กรมควบคุมโรค และ สปสช. ชวนผู้มีสิทธิบัตรทอง 7 กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ในปี 2566 เริ่ม 1 พ.ค. – 31 ส.ค. นี้ หรือจนกว่าวัคซีนฯ หมด เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ลดภาวะแทรกซ้อนเจ็บป่วยรุนแรง และเสียชีวิต พร้อมจับมือ ธนาคารกรุงไทย เปิดให้จองสิทธิฉีดวัคซีนฯ ล่วงหน้า เฉพาะที่กรุงเทพฯ ผ่านแอปฯ เป๋าตัง ได้ เริ่ม 17 เม.ย. นี้      
 
วันที่ 16 เมษายน 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล” เป็นสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (บัตรทอง 30  ให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง โดยการสนับสนุนของกรมควบคุมโรค และโรงพยาบาล/สถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตได้จากโรคไข้หวัดใหญ่  
 
สำหรับในปีนี้ ได้ดำเนินการจัดเตรียมวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ปี 2566 สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทองที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กำหนดช่วงระยะเวลาการบริการวัคซีนฯ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 สิงหาคม 2566 หรือจนกว่าวัคซีนฯ หมด 
 
ส่วนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่นำมาฉีดให้กับประชาชนไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม สำหรับปีนี้ยังเป็นวัคซีนสายพันธุ์ซีกโลกใต้ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่ครอบคลุมการป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ (an A/Victoria/2570/2019 (H1N1) pdm09-like virus, an A/Darwin/9/2021 (H3N2)-like virus; และ a B/Austria/1359417/2021 (B/Victoria lineage)-like virus.) มีประสิทธิผลในการป้องกันและช่วยเสริมภูมิคุ้มกันจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้ 

 
“ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus)  มีการระบาดเป็นช่วง ๆ ในฤดูฝนและฤดูหนาว คนทั่วไปจะมีอาการไม่มาก เช่น มีไข้สูง มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ ส่วนใหญ่จะหายได้เอง แต่สำหรับคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้ เช่น ปอดอักเสบหรือปอดบวม สมองอักเสบ ดังนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นในคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงนี้ นอกจากนั้นยังลดความสับสนการตรวจวินิจฉัยโควิด-19 ที่มีรายงานพบผู้ป่วยต่อเนื่อง และช่วยลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ พร้อมขอย้ำว่า ปีนี้วัคซีนฯ มีจำนวนจำกัด ดังนั้นใครที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ควรรีบมาฉีดวัคซีนฯ โดยเร็ว ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ก่อนที่วัคซีนฯ จะหมดลง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว    

 

สิทธิในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

 
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ที่ได้รับสิทธิในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ 1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3) ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค  คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5) โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 6) โรคอ้วน (น้ำหนัก > 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และ7) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ทั้งนี้กรณีหญิงตั้งครรภ์นั้นมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้บริการตลอดทั้งปี     
 
นอกจากนี้เพื่อเพิ่มความสะดวกในการรับบริการวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า  สปสช. ได้ร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย จำกัด เปิดให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ย้ำว่าเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น จองสิทธิการฉีดวัคซีนฯ ล่วงหน้าผ่าน “กระเป๋าสุขภาพ” บนแอปพลิเคชัน เป๋าตัง ได้ โดยระบบ เป๋าตัง จะเริ่มเปิดให้จองสิทธิฉีดวัคซีนฯ ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน - 31 สิงหาคม 2566 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด ส่วนผู้ที่ไม่สะดวกจองผ่านแอปเป๋าตัง ให้ติดต่อได้ที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ กทม. และคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ หรือสถานพยาบาลตามสิทธิที่ท่านไปรักษาเป็นประจำ แนะนำให้โทรนัดรับบริการล่วงหน้าก่อน เพื่อลดความแออัดในการเข้ารับบริการวัคซีน  
 
 สำหรับผู้ที่อยู่ในต่างจังหวัดนอกพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่สามารถจองผ่านแอปเป๋าตังได้ การจองนัดหมายเข้ารับบริการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละหน่วยบริการ กรุณาติดต่อสอบถามการเข้ารับบริการกับหน่วยบริการโดยตรง

ขณะนี้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับ 7 กลุ่มเสี่ยงนั้น ให้บริการเฉพาะผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ส่วนสิทธิการรักษาอื่นรอประกาศอีกครั้ง