ซีเซียมกับ ยาต้านพิษ Prussian blue
เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 66 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าว “ซีเซียม (Cesium, Cs-137) กับยาต้านพิษ พรัสเซียนบลู (Prussian blue)” โดย ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาและหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย ศูนย์พิษวิทยาและภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และผช.ศ.ดร.กฤศณัฏฐ์ เชื่อมสามัคคี ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ห้องประชุมชั้น B อาคารสุโขเพลส ถนนสุโขทัย
ผลกระทบต่อร่างกาย ซีเซียม
รศ.พญ.สาทริยา กล่าวถึงอันตรายต่อสุขภาพจากการได้รับสาร ซีเซียม ว่า ซีเซียม (Cesium, Cs-137) เป็นสารกัมมันตรังสี โดยเป็นไอโซโทปของซีเซียม มีค่าครึ่งชีวิต (half-life) ซึ่งหมายถึงความแรงของรังสี นานกว่า 30 ปี โดยประมาณ เมื่อสลายตัวจะปล่อยรังสีเบตาและรังสีแกมมา ผลกระทบต่อร่างกายจะขึ้นอยู่กับปริมาณของรังสี โดยความรุนแรงของรังสีต่อร่างกายจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ปริมาณของรังสีที่ได้รับ ระยะเวลาที่ได้รับ ส่วนของร่างกายที่ได้รับว่า แค่บางส่วนเท่านั้นหรือทั่วทั้งตัว ผลของร่างกายแบ่งได้เป็น 2 ระยะ ผลในระยะสั้น แบ่งเป็น ผลที่เกิดเฉพาะที่ (local radiation injury) เมื่อสัมผัสทางผิวหนังจะทำให้เป็น ผื่นแดง คัน บวม มีตุ่มน้ำหรือแผลเกิดขึ้น อาจพบว่าขนหรือผมร่วงได้ ส่วนผลต่อระบบอื่นในร่างกายที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน จะเกิดขึ้นเมื่อได้รับรังสีในปริมาณที่สูง เรียกว่า กลุ่มอาการเฉียบพลันจากการได้รับรังสีปริมาณสูง (acute radiation syndrome) พบอาการนำ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ถ่ายเหลว อาการดังกล่าวจะหายไปชั่วคราว 1-3 สัปดาห์ แล้วจึงส่งผลต่อ 3 ระบบหลักของร่างกาย ได้แก่
- ระบบโลหิต มีผลกดไขกระดูก ทำให้เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดงและเกร็ดเลือดต่ำลงได้
- ระบบทางเดินอาหาร มีผลทำให้คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ถ่ายเป็นเลือด
- ระบบประสาท ทำให้สับสน เดินเซ ซึมลง และชักได้โดยเฉพาะในรายที่รุนแรง
ยาต้านพิษ Prussian blue คืออะไร
ส่วนผลในระยะยาว หากได้รับรังสีจาก สารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 รศ.พญ.สาทริยา กล่าวว่า ในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและปริมาณสารที่ได้รับ ส่วนการรักษาด้วย ยาต้านพิษ Prussian blue นั้น สารนี้เป็นสารที่ให้สีน้ำเงิน จะพบเห็นการขายในอินเตอร์เน็ตเพื่อใช้ในการเขียนภาพ แต่ก็สามารถนำมาใช้เป็นยาต้านพิษที่ใช้ในการรักษาภาวะพิษจากซีเซียม ข้อบ่งชี้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีการปนเปื้อนซีเซียมภายในร่างกาย (Internal contamination) ตัวคนไข้ต้องได้รับการปนเปื้อนในร่างกายเท่านั้น ไม่ใช้ในการรักษาการปนเปื้อนทางผิวหนังหรือปนเปื้อนสารบนเสื้อผ้า
