รูมาตอยด์ - แคลเซียมสะสม ไม่สามารถรักษาโดยทำให้เลือดเป็นด่าง

ข้อความที่โพสต์ในโลกออนไลน์ ระบุว่า อายุมากขึ้น ข้อนิ้วข้อมือบวมใหญ่ขึ้น เป็นได้ 2 สาเหตุ คือ รูมาตอยด์ หรือแคลเซียมสะสม ให้รักษาโดยทำให้เลือดเป็นด่าง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตรวจสอบกับโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า คำเตือนนี้ไม่เป็นความจริง เพราะสาเหตุการบวมที่ว่า คือ โรคเกาต์ เป็นผลึกแคลเซียมออกซาเลต ซึ่งไม่เกี่ยวกับการสะสมแคลเซียม ส่วนการรักษาเลือดให้เป็นด่าง ก็ไม่อาจรักษาอาการของโรคได้

"รูมาตอยด์ - แคลเซียมสะสม "

รูมาตอยด์ คืออะไร

ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุถึง รูมาตอยด์ ว่า รูมาตอยด์ เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อต่อ สาเหตุ รูมาตอยด์ เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ซึ่งไปทำลายอวัยวะของตนเอง สำหรับอาการของรูมาตอยด์ เช่น

  • เกิดการอักเสบที่ข้อเป็นเวลานาน 
  • มีการปวดบวมตามข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อเท้า 
  • พบอาการข้อติดขัด เมื่อตื่นนอนตอนเช้า 
  • เบื่ออาหาร 
  • ปวดเมื่อยตามตัว 

ทั้งนี้ โรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์ ลักษณะเด่น คือ การทำลายข้อ จึงต้องรีบรักษาก่อนข้อถูกทำลาย หากรักษาไม่เหมาะสมตั้งแต่ระยะแรก ข้อจะถูกทำลายได้ และหากรักษาล่าช้าจะเกิดภาวะข้อพิการผิดรูป ซึ่งผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ ไม่ควรซื้อยาหรือสมุนไพรมารักษาเอง และควรหมั่นดูแลสุขภาพ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง และฝึกการบริหารข้อ

"โรคเกาต์ อาการและวิธีป้องกัน"

โรคเกาต์ อาการและวิธีป้องกัน 

โรคเกาต์ ก็เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง เกิดจากระดับกรดยูริกในเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการตกผลึกของเกลือยูเรตบริเวณข้อและเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย ผลึกจะมีผลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันทำให้เกิดกระบวนการอักเสบตามมา สำหรับอาการของโรคเกาต์ ได้แก่

  • ข้ออักเสบแบบเฉียบพลัน เริ่มเป็นข้อเดียว ส่วนใหญ่เกิดที่โคนข้อนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า หรือข้อเข่า
  • มีอาการปวด บวมแดง ร้อน เจ็บเมื่อกด 
  • อาจมีไข้ร่วมด้วย 
  • อาจพบก้อนโทฟัส จากการสะสมของผลึกเกลือยูเรตในเนื้อเยื่ออ่อน ข้อต่อ กระดูก และกระดูกอ่อน มักพบบริเวณศอก ตาตุ่ม นิ้วมือ นิ้วเท้า 
  • ผู้ป่วยโรคเกาต์พบนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ร้อยละ 10-25

การดูแลและรักษาโรคเกาต์

วิธีรักษาโรคเกาต์ ควรใช้การรักษาโดยวิธีไม่ใช้ยาและใช้ยาร่วมกัน แต่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อดูแลตัวเองได้ ด้วยการปรับการรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม เช่น

  1. ควรเลือกรับประทานโปรตีนจาก ไข่ เต้าหู้ นมและผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำ เมื่อมีอาการข้ออักเสบกำเริบ
  2. ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด
  3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่ปลา ยอดผัก
  4. ไม่ควรรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานจัด น้ำผลไม้และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลฟรุ๊กโตส เช่น ชาเขียวพร้อมดื่ม
  5. งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  6. ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน

โรคข้อเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะผู้สูงวัย ดังนั้น เมื่อพบอาการข้อนิ้วข้อมือบวมใหญ่สงสัยว่าเป็น รูมาตอยด์ หรือโรคเกาต์ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาอย่างเหมาะสม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีแนวโน้มมากขึ้น ส่วนใหญ่ได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org