ห่วงใยประชาชน วิตกสัมผัส ซีเซียม–137
จากการสูญหายของวัตถุกัมมันตรังสี ซีเซียม – 137 จากโรงไฟฟ้าไอน้ำแห่งหนึ่งใน จ.ปราจีนบุรี ก่อนมีรายงานจากภาครัฐพบว่า วัตถุดังกล่าวได้ถูกหลอมจนกลายเป็นฝุ่นเล็กปนเปื้อนกัมมันตรังสี สร้างความกังวลด้านสาธารณสุขและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ไม่ได้อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก แต่อุบัติเหตุแบบนี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ก่อนหน้านี้ในประเทศไทยก็มีกรณีเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ที่ไม่ใช้แล้วถูกแยกชิ้นส่วนออกมา หรือแม้กระทั่งประเทศที่เจริญอย่างออสเตรเลียก็เกิดเหตุแคปซูลบรรจุซีเซียมหายเช่นกัน วันนี้จึงเป็นโอกาสที่เราจะเรียนรู้เรื่องนี้ เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ และการดูแลสุขภาพเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้
ดร.ผกากรอง กล่าวว่า ซีเซียมจะแผ่รังสีหลักๆ คือ แกมมา และ เบตา ดังนั้นการสัมผัสต้องรู้ว่าเราสัมผัสที่ตัวสารกัมมันตรังสี หรือสัมผัสรังสี ซึ่งผลจะต่างกัน ซึ่งหากสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 อาการที่พบคือ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ถ่ายเหลว ผิวหนังบริเวณที่โดนรังสีจะเกิดแผลไหม้พุพอง ในกรณีสัมผัสปริมาณมาก ส่งผลกระทบต่อระบบเลือด กดไขกระดูก ระบบประสาท ชักเกร็ง และอาจเสียชีวิตได้ แต่หากได้รับหรือสัมผัสรังสี เป็นปริมาณสูงๆ ระยะเวลานาน ก็มีโอกาสที่จะไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์ได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะเวลา ซึ่งเรายังไม่มีข้อมูลมากพอ แต่ถ้าสัมผัสบ่อยๆ ก็ไม่ดี จึงต้องมีระบบความปลอดภัยที่ตรวจสอบได้ อย่างเจ้าหน้าที่ ที่ใช้รังสี x-ray ในการวินิจฉัยความเจ็บป่วยก็ต้องมีเครื่องมือป้องกัน มีเครื่องวัดปริมาณรังสีติดตัว มีเครื่องตรวจวัดรังสีประจำห้อง
3 สมุนไพรป้องกันสารอันตราย ซีเซียม–137
สำหรับสมุนไพรที่จะนำมาช่วยได้นั้น ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า ในระยะหลังมีงานวิจัยสมุนไพรที่ใช้ป้องกันรังสี อยู่พอสมควร เพราะเรานำรังสีต่าง ๆ มาใช้ในทางการแพทย์ ทางอุตสาหกรรม และมีโอกาสที่ประชาชน จะรับเอารังสีพวกนี้เข้าไปในร่างกายอยู่บ่อย ๆ ซึ่งเป็นการศึกษาในเซลล์และสัตว์ทดลองเป็นส่วนใหญ่ งานวิจัยในคนน้อยมากอาจเป็นเรื่องของจริยธรรม ในเรื่องของการป้องกันซีเซียมนั้น มีงานวิจัยในหนู โดยใช้น้ำต้มมะขามป้อมที่มีวิตามินซี เทียบเท่าการบริโภคในคน 500 มิลลิกรัมต่อวัน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้วิตามินซีสังเคราะห์ และกลุ่มที่ไม่ให้อะไรเลย ต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วัน ก่อนที่หนูได้รับซีเซียมคลอไรด์ หรือเกลือของซีเซียม พบว่าหนูกลุ่มที่ไม่ได้อะไรเลย คือได้เพียงน้ำและอาหารปกติ มีความผิดปกติของโครโมโซมมากที่สุด ส่วนหนูที่ได้สารสกัดน้ำมะขามป้อมมีโครโมโซมผิดปกติน้อยที่สุด รองลงมาคือวิตามินซีสังเคราะห์แต่ในทางสถิติของกลุ่มนี้ไม่ต่างกัน ซึ่งการวิจัยในตอนนั้นที่ทำวิจัยในปี 1992 พบว่าฤทธิ์มะขามป้อมที่ช่วยต้านการทำให้โครโมโซมผิดปกติ มาจากวิตามินซี แต่ปัจจุบันพบว่าในมะขามป้อมมีสารอื่นๆ เช่น แทนนิน ฟลาโวนอยด์ ที่เป็นประโยชน์ในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านก่อการกลายพันธุ์
