สปสช. ลงพื้นที่ รพ.มหาราช นครศรีธรรมราช เยี่ยมชมการใช้ "รากฟันเทียมนวัตกรรมไทย" หน่วยบริการยืนยัน ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ-ประชาชนพึงพอใจ ย้ำไม่ใช่แค่ให้ผู้สูงอายุแต่สำหรับสิทธิบัตรทองทุนคนทั่วประเทศรับบริการฟรี!

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 66 ที่ผ่านมา ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) นพ.สุทธิพจน์ ชยณัฐพงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช และนางพนิต มโนการ ผอ.สปสช.เขต 11 สุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ไปยัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเยี่ยมชม “โครงการนำร่องการใช้ผลิตภัณฑ์รากฟันเทียมในบัญชีนวัตกรรมไทย” สำหรับให้การรักษาฝังรากฟันเทียมแก่ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ไม่มีฟันทั้งช่องปาก ที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

สำหรับโครงการนำร่องดังกล่าว มีเป้าหมาย คือ 1. ให้คนไทยได้รับบริการใส่ฟันเทียมทั้งปาก ใน 76 จังหวัด จำนวน 72,000 ราย 2. ทำให้ผู้ที่ไม่มีฟันทั้งช่องปากได้รับบริการฝังรากฟันเทียมเพื่อรองรับฟันเทียมทั้งทั้งปากตามความจำเป็นใน 76 จังหวัด จำนวน 7,200 ราย

รากฟันเทียม

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า รากฟันเทียมที่นำมาให้บริการ เป็นรุ่น PRK ที่พัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ และผลิตโดยบริษัท มหาสวัสดิ์เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเริ่มนำมาให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 โดยในปี 2566 นี้ มีกลุ่มเป้าหมายการให้บริการ 3,500 ราย และปี 2567 อีกจำนวน 3,700 ราย ซึ่งเบื้องต้นโครงการนี้จะให้บริการเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองก่อน เพื่อจัดระบบบริการทั้งบุคลากรและเครื่องมือก่อนจะขยายผลต่อไปในอนาคต

“หลังจากเห็นว่าโครงการนี้เริ่มดำเนินการมาแล้ว เราจึงมาลงพื้นที่ที่ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เพื่อรับฟังสรุปผลการดำเนินงานและเป็นการรับฟังข้อมูลปัญหาต่างๆที่เกิดจากการปฏิบัติงานจริง แล้วจะได้นำข้อมูลกลับไปพัฒนาระบบการบริการรากฟันเทียมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับการดำเนินงานต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

การให้บริการรากฟันเทียม

ด้าน ทพญ.กิ่งเกศ อักษรวงศ์ หัวหน้าหน่วยศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า โครงการให้บริการรากฟันเทียมที่เป็นการทำเพื่อเฉลิมพระเกียรติในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยมีการดำเนินการมาก่อนแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา สำหรับความพิเศษในครั้งนี้คือการที่ สปสช. ได้เพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์รากฟันเทียมให้กับคนสิทธิบัตรทอง เมื่อช่วงปี 2564 ทำให้ทางโรงพยาบาลสามารถเบิกจ่ายค่าบริการได้ จากเดิมที่ทาง TCELS จะเป็นผู้จัดซื้อมารากฟันเทียมมาสนับสนุน

ทั้งนี้ จากการเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 จนถึงขณะนี้ ได้ให้บริการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมให้กับประชาชนแล้วจำนวน 8 รายแล้ว โดยยังมีผู้ป่วยที่ยังรอรับการรักษาทั้งจากโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชเอง และจากโรงพยาบาลในเครือข่ายที่ให้บริการนี้ 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลท่าศาลา โรงพยาบาลสิชล และโรงพยาบาลทุ่งสง อีกจำนวนหนึ่ง และหลังจากนี้จะมีการให้บริการต่อไปเรื่อยๆ เพราะได้อยู่ในสิทธิประโยชน์ของสิทธิบัตรทองเรียบร้อยแล้ว สำหรับรากฟันเทียมจากบัญชีนวัตกรรมไทยที่ได้นำมาใช้ในครั้งนี้ ต้องบอกว่าค่อนข้างมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงจากการสอบถามผู้ที่ให้รับการฝังรากฟันเทียมไปก็ค่อนข้างมีความพอใจ โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีการพัฒนามาโดยตลอดจากโครงการครั้งก่อนๆ ด้วย 

“วันนี้เป็นโอกาสที่ดีมากที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการมาเข้าร่วมประชุมด้วย โดยการดำเนินการในโครงการที่ 3 นี้เราได้ทำมาระยะหนึ่งแล้ว ก็จะมีข้อสงสัย ข้อติดขัดอะไรบางอย่าง เราก็สามารถซักถาม ขอคำแนะนำ และความชัดเจนจากระเบียบอะไรต่างๆ ได้ เพราะหลายคำถามผู้ให้บริการอาจจะยังเข้าใจไม่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้เราสามารถให้บริการได้ด้วยความมั่นใจยิ่งขึ้น”

การรักษาผ่านระบบบัตรทอง

ขณะที่ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ บอร์ด สปสช. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สปสช. กระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กรมการแพทย์ มูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อดูแลคนไทยทุกคนที่ไม่มีฟันบดเคี้ยวอาหาร เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี ให้บริการใส่ฟันเทียมถอดได้แบบทั้งปากหรือเกือบทั้งปากสำหรับทุกสิทธิการรักษา โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี คือ ปี 2566-2567

สำหรับรากฟันเทียมที่ใช้ในการรักษาผ่านระบบบัตรทองภายใต้โครงการนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากฝีมือของบริษัทไทย ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีนวัตกรรมไทย ทำให้มั่นใจได้ว่ามีคุณภาพ เพราะต้องผ่านการพิสูจน์จากทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รวมถึงมีราคาที่ไม่แพง 

“ระบบบัตรทองได้อาศัยทุนทางสังคมและบุญบารมีของราชวงศ์ ตลอดจนบารมีทางศาสนาของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน ที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือประชาชน เช่นในกรณีที่มาดูในวันนี้ คนไข้คนแรกที่ได้รับการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมในโครงการเฉลิมพระเกียรติ คือ เจ้าคณะอำเภอ ซึ่งเป็นตัวอย่างให้คนในพื้นที่เกิดความเชื่อมั่น และส่งผลให้ผู้ที่ต้องการก็จะเข้ามารับบริการมากขึ้น”