ทั้งนี้ กลไกการออกฤทธิ์หลักของ Prussian blue จะจับกับซีเซียมในลำไส้ ป้องกันไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ลดการดูดซึมจากทางเดินอาหาร ช่วยลดการดูดกลับของซีเซียมจากที่มีผลยับยั้งขบวนการดูดกลับจากทางเดินอาหารไปยังตับและขับออกมาทางน้ำดีกลับสู่ทางเดินอาหารอีกครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา (enterohepatic recirculation) แต่ ยาต้านพิษ Prussian blue ก็มีผลข้างเคียงในการใช้ยาได้ เช่น ท้องผูก ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ มีผลต่อสีอุจจาระ เยื่อบุ หรือฟันเปลี่ยนสี จึงไม่ควรซื้อมารับประทานเอง ไม่แนะนำให้ทานยาเพื่อป้องกัน เพราะต้องมีการตรวจวัดปริมาณรังสีภายในร่างกายก่อนว่ามากน้อยแค่ไหน ต้องใช้ ยาต้านพิษ Prussian blue หรือไม่ ในปริมาณเท่าไหร่ เนื่องจากการใช้ ยาต้านพิษ Prussian blue ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีในร่างกาย จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
ศ.นพ.วินัย เสริมด้วยว่า ยาต้านพิษ Prussian blue เป็นยาที่ใช้ต้านพิษโลหะหนักได้ด้วย ก่อนหน้านี้เคยมีสต็อค ยาต้านพิษ Prussian blue แต่ 20 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการใช้จนยาล็อตดังกล่าวหมดอายุ ขณะนี้ทางองค์การอาหารและยา หรือ อย. ได้เตรียมการจัดซื้อเพื่อเตรียมพร้อม สำรองยาเอาไว้ก่อน แม้ว่ายังไม่จำเป็นต้องใช้ในขณะนี้
ความรุนแรงของรังสีและการใช้ ซีเซียม
ด้านผช.ศ.ดร.กฤศณัฏฐ์ กล่าวถึงความรุนแรงของรังสีและการใช้ซีเซียมในโรงงานว่า ปัจจุบันมีการใช้ซีเซียมในโรงพยาบาล ความแรงที่ใช้จะน้อยมาก โดยใช้งานซีเซียมในการควบคุมคุณภาพเครื่องมือทางรังสีวิทยา ความแรงรังสีประมาณ 1/1000 ของซีเซียมที่เกิดเหตุ ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมจะใช้ซีเซียมสำหรับการวัดระดับ การวัดความหนาแน่น โดยโรงงานดังกล่าวใช้ซีเซียมสำหรับการวัดระดับขี้เถ้าว่ามากน้อยเพียงไหน ซึ่งการพบซีเซียมในเหตุการณ์ครั้งนี้มีค่าความแรงรังสี (activity) 41.4 mCi เมื่อเทียบกับความแรงรังสีเริ่มต้นวัดเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2538 อยู่ที่ 80 mCi หรือน้ำหนัก 0.000505 กรัม ประมาณ 505 ไมโครกรัม ซึ่งความแรงของรังสีจะลดลงตามธรรมชาติ ในทางอุตสาหกรรมถือว่าอยู่ในระดับต่ำ
หากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์สำคัญอย่างอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl) เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2529 ปริมาณรังสีซีเซียมคาดว่าปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม 27 กิโลกรัม ปริมาณรังสีมากกว่ากรณีที่เกิดเหตุ 56.76 ล้านเท่า หรือเทียบกับอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา (Fukushima Daiichi) เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2554 ปริมาณรังสีซีเซียมคาดว่าปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมมากกว่ากรณีนี้ถึง 11 ล้านเท่า หรือแม้แต่เหตุการณ์ โคบอลต์-60 เมื่อปี 2543 ที่จังหวัดสมุทรปราการ ความแรงรังสีที่ผ่าไปแล้ว มากกว่าครั้งนี้ถึง 1 พันเท่า พลังงานโคบอลต์-60 มากกว่าซีเซียมถึง 100 เท่า จึงมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
