โรคสมองเสื่อม ภัยร้ายสังคมสูงวัย

ภายในเวลาอีกไม่ถึง 30 ปี สัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเท่าทวีคูณ สวนทางกับประชากรในวัยทำงานที่จำนวนมีไม่เพียงพอจะดูแลผู้สูงอายุ อีกทั้งโรคมากมายที่มาพร้อมกับความชรา ทั้งโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคที่สำคัญ คือ โรคสมองเสื่อม ที่คาดกันว่า ในเวลาอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีประชากรหลายล้านคนที่มี ภาวะสมองเสื่อม อย่างชัดเจน ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงจัดเสวนาวิชาการ เรื่อง สบายสมอง Strong & Healtht เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2566 ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น ปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อการนำไปสู่ โรคสมองเสื่อม อยู่ในสังคมสูงวัยแบบสุขภาพดี แข็งแรง ดูแลตนเองได้ไม่เป็นภาระลูกหลาน  

โรคสมองเสื่อม ไม่ใช่ภาวะปกติที่ทุกคนต้องเป็นตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายแก่ชรา แต่เป็นโรคที่ป้องกันได้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากโรคอัลไซเมอร์กว่าสองในสาม โรคเหล่านี้ก่อตัวในสมองตั้งแต่ช่วงที่มีสติปัญญาเฉียบแหลม ใช้เวลาพัฒนามากกว่า 15 ปี

"โรคสมองเสื่อม ภัยร้ายสังคมสูงวัย"

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย ต้องดูแลองค์รวมให้ดี โรคสมองเสื่อม จะใช้เวลาบ่มเพาะ 15-17 ปี ก่อนที่ร่างกายจะส่งสัญญาณแรกออกมา ผู้ป่วย โรคสมองเสื่อม จะเริ่มด้วยจำเรื่องที่ทำลงไปไม่ได้ เริ่มจำสิ่งที่พูดออกไปไม่ได้ การป้องกันตั้งแต่ก่อนเกิด ภาวะสมองเสื่อม ผู้สูงวัยบางราย ภายนอกที่เห็นดูดี แต่ภายในสมองและร่างกาย เริ่มก่อปัญหาของโรคแล้ว ภายนอกอาจดูว่าเป็นแค่นิดเดียว แต่ร่างกายภายในนั้นรุนแรงแล้ว เพราะร่างกายของผู้สูงวัยจะเกิดปัญหาจากร่างกาย เช่น กระดูก ข้อ หู ตา ระบบประสาท การกะระยะ การทรงตัว การกลืน สำลัก ความอึดเวลาใช้แรงออกกำลังกายก็น้อยลง หน้ามืด ความดันตกได้ง่าย ด้านสภาพจิตใจและสมองก็เช่นกัน สมองจะเชื่องช้า การรับมือกับสถานการณ์ อารมณ์จะจิตตกได้ง่ายขึ้น 

ตัวเร่งตัวร้ายที่มีผลต่อ โรคสมองเสื่อม 

"โรคสมองเสื่อม ภัยร้ายสังคมสูงวัย"

"ตัวเร่งตัวร้ายที่มีผลต่อ โรคสมองเสื่อม ได้แก่ กลุ่มโรคตัวร้ายสร้างความอักเสบภายในร่างกาย อ้วน เบาหวาน ความดัน ไขมัน เส้นเลือด โรคเหล่านี้ส่งผลต่อสมองได้ แม้แต่มลพิษในอากาศ PM 2.5 อาหารร้อนแรง กระบวนการปรุงแต่งอาหาร ล้วนมีผลต่อภายใน น้ำ อากาศ สารเคมี ก็เช่นกัน จึงต้องดึงตัวดีเข้ามาสร้างสุขภาพที่ดีให้กับร่างกาย เลือกผัก ผลไม้ ปลอดสาร ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล หลีกเลี่ยงการรับประทานยาหลายชนิด โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่หาหมอหลายโรค ต้องดูตัวยาด้วยว่าซ้ำซ้อนกันหรือไม่ หรือมีผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร เพราะร่างกายไม่ใช่สนามรบของยา ยาเป็นแค่ตัวช่วยบรรเทา รักษา ชะลอโรคได้ แต่การลงทุนสุขภาพด้วยตัวเอง ทำได้ไม่เสียสตางค์" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวและว่า การรับประทานอาหารเสริม วิตามินเสริมก็ต้องระวังเช่นกัน หากต้องการให้ร่างกายได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ การเดินรับแสงแดดเป็นประจำจะช่วยให้ชีวิตยืนยาว 

นอนนานตอนกลางวัน เร่งสมองเสื่อมได้

กลไกของการควบคุมการตื่นและหลับในร่างกาย เหมือนเป็นการเปิดปิดสวิตช์ โดยกลุ่มเซลล์สมองที่กระตุ้นให้ตื่นหรือเปิดสวิตช์ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ อธิบายว่า คนปกติจะงีบหลับกลางวันโดยเฉลี่ย 11 นาที คนที่นอนยาก ตื่นบ่อย ปลุกยาก จะเกี่ยวพันกับ โรคสมองเสื่อม พบว่า เมื่อถึงระดับสมองเสื่อมแล้ว ร่างกายจะงีบหลับกลางวันนานถึง 69 นาทีต่อวัน หากงีบหลับมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน หรือมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงพัฒนาเป็น โรคสมองเสื่อม มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ชายสูงอายุที่งีบหลับกลางวัน 2 ชั่วโมง จะมีสติปัญญาเสื่อมถอยมากกว่าคนที่งีบน้อยกว่า 30 นาทีต่อวัน การดูแลสุขภาพนอนให้ดี ดื่มน้ำมาก ๆ เป็นประจำ หมั่นออกกำลังกาย จะเป็นการดูแลสุขภาพเบื้องต้นเพื่อป้องกัน ภาวะสมองเสื่อม ได้ดี 

