอยช้าลงเล็กน้อย ให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น การปรับพฤติกรรมหรือทำกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพความจำ อีกทั้งรักษากายและใจโดยรวมให้ดี 

หงุดหงิด ฉุนฉียว เสี่ยงซึมเศร้า

นอกจากอาการโมโหง่าย หงุดหงิด อาจเป็นสัญญาณของโรคอัลไซเมอร์ ก็ยังมีโรคทางจิตใจที่ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน นั่นคือ ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ (Late-life depression) โดยผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า อาจเกิดตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุ หรือเพิ่งเกิดหลังจากที่เข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งสามารถสังเกตอาการ ได้ดังนี้

  • ไม่ค่อยพูด ไม่อยากพูดคุยกับใคร นิ่งเงียบ
  • เบื่ออาหาร รับประทานน้อยลง
  • เฉื่อยชา ไม่กระฉับกระเฉง ไม่สนใจทำกิจกรรม
  • นอนมาก หรือมีอาการนอนไม่หลับ
  • ผู้สูงอายุ โมโหง่าย หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน 

"ผู้สูงอายุ โมโหง่าย เรื่องธรรมดาตามวัยหรือป่วยด้วยโรคร้าย?"

วิธีดูแลสุขภาพผู้สูงอายุให้มีความสุข

  1. ผู้สูงอายุควรโอนอ่อนผ่อนตามความเห็นลูกหลานและคิดเรื่องต่างๆ ด้วยความยืดหยุ่น 
  2. ทำใจว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นเรื่องธรรมดา 
  3. มองชีวิตตนเองในทางที่ดีและภาคภูมิใจเป็นที่พึ่งพิงแก่ลูกหลาน 
  4. เมื่อมีความกังวลต้องพูดคุยกับคนใกล้ชิดเพื่อระบายความรู้สึก 
  5. พยายามหากิจกรรมและงานอดิเรกที่ทำแล้วรู้สึกเพลิดเพลินและ มีคุณค่าทางจิตใจ เช่น ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ทำอาหาร ออกกำลังกาย ตลอดจนเดินทางท่องเที่ยว 
  6. พบปะสังสรรค์กับผู้อื่นเพื่อพูดคุยหรือปรับทุกข์ 
  7. ยึดศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ เช่น สวดมนต์ เข้าวัด ทำบุญ ฝึกสมาธิ 
  8. หมั่นทำจิตใจ ให้เบิกบานอยู่เสมอ ไม่เครียดหรือหงุดหงิด ดังนั้น วิธีการสร้างความสุขของผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ปฏิบัติตัวให้มีความสุข นอกจากนี้ลูกหลานหรือคนใกล้ชิดควรใส่ใจและสร้างความสุขให้แก่ผู้สูงอายุ เพียงเท่านี้จะทำให้ผู้สูงอายุและทุกคนในครอบครัวมีความสุขอย่างแท้จริง

ทางเลือกดูแลร่างกายผู้สูงวัย

  • ปัจจุบันมีข้อมูลว่า น้ำมันหมูรับประทานได้ เพราะในน้ำมันหมูมีตัวการที่ก่อให้เกิดการอักเสบน้อยกว่าน้ำมันพืชที่ผ่านการปรุงแต่ง หรือผ่านกระบวนการต่าง ๆ เป็นน้ำมันที่มีจุดเกิดควันสูง (High Smoke Point) ไม่ก่อให้เกิดสารที่ทำลายสุขภาพ แต่ข้อเสีย ไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะไขมันสูงจะทำให้อ้วนได้ 
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เช่น เดินออกกำลังกาย รับแสงแดดในช่วงเช้า ไม่ใช่แค่รับวิตามินดีจากแสงแดดเพียงเท่านั้น แต่แสงแดดยังทำให้เกิดฮอร์โมนบางชนิดที่ดีต่อสุขภาพ หากเดินในช่วงเย็นไม่ควรเดินในช่วงเวลาใกล้ค่ำ สมองจะคิดว่าเป็นช่วงเวลากลางวัน อาจทำให้นอนไม่หลับ 
  • เลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ อาจปรึกษาแพทย์ เพื่อเลือกอาหารที่เหมาะกับสุขภาพ ร่างกายของผู้สูงวัย 

เมื่อสังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของคนในครอบครัว รู้สึกว่า ผู้สูงอายุ โมโหง่าย หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายและจิตใจเป็นระยะเวลานาน ควรพาไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ลดเลิกพฤติกรรมนำสู่ "โรคสมองเสื่อม" ..ถึงวัยชรา ต้องเป็นทุกคนไหม?

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org