หน่วย 50(5) จ.นราธิวาส เผยใช้กลไกภาคีเครือข่ายช่วยเฝ้าระวังปัญหาการรับบริการในระดับพื้นที่ พร้อมชูจุดยืนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้บริการจนไม่ลุกลามถึงขั้นฟ้องร้องเป็นคดี
วันที่ 10 มีนาคม 2566 นางสิริภา มะดากะกุล ผู้รับผิดชอบหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50 (5) จ.นราธิวาส กล่าวถึงการดำเนินงานของหน่วย 50(5) จ.นราธิวาส ว่า โดยภาพรวมแล้วจะเน้นการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆในพื้นที่ในการเฝ้าระวังสอดส่องดูแลปัญหาจากการรับบริการสาธารณสุข และเมื่อมีกรณีร้องเรียนเข้ามาก็จะพยายามไกล่เกลี่ยสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้บริการจนไม่ไปถึงขั้นฟ้องร้องเป็นคดี
นางสิริภา กล่าวว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้ตนทำงานในเครือข่ายสตรี จากนั้นก็ได้ร่วมงานกับมูลนิธิเข้าถึงเอดส์และต่อมาก็ได้รับการชักชวนให้มาทำงานหน่วย 50(5) ทำให้มีต้นทุนเครือข่ายในพื้นที่ค่อนข้างมาก ทั้งเครือข่ายบัณฑิตแรงงาน เครือข่าย พชอ. เครือข่ายสตรี เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายผู้พิการ เครือข่าย อสม. เครือข่ายสมาชิก อบต. เป็นต้น ทำให้สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรวมทั้งการรับเรื่องร้องเรียนได้ในหลายช่องทาง
“การทำงานแบบนี้เครือข่ายสำคัญมาก หลักๆคือเราขอให้เขาช่วยสอดส่องในพื้นที่ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็แจ้งมา รวมทั้งการเข้าไปเยี่ยมเคสด้วย”นางสิริภา กล่าว
ในส่วนของการรับเรื่องร้องเรียนความเสียหายจากการรักษาพยาบาลนั้น นางสิริภา กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีแรก เมื่อได้รับเคสก็จะทำเรื่องร้องเรียนขอรับเงินเยียวยาตามมาตรา 41 ไปยังสำนักงานสาธารณสุขทันที แต่หลังจากนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดอบรมเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ย และการสร้างความเข้าใจระหว่างโรงพยาบาลและหน่วย 50(5) รวมทั้งได้ประสานเครือข่ายกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล มีการแอดไลน์กลุ่มเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลไว้ หลังจากนั้นเมื่อมีเคสที่เข้าก็จะสอบถามข้อมูลกับโรงพยาบาลก่อน
“แต่แรกๆทางโรงพยาบาลไม่ค่อยให้ข้อมูลเพราะยังไม่รู้จักเรา แต่เมื่อรู้ว่าเราไม่ใช่คนที่จะไปเอาผิดเขา เขาก็เล่าให้ฟัง ให้ความร่วมมือดี แต่บางโรงพยาบาลที่ไม่เข้าใจก็ยังมี ในส่วนของผู้เสียหายถ้ามาที่หน่วยไม่ได้เราก็ลงไปหาที่บ้าน เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็ส่งเรื่องไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่อ”นางสิริภา กล่าว
นางสิริภา กล่าวต่อไปว่า กรณีร้องเรียนส่วนมากที่พบ จะเป็นเรื่องความเสียหายจากการทำคลอด เช่น คลอดแล้วลูกเสียชีวิต เสียชีวิตทั้งแม่ทั้งลูก คลอดแล้วลูกพิการ เป็นต้น รวมทั้งกรณีการวินิจฉัยผิด ให้ยาผิดจนเกิดความเสียหายกับผู้ป่วย อย่างไรก็ดี หน่วย 50(5) พยายามไกล่เกลี่ยรับฟังทั้ง 2 ฝ่าย และช่วยสื่อสารสร้างความเข้าใจระหว่างกันขึ้น ทำให้ตลอดช่วงการทำงานที่ผ่านมาไม่มีกรณีใดที่ลุกลามถึงขั้นฟ้องร้องเป็นคดี แต่ในส่วนของการร้องเรียนยังคงต้องทำเรื่องร้องเรียนอยู่เพราะผู้เสียหายก็ได้รับการเยียวยาเช่นกัน
นางสิริภา กล่าวอีกว่า ในส่วนของการรับรู้ของประชาชนในจังหวัด ส่วนมากจะยังไม่ค่อยรู้จักหน่วย 50(5) ว่าคืออะไร ทำหน้าที่อะไร จะยังเป็นที่รู้จักในกลุ่มของโรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานประกันสังคม รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ในระยะไม่กี่ปีมานี้ หน่วย 50(5) พยายามขยายกลไกในระดับอำเภอให้มากขึ้นทั้งที่ อ.บาเจาะ อ.รือเสาะ อ.จะแนะ และปีที่ผ่านมาก็ขยายไปที่ อ.เจาะไอร้อง อ.แว้ง และในปีนี้จะขยายไป อ.เมืองนราธิวาส เพราะเริ่มมีเคสร้องเรียนเข้ามามากขึ้น ทั้งให้ยาผิด เรียกเก็บเงิน
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในอนาคตของหน่วย 50(5) จ.นราธิวาสในอนาคต นางสิริภา กล่าวว่าจากการวิเคราะห์ว่ากรณีร้องเรียนที่เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยาตามมาตรา 41 ส่วนมากเป็นเคสทำคลอด และการวินิจฉัยโรคผิดพลาด โดยเฉพาะการคัดกรองตอนคนไข้เข้ามาที่โรงพยาบาล ดัวนั้นจึงอยากผลักดันเรื่องนี้ไปยังโรงพยาบาล และอยากให้มีการอบรมการคัดกรอง การส่งต่อ การวินิจฉัยโรค โดยเฉพาะเรื่องการวินิจฉัยโรคเป็นส่วนสำคัญมากที่ทำให้เกิดการร้องเรียนตามมาตรา 41 ในช่วงที่ผ่านมา
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
- 63 views