สปสช.ลงพื้นที่เยี่ยมชม " โมเดล Temple Ward " วัดบุญนารอบ จ.นครศรีธรรมราช ตัวอย่างการจัดการดูแลพักฟื้นสุขภาพพระภิกษุที่อาพาธอย่างเป็นระบบ ช่วยลดผู้ป่วยแออัดภายในโรงพยาบาลได้ดี
เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่วัดบุญนารอบ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเยี่ยมชม "โมเดล Temple Ward (เทมเพล วอร์ด)" การดูแลพักฟื้นสุขภาพพระสงฆ์ที่อาพาธ โดยมี พระมหาบวร ปวรธมฺโม เจ้าอาวาสวัดบุญนารอบ พร้อมคณะแพทย์ และพยาบาล รพ.มหาราช นครศรีธรรมราช ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วย
พระมหาบวร ปวรธมฺโม เจ้าอาวาสวัดบุญนารอบ กล่าวว่า ปัจจุบันวัดบุญนารอบมีพระภิกษุอาพาธที่ต้องดูแลจำนวน 4 รูป พิการขา 1 รูป โรคซึมเศร้า 1 รูป โรคประจำตัว 2 รูป โดยพระภิกษุอาพาธ 1 รูป จะมีพระภิกษุที่ผ่านการอบรมหลักสูตรพระคิลานุปัฎฐาก (พระอาสาส่งเสริมสุขภาพประจำวัด ดูแลพระอาพาธ) จากกรมอนามัย หรือบางรูปเรียนรู้จากการถ่ายทอดประสบการณ์การดูแลจากพระสงฆ์รุ่นพี่คอยให้การดูแลด้วย เช่น เช็ดตัวทำความสะอาดร่างกาย ป้อนข้าว จัดยา ดูแลวันหมอนัดและประสานให้จิตอาสามารับผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลพร้อมกับพระภิกษุผู้ดูแลที่จะทำหน้าที่แทนญาติ นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้ามาเยี่ยมทุกเดือน รวมถึงทีมจากโรงพยาบาลเทศบาลนครศรีธรรมราชมาเยี่ยมตามนัดอีกด้วย
โมเดล Temple Ward ดำเนินการโดยไม่ใช้งบประมาณของภาครัฐแต่มาจากการทำบุญของประชาชน ที่ได้มีการบริจาคสิ่งของอุปกรณ์ที่จำเป็นที่ต้องใช้ในการดูแลผู้ผู้ป่วยในโอกาสต่าง ๆ เช่น เตียง เบาะลม ไม้เท้า walker เครื่องดูดเสมหะ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ซึ่งอุปกรณ์ที่ได้รับมาจากการบริจาคของญาติโยม ทางศูนย์พระคิลานุปัฎฐากจะทำทะเบียนการยืม-คืน และนำมาให้บริการประชาชนในจังหวัด หากประชาชนที่มีความต้องการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์สามารถติดต่อแจ้งรายละเอียดมาที่วัด โดยนำเอกสารสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประชาชนผู้ป่วยมารับอุปกรณ์ที่ต้องการใช้ได้ เมื่อผู้ป่วยหายป่วยหรือเสียชีวิต ก็ให้ญาติส่งคืนอุปกรณ์เพื่อให้คนอื่นได้ใช้ประโยชน์ต่อ
“อาตมาอยากให้มีศูนย์พระคิลานุปัฎฐากที่ทำแบบอาตมาในทุกๆจังหวัด ทุกๆอำเภอ เพราะที่จ.นครศรีธรรมราชที่อาตมาอยู่ในจังหวัดมีอยู่ที่เดียวคือวัดบุญนารอบแห่งนี้ อาตามาอยากให้มี การสอนพระภิกษุให้มีความรู้ในการช่วยเหลือดูแลพระที่เจ็บป่วยหรืออาพาธ แบบรุ่นสู่รุ่นแบบมากๆ เพื่ออนาคตเมื่อเข้าสู่ยุคผู้สูงวัยจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการรองรับ เพราะบางครั้งพระภิกษุสงฆ์ที่มาบวชเรียนก็มีสึกไปบ้าง ส่วนใหญ่จะเหลือแต่พระที่มีอายุมากๆมาบวชและมีโรคประจำตัว อีกทั้งในอนาคตอาตมาอยากให้มีอาคารดูแลได้มาตรฐานกว่านี้เช่นกัน”พระมหาบวร กล่าว