“นอกจากนี้สารสกัดมะขามป้อมยังมีการศึกษาฤทธิ์ป้องกันรังสี ทั้งรังสีแกมมา และ รังสีอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดความผิดของเลือดและค่าชีวเคมี ช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตในหนูที่ได้รับรังสี ลดผลกระทบจากรังสี เช่น น้ำหนักตัวที่ลดลงในหนูที่ได้รับรังสี การลดลงของเม็ดเลือดขาว การลดลงของเอนไซม์ที่ใช้กำจัดสารพิษ ป้องกันไมโตคอนเดรียและสาย DNA รวมถึง โครโมโซมด้วย ซึ่งสารสกัดที่ใช้ในงานวิจัยก็มีทั้งสารสกัดน้ำและแอลกอฮอล์ ซึ่งหากในอนาคตอยู่ในพื้นที่เสี่ยง จะกินเพื่อป้องกันอย่างไร ก็แนะนำกินแบบมะขามป้อมต้มน้ำ เพราะปลอดภัยกว่าแอลกอฮอล์สกัด ปัจจุบันข้อมูลโภชนากรพบว่า 100 กรัม หรือ 1 ขีด จะมีมะขามป้อมประมาณ 276 มิลลิกรัม ถ้าจะกินให้ได้สัก 500 มก - 1 กรัม/วัน ก็ให้กิน 2-4 ขีด ซึ่งก็ถือว่ามากพอสมควร ต้องระวังท้องเสียด้วยในคนที่ธาตุเบา อีกวิธีมีการผลิตแบบอายุรเวทที่เขียนในงานวิจัยว่า เอามาผลมะขามป้อม ผสมกับผง แล้วทำให้แห้ง ทำแบบนี้ 21 ครั้งจะมีวิตามินซีเพิ่มขึ้น 3 เท่า ก็อาจจะเลือกสมุนไพรอื่นที่ก็มีหลักฐานเช่นกัน” ดร.ผกากรอง กล่าว
ป้องกัน ซีเซียม–137 ด้วยมะขามป้อม ขมิ้นชัน บัวบก
นอกจากมะขามป้อมแล้ว ดร.ผกากรอง ยังบอกด้วยว่า ขมิ้นชัน ก็เป็นสมุนไพรอีกตัวที่มีสารสำคัญ คือ เคอร์คูมิน มีคุณสมบัติปกป้องเซลล์ มีฤทธิ์ลดการอักเสบของเซลล์และต้านอนุมูลอิสระที่ทำให้เซลล์เกิดความเสียหาย ลดอัตราการตายจากรังสี มีการศึกษาฤทธิ์ในการป้องกันรังสีรักษาของเคอร์คูมิน 3 กรัม/วัน ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก ก่อนได้รังสีไปจนถึงระหว่างให้รวม 3 เดือน จากงานวิจัยพบว่า ลดผลข้างเคียงจากรังสีรักษาได้เมื่อเทียบกับไม่ใช้ ซึ่งในภาคประชาชนจะใช้ขมิ้นชันนั้น อาจจะพิจารณาจากงานวิจัยอีกชิ้นที่พบว่า ขมิ้นชันมีเคอร์คูมินอยู่ 3.14% ดังนั้นหากจะกิน 3 กรัมจะต้องกินผงขมิ้น ประมาณ 100 กรัมหรือ 1 ขีด แต่ทั้งนี้ก็ต้องระวังในผู้ป่วย ท้องผูก หรือผู้ป่วยที่มีท่อน้ำดีอุดตัน หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
สมุนไพรอีกชนิดคือ บัวบก มีงานวิจัยว่าช่วยลดผลกระทบจากรังสี เช่น การรับรสที่ผิดไป และน้ำหนักตัวที่ลดลงในหนูที่ได้รับรังสี โดยมีกลไกในการปกป้องเซลล์ ทั้งระดับ DNA และโครโมโซม มีการวิจัยโดยการใช้สารสกัด ทั้งน้ำและแอลกอฮอล์ของบัวบก ยังไม่มีการศึกษาในคน แต่เมื่อเทียบงานวิจัยในหนูมาเป็นคน ก็กินบัวบกใบเล็กที่มีสารสำคัญทางยาสูงประมาณ 1 ขีด ปั่นกับน้ำสะอาด การกินต่อเนื่องต้องระวังความเย็นที่ทำให้ท้องอืดเฟ้อได้ การกินในงานวิจัยใช้ไม่เกิน 1-2 เดือน
อย่างไรก็ตาม ดร.ผกากรอง กล่าวว่า การวิจัยส่วนใหญ่เป็นการป้องกัน อาจนำมาใช้ในกรณีที่ ต้องเข้าพื้นที่เสี่ยง กินช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วหยุด แต่ทางที่ดีที่สุดคือไม่สัมผัส แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ สมุนไพรที่มีประวัติเป็นอาหารเหล่านี้ก็อาจเป็นทางเลือกได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : สธ.เผยผลตรวจเลือด 70 คนงานค่าปกติ รอผล "ซีเซียม" ในปัสสาวะ 2 สัปดาห์
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 2118 views