หน่วย 50(5) จ.พระนครศรีอยุธยา เผยเน้นการทำงานผ่านเครือข่าย พร้อมเร่งพัฒนาศักยภาพตัวแทนหน่วย 50(5) ที่นั่งเป็นกรรมการในกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นทั้ง 157 แห่งทั่วจังหวัด ให้สามารถผลักดันโครงการต่างๆในกองทุน รวมทั้งสามารถรับเรื่องร้องเรียนในพื้นที่ได้
วันที่ 21 เมษายน 2566 น.ส.ชลดา บุษเกษม ประธานหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถููกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงการดำเนินงานของหน่วย 50(5) จ.พระนครศรีอยุธยา ว่าโดยภาพรวมจะเป็นการทำงานผ่านเครือข่ายใน 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือการทำงานกับเครือข่ายในพื้นที่ เครือข่ายเหล่านี้จะเข้าไปเป็นตัวแทนของหน่วย 50(5) ในกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ซึ่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา มีทั้งหมด 157 กองทุน
น.ส.ชลดา กล่าวว่า เครือข่ายเหล่านี้ นอกจากทำหน้าที่เป็นกรรมการกองทุนแล้ว ยังจะเป็นตัวแทนของหน่วย 50(5) ในพื้นที่นั้นๆ ในการให้คำปรึกษา แนะนำสิทธิ รวมทั้งการรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ทำหน้าที่แบบเดียวกับหน่วย 50(5) ระดับจังหวัดเพียงแต่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ และหากมีข้อสงสัยที่ตอบคำถามประชาชนไม่ได้ หรือได้รับการร้องเรียนต่างๆ ก็จะประสานมาที่หน่วย 50(5) ระดับจังหวัดเพื่อดำเนินการต่อไป
ขณะเดียวกัน ในฝั่งของผู้ให้บริการ ทางหน่วย 50(5) ระดับจังหวัด
จะเน้นการทำงานร่วมกับกลุ่มงานประกันสุขภาพของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งในส่วนของกลุ่มงานประกันสุขภาพก็ได้สร้างเครือข่ายเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทข้อร้องเรียนต่างๆในทุกอำเภออยู่แล้ว ทางหน่วย 50(5) ก็จะเชิญเครือข่ายเหล่านี้มาทำงานร่วมกัน เช่น เวลามีเคสร้องเรียนต่างๆ ก็จะลงพื้นที่ไปด้วยกันเพราะร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้แล้ว หน่วย 50(5) จ.พระนครศรีอยุธยา ยังมีการจัดเวทีประชุมร่วมกับหน่วยบริการ เพื่อเป็นเวทีพบปะพูดคุยกันทุกปี
น.ส.ชลดา กล่าวว่า การวางระบบการทำงงานในลักษณะนี้ช่วยลดข้อพิพาทระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการพอสมควร เช่น บางกรณีที่ประชาชนไม่พอใจการให้บริการแต่ไม่กล้าร้องเรียนกับหน่วยบริการโดยตรง ก็กล้าที่จะมาร้องเรียนกับเครือข่ายในพื้นที่แทน ซึ่งบางครั้งแม้ไม่ใช่การเรียกเรียน เป็นเพียงการบ่นแสดงความไม่พอใจ แต่ถ้าเข้าข่ายการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานบริการสาธารณสุข หรือไม่ได้รับความสะดวกในการรับบริการ หรือถูกเรียกเก็บเงิน
ทางเครือข่ายในพื้นที่ก็สามารถส่งเรื่องเข้ามาที่หน่วย 50(5) ระดับจังหวัดเพื่อหารือว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง ในมุมกลับกัน บางครั้งการร้องเรียนที่เกิดขึ้นเกิดจากความเข้าใจผิดของผู้รับบริการ ตัวแทนหน่วย 50(5) ก็จะได้ช่วยอธิบายสร้างความเข้าใจ ซึ่งลดโอกาสที่ผู้รับบริการจะเกิดความขัดแย้งกับผู้ให้บริการได้เช่นกัน สำหรับทิศทางการดำเนินงานของหน่วย 50(5) จ.พระนครศรีอยุธยา ในอนาคตนั้น น.ส.ชลดา กล่าวว่า จะเน้นการขยายเครือข่ายให้มากขึ้น เพื่อให้เครือข่ายเข้ามาช่วยเป็นแขนขาในการทำงาน
ขณะเดียวกัน หน่วย 50(5) จ.พระนครศรีอยุธยา ยังเน้นความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายที่นั่งเป็นตัวแทนหน่วย 50(5) อยู่ในกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น ซึ่งตัวแทนเหล่านี้มาจากเครือข่ายที่หลากหลาย ทั้งผู้พิการ ผู้ติดเชื้อ ผู้สูงอายุ ผู้นำสตรี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สื่อมวลชน ฯลฯ ประกอบกับปีนี้เป็นปีที่กรรมการบางส่วนหมดวาระและต้องตั้งกรรมการคนใหม่ ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพ โดยเชิญตัวแทนหน่วย 50(5) จากทั้ง 157 กองทุน มาร่วมพูดคุยทำความรู้จัก เสริมพลัง สร้างเข้าใจกับบทบาทหน้าที่ในการเสนอโครงการ การกระตุ้นผลักดันโครงการต่างๆ ในกองทุน รวมถึงการอัพเดทสถานการณ์ใหม่ๆ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพในด้านการรับเรื่อง โดยได้รับความร่วมมือจาก สปสช.เขต 4 สระบุรีที่ส่งทีมงานวิทยาการมาร่วมให้ความรู้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw
- 56 views