ด้าน นางนงเยาว์ บุณกอบ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.เทศบาลนครนครศรีธรรมราช กล่าว่า สำหรับการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังต่อเนื่อง จะติดตามอาการ รวมถึงให้บริการเจาะเลือด วัดความดัน นอกจากนี้ยังมีทีมแพทย์สหวิชาชีพเข้ามาเยี่ยมที่วัด ประมาณ 2 เดือน/ครั้งหรือ เดือนละ 1 ครั้ง ตามความจำเป็น แต่หากเกิดกรณีฉุกเฉิน จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลทางวัดจะมีบริการรถฉุกเฉินนำส่งถึงโรงพยาบาลทันที
แต่การดูแลนี้ เจ้าอาวาสต้องอยู่ในทะเบียนบ้านหรืออยู่ในเขต ถ้าไม่อยู่ในเขตเราจะแนะนำเจ้าเอาวาสให้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาเพื่อยืนยันสิทธิเป็นบัตรทองของโรงพยาบาลเทศบาลต่อไป ส่วนมากไม่พบปัญหาอุปสรรคเพราะเจ้าอาวาสให้ความร่วมมืออย่างดี ติดต่อประสานงานกันได้ตลอด อาจเนื่องจากจำนวนผู้ป่วยยังไม่ได้เยอะพอสมควร จึงทำให้การดูแลครอบคลุม จริงๆส่วนมากพระจะดูแลพาด้วยกันเอง ให้คำแนะนำกันเอง
สำหรับ ระบบตรวจรักษาแพทย์ทางไกล หรือ “Telemedicine” การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้คำปรึกษาหรือดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ในบางพื้นที่อาจสามารถทำได้ อย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีญาติอยู่ด้วยก็สามารถติดต่อสอบถามได้ แต่หากผู้ป่วยอาศัยอยู่คนเดียวก็ยากในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพราะส่วนมากใช้โทรศัพท์ไม่เป็น คนไข้หรือญาติไม่ได้มีความพร้อมมากนัก หรือบางครั้งสัญญานอินเตอร์เน็ตอาจเข้าไม่ถึง แต่ก็มีข้อดีและสะดวกสบายต่อแพทย์หรือพยาบาลที่ให้คำแนะนำในแต่ละครั้ง
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสปสช.กล่าวว่า สปสช. ได้ขยายการดูแลรักษาผู้ป่วย จากในโรงพยาบาลมาเป็นช่วงพักฟื้นระยะยาวที่บ้าน สอดคล้องกับพระหลายรูป ที่เมื่อรักษาอาการป่วยจากโรงพยาบาลแล้ว ต้องมาพักฟื้นต่อที่วัดกลายเป็น โมเดลพระอาพาธ ที่วัดแห่งนี้เริ่มทำ ในช่วงเริ่มต้น มีประชาชนนำสิ่งของมาถวายพระภิกษุ ไม่ต้องมาใช้งบประมาณภาครัฐ แต่ปัจจุบัน พระอาพาธเพิ่มจำนวนมากขึ้น สปสช. เข้ามาดูแลให้เบิกค่าใช้จ่ายได้ในหลายสิ่งอุปกรณ์การรักษา เช่น ผ้าอ้อม หรือแพมเพิร์ส ล่าสุดมีการ ประสานร่วมกับ กองทุน LTC และ กองทุน อปท. เพื่อการดูแลที่ครบถ้วนสมบูรณ์และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
- 827 views