ศูนย์พิษวิทยาฯ รามาธิบดี หารือร่วม อย. เตรียมสำรองยา พรัสเซียนบลู ต้านสาร ซีเซียม-137 แม้จะยังไม่พบปัญหากระทบประชาชน แต่ต้องเตรียมการ ขณะเดียวกันยังมียาโปแตสเซียมไอโอไดด์ ที่ใช้ในกลุ่มไทรอยด์ ก็ช่วยได้เช่นกัน แต่มีกลไกการทำงานคนละแบบ
เตรียมสำรองยาต้านซีเซียม137
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาและหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความจำเป็นในการสำรองยาพรัสเซียนบลู (Prussian blue) ต้านพิษจากซีเซียม-137 ว่า ยาต้านพิษพรัสเซียนบลู เป็นหนึ่งในยากำพร้า ใช้สำหรับการรักษาเมื่อได้รับสารซีเซียม-137 เข้าสู่ร่างกาย เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายดูดซึมสารพิษนั้น ซึ่งประเทศไทยมีการสำรองไว้กว่า 20 ปี ตอนนี้หมดอายุแล้ว แต่เนื่องจากเหตุการณ์ล่าสุดที่ท่อบรรจุซีเซียม-137 หายไปจากโรงงานนั้น จึงเป็นที่มาที่เราต้องคิดว่าจะต้องมีการสำรองเอาไว้บ้างแม้ว่าจะยังไม่จำเป็นต้องใช้ก็ตาม
ส่วนที่ว่าควรจะมีไว้ในมือเท่าไหร่นั้นอยู่ที่การประเมินความเสี่ยง มากน้อยแค่ไหนนั้นตนไม่สามารถบอกได้ ต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการพอสมควร แต่จากการหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นั้นกำลังเตรียมการ ส่วนตัวมองว่าควรมี แต่ไม่ต้องมีเยอะมากก็ได้ และไม่จำเป็นต้องมีด่วนจี๋ขนาดนั้น เรายังมีเวลาในการเตรียมตัว เบื้องต้นทราบว่า ยาพรัสเซียนบลูที่เป็นเมดดิคัลเกรด หรือเกรดสำหรับการเป็นยารักษานั้น มีอยู่ที่ประเทศเยอรมนี
ยาต้านซีเซียม137 มี พรัสเซียนบลู และ โปแตสเซียมไอโอไดด์
เมื่อถามว่านอกจากยาพรัสเซียนบลูที่รักษาพิษจากซีเซียม137 แล้วยังมียาตัวอื่นที่ใช้ได้หรือไม่ ศ.นพ.วินัย กล่าวว่า ตอนนี้เรายังมียาอีกตัวหนึ่งที่สามารถใช้ได้ คือ ยาโปแตสเซียมไอโอไดด์ ที่เรามีอยู่แล้ว เนื่องจากร่างกายคนเราสิ่งหนึ่งที่จะไวต่อสารพิษ หรือสารซีเซียม คือ “ไทรอยด์” ดังนั้น หากคนที่สัมผัส เราจะให้กินโปแตสเซียมไอโอไดด์ไว้เพื่อป้องกันการเกิดโรคไทรอยด์ เหมือนกับเหตุการณ์ฟุกุชิมะระเบิด อาสาสมัครคนไทยที่ไปช่วยเหลือครั้งนั้นเราก็ให้รับประทานโปแตสเซียมไอโอไดด์ไว้เป็นการป้องกันตัวเอง นอกจากนี้ ยาโปแตสเซียมไอโอไดด์ ยังนำมาใช้กรณีงานรังสีรักษาด้วย ดังนั้นจำนวนที่เรามีอยู่ในขณะนี้จึงเพียงพอ
เมื่อถามต่อว่าเมื่อมียาโปแตสเซียมไอโอไดด์แล้ว ยังจำเป็นต้องสำรองพรัสเซียนบลูหรือไม่ ศ.นพ.วินัย กล่าวว่า ตนก็มองว่ายังจำเป็น เพราะยา 2 ตัวนี้มีกลไกกันการทำงานคนละแบบ ซึ่งยาโปแตสเซียมไอโอไดด์นั้นจะกินก่อนสัมผัส เช่นเมื่อต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงกัมมันตภาพรังสี เพื่อไม่ให้กัมมันตภาพรังสีเข้าไปทำลายอวัยวะร่างกาย ส่วน พลัสเซียนบลู จะใช้เมื่อมีการสัมผัส หรือรับสารเข้าร่างกายแล้ว เช่น เผลอรับประทานอาหารที่มีสารซีเซียมเข้าไป ก็ให้รับประทานยาพลัสเซียนบลู เพื่อช่วยไม่ให้ร่างกายดูดซึมสารนี้เข้าสู่กระแสโลหิต
ข่าวเกี่ยวข้อง : คณะแพทย์ รามาฯ เผย ยาต้านพิษ Prussian blue ใช้รักษาภาวะพิษจากซีเซียม
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 184 views