"โรคสมองเสื่อม ภัยร้ายสังคมสูงวัย"

"หากอายุเกิน 40 ปี ไม่ต้องกังวล เพราะสมองจะยกระบบสายไฟใหม่เป็นระบบอัจฉริยะ ให้พินิจพิเคราะห์ พิจารณาได้ช้าลง แต่เฉียบแหลมขึ้น เพียงเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังสม่ำเสมอ ก็จะช่วยป้องกันได้ เป็นการรักษาก่อนเกิด ร่างกายให้เวลาปรับตัว 10-15 ปี เพื่อให้อนาคตไม่ต้องรักษาโรค การออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องหักโหม เดินตากแดดให้ครบ 10,000 ก้าว ได้ยิ่งดี หรืออย่างน้อย ๆ ให้เพิ่มการเดินอีก 400 ก้าวทุกวัน การเดินเพิ่มวันละ 400 ก้าว จะลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ได้ หากเดินได้ 4,300 ก้าว ความเสี่ยงหัวใจจะลดลง แต่ถ้าทรงตัวเริ่มไม่ดี เดินไม่ค่อยไหว ให้ซื้อจักรยานมาปั่นที่บ้าน เลือกการปั่นเร็วจะช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน หากออกจากบ้านเป็นประจำได้ยิ่งดี ออกไปรำไทชิ รำไทเก็ก ไปหาเพื่อน พบปะสังสรรค์ ร้องคาราโอเกะ" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ย้ำ

ปรับพฤติกรรมเสริมสุขภาพต้าน ภาวะสมองเสื่อม สูงวัยต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต 

เรื่องอาหารการกินในทุกวันก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ แนะนำวิธีปรับพฤติกรรมว่า การดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนเป็นประจำอย่างเหมาะสมจะดีต่อสุขภาพ โดยสังเกตตัวเองว่า ดื่มมากไปหรือไม่หากมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ เมนูเครื่องดื่มสุขภาพ เช่น กาแฟดำใส่น้ำมันมะกอก หรือเลือกดื่มชาดำ ชาแดง ก็ดีต่อร่างกายสูงวัยเช่นกัน เลือกกินช็อกโกแลตที่มีปริมาณโกโก้สูงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ก็ช่วยได้ ผักผลไม้ต้องกินให้ได้ทุกมื้อ เพราะมีกากใยสูง อย่างพริกหวานจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์และโรคพาร์กินสันได้ เลือกรับประทานอาหารทะเลที่มีโอเมก้า-3 ปลาซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ หากรับประทานอาหารมังสวิรัติได้ยิ่งดี 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ส่วนพฤติกรรมที่มีผลต่อสมองต้อง ลด ละ เลิก ได้แก่ การรับประทานอาหารปิ้งย่าง โดยเฉพาะปิ้งย่างไหม้เกรียม ลดแป้ง น้ำตาล ไขมันในอาหาร ลดเนื้อแดงหรือกินไข่ไก่ในปริมาณที่เหมาะสม ห้ามสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ที่สำคัญ คือ หาทำกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ ให้ร่างกายแอคทีฟตลอดเวลา ไม่นอนงีบหลับบ่อย ๆ หรืองีบนาน ๆ 

"โรคสมองเสื่อม ภัยร้ายสังคมสูงวัย"

ทั้งนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ภายใต้การสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้ริเริ่มแผนพัฒนาเชิงรุกสบายสมองอินิชิเอทิฟส์ เปิดให้บริการการตรวจโรคอัลไซเมอร์จากเลือดด้วยเทคโนโลยี (SIMOA Single Molecule Array) เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งนอกจากการตรวจเลือดที่ระบุว่ามีโปรตีนก่อตัวแล้วหรือไม่ รุนแรงแค่ไหน ยังสามารถควบรวมกับการตรวจแบคทีเรียหลายพันล้านตัวในลำไส้จากการตรวจอุจจาระ นำไปสู่การปรับอาหาร ลดการอักเสบที่ทำร้ายร่างกายและสมอง 

ในระยะที่ยังไม่มีอาการ เซลล์สมองยังไม่สูญเสียมากนัก หากควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ส่งเสริมให้เกิด โรคสมองเสื่อม หรือตรวจพบโรคในระยะฟักตัว ก็จะมีประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว ไปจนถึงระบบสุขภาพของประเทศต่อไป

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : 

ชวนทำความรู้จัก “ภาวะสมองเสื่อม” หรือ โรคอัลไซเมอร์

 

ชี้ช่อง 5 วิธี ชะลอภาวะ "สมองเสื่อม" ในวัยชรา

สมองเสื่อมรับมือได้! สสส.สานพลังรับสังคมสูงวัย พัฒนานวัตกรรมความรู้ดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อม

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org