"โอกาสที่ซีเซียมจะแพร่กระจายออกมาสู่ภายนอกก็ไม่มากนัก เพราะซีเซียมจุดเดือดต่ำเมื่อเทียบกับเหล็ก อยู่ที่ 671 องศาเซลเซียส ถ้าเกิดการหลอม ซีเซียมจะระเหยเป็นไอและเป็นฝุ่นในห้องหลอม ไม่ปนเปื้อนเมื่อขึ้นรูปเป็นแผ่นเหล็กใหม่ แต่การล้างห้องหลอมหรือควันที่เกิดจากการหลอมก็ยังมีโอกาสปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมได้ ถ้าไอและฝุ่นในห้องหลอม ไม่ถูกจัดเก็บในระบบปิดและถูกจัดการให้เป็นกากกัมมันตรังสี อาจปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ปลิวไปในอากาศ สะสมในสิ่งแวดล้อมได้ แต่จากการแถลงข่าวของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ การหลอมเป็นระบบปิดและมีตัวกรองของเตาหลอม ถ้ามีการจัดเก็บฝุ่นในระบบปิด โอกาสที่รังสีซีเซียมปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมก็จะน้อย
ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวัง คือ คนทำงาน ผู้ปฏิบัติงาน ในบริเวณและช่วงเวลาที่เกิดเหตุ แต่รายงานค่าปริมาณรังสีในอากาศ ตัวอย่างดินรอบบริเวณยังมีค่าใกล้เคียงกับปริมาณรังสีพื้นหลัง หรือปริมาณรังสีที่พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ สำหรับการรับรังสีมี 2 ทาง 1.การรับรังสีจากภายนอก (external radiation hazard) ป้องกันโดยใช้หลัก TDS Rule (Time, Distance, Shielding) ใช้เวลาให้น้อย อยู่ห่างจากต้นกำเนิดรังสีให้มาก ใช้อุปกรณ์ในการกำบังรังสี หากซีเซียมที่หายถูกหลอมแล้วก็อย่าเข้าใกล้บริเวณที่เก็บฝุ่นรังสี 2.การรับรังสีจากแหล่งกำเนิดในร่างกาย (internal radiation hazard) เกิดได้จากการสูดหายใจหรือรับประทานสิ่งที่ปนเปื้อนซีเซียมเข้าสู่ร่างกาย" ผช.ศ.ดร.กฤศณัฏฐ์ ย้ำ
แนะประชาชนแจ้ง 1296 เมื่อพบวัตถุต้องสงสัย
อย่างไรก็ตาม ซีเซียมที่พบนั้นยังต้องใช้ระยะเวลาและวิธีการเฉพาะในการพิสูจน์ว่า ซีเซียมที่หายไปเป็นซีเซียมเดียวกับที่ถูกหลอมจริงหรือไม่ ผช.ศ.ดร.กฤศณัฏฐ์ เพิ่มเติมว่า การพิสูจน์ต้องใช้ความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางเคมี วัดปริมาณรังสีในฝุ่น เปรียบเทียบสารคงตัวในธรรมชาติเพื่อคำนวณว่า หายมานานเท่าไหร่แล้ว ดูจากปริมาณสารเพื่อคาดการณ์ว่าใช่ชิ้นเดียวกันหรือไม่ ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ประชาชนสังเกตป้ายสัญลักษณ์รังสีกรณีเจอวัตถุต้องสงสัย เมื่อพบวัตถุที่มีสัญลักษณ์ ป้ายเตือนทางรังสี ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สายด่วน 1296 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยกู้ภัยที่อยู่ใกล้เคียง ไม่ควรนำมาส่งคืน ไม่ควรพยายามพิสูจน์ด้วยตนเอง เพราะรังสีสามารถวัดได้ด้วยเครื่องวัดรังสีเท่านั้น แต่ควรปิดกั้นบริเวณเป็นระยะอย่างน้อย 30 เมตร ห่างจากวัตถุต้องสงสัย ห้ามบุคคลไม่เกี่ยวข้องเข้าในบริเวณ ถ่ายภาพจดจำลักษณะรายละเอียดเบื้องต้น ประสานและรอเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ ดำเนินการเก็บกู้วัสดุ
ผช.ศ.ดร.กฤศณัฏฐ์ ทิ้งท้ายว่า สำหรับความกังวล ไม่กล้ารับประทาน ผัก ผลไม้ เพราะกลัวว่าจะปนเปื้อนซีเซียมนั้น ขอย้ำว่า สามารถไปเที่ยวได้ ซื้อผักผลไม้ได้ตามปกติ มีความปลอดภัย ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ซีเซียม 137 คืออะไร สารกัมมันตรังสี อันตรายแค่ไหน
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 888 views