สูตินรีแพทย์เตือนผลกระทบบุหรี่ไฟฟ้า ส่งตรงสุขภาพแม่และเด็ก โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ เหตุมีรีวิวงานวิจัยต่างประเทศปี 2021 พบกระทบสุขภาพ 7 เท่าเมื่อเทียบกับแม่ที่ไม่สุบบุหรี่ไฟฟ้า ทำทารกแรกเกิดเสี่ยงน้ำหนักตัวน้อย 1 กิโลกรัม เหตุอยู่ตู้อบนาม โตขึ้นเสี่ยงพิการทางสมอง ขณะที่ไทยพบปัญหาหญิงไทยเชื่อผิดๆ ใช้สารเสพติดหวังคลอดง่าย พบปัญหาพื้นที่อีสาน เขตสุขภาพที่ 4

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ และโฆษกประจำตัวรมช.สาธารณสุข กล่าวถึงผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้ากับสุขภาพแม่และเด็ก ว่า ปัจจุบันมีงานวิจัยปี 2021 ซึ่งเป็นการรีวิวผลกระทบบุหรี่ไฟฟ้า ในต่างประเทศ พบว่า มีผลกระทบกับทั้งแม่และทารกในครรภ์ เด็กตัวเล็ก คลอดก่อนกำหนด เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพในอนาคต 7 เท่า เมื่อเทียบกับแม่ที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยอาจจะเกิดปัญหาได้ทั้งร่างกาย และสมอง เช่น คลอด มาด้วยน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เด็กต้องอยู่ตู้อบนาน เมื่อโตขึ้นมาเสี่ยงมีความพิการทางสมอง เรียนรู้ไม่ได้ตามปกติ เคลื่อนไหวไม่ได้ตามปกติ บางคนอาจจะตาบอดได้ นี่คือสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น และหากเป็นบุหรี่มวนก็มีผลกระทบเช่นกัน อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ ส่วนเด็กที่คลอดแล้วได้รับการกระตุ้นจากบุหรี่ไฟฟ้าในภายหลังก็มีความเสี่ยงเกิดปัญหาโรคปอดเพิ่มมากกว่าเด็กทั่วไป จึงขอย้ำบุหรี่ไฟฟ้านอกจากมีผลต่อผู้สูบ คนที่ได้รับควันมือ 2 ก็ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพเช่นกัน ตอนนี้ราชวิลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยมีการหารือว่าจะต้องมีการออกคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน

 

“สารที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับเด็กนั้น ณ  ปัจจุบันเรายังไม่รู้ทุกอย่าง แต่ที่มีผลแน่ๆ คือ นิโคติน และสารอีก 2 อย่างที่ทำให้การสูบบุหรี่มีรสชาติมากขึ้น โดยเมื่อเทียบกับคนไม่สูบนั้นมีผลแน่ๆ ต่อให้ที่ระบุว่าไม่เป็นแบบไม่มีนิโคติน นั้นในรีวิวก็มีข้อสงสัยว่าสารระเหยที่ออกมาอาจจะมีผลต่อรก ทำให้เกิดปัญหาจากแม่สู่ลูกได้ และไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ไฟฟ้า หรือบุหรี่มวนถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนั้น ไม่ว่าจะอย่างไรช่วงตั้งครรภ์ขอให้เลิกสูบ” นพ.โอฬาริก กล่าว

 

เมื่อถามว่าผลกระทบเกิดขึ้นเมื่อสูบต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งสูบเป็นครั้งคราวก็เกิดผลกระทบได้หรือไม่ นพ.โอฬาริก กล่าวว่า งานวิจัยในคนทำได้ยาก แต่ที่ผ่านมามีการวิจัยหลายรูปแบบ รูปแบบแรก มีการเอาเซลล์มนุษย์มาทำในหลอดทดลอง พบว่าเซลล์เกิดผลกระทบในหลอดทดลอง รูปแบบที่สอง คือ การทดลองในสัตว์ ก็พบว่าส่งผล แต่การวิจัยในมนุษย์ยังไม่ได้ทำการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่สูบ กับกลุ่มที่ไม่ได้สูบ อย่างไรก็ตาม หากเป็นผู้ที่สูบมาก่อนแล้วนั้น การเลิกสูบเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ว่าเป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย เพราะการได้รับควันมือ 2 ก็เกิดผลกระทบเช่นกัน

 

ทั้งนี้ รวมถึงการเลิกสารเสพติดประเภทอื่นๆ ด้วย เพราะเราเจอกลุ่มแม่ที่ใช้สารเสพติดเยอะพอสมควร โดยเฉพาะแถบอีสาน และเขตสุขภาพที่ 4 เพราะมีความเชื่อว่าเมื่อใช้สารเสพติดแล้วจะทำให้คลอดง่าย ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด สิ่งที่เจอคือ คลอดก่อนกำหนด เด็กต้องอยู่ไอซียู แม่บางคนเสียชีวิต ซึ่งมีมารดาเสียชีวิตเรื่อยๆ มักพบในผู้หญิงที่ใช้สารเหล่านี้ก่อนตั้งครรภ์ แต่ตัวเลขนั้นไม่ได้มีการรวบรวมเอาไว้ แม้ว่าจะในขั้นตอนฝากครรภ์จะมีการสอบถาม แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยบอกความจริง ซึ่งสารเสพติดที่พบว่ามีการใช้มากที่สึก คือยาบ้า ยาไอซ์  เป็นต้น อย่างเขต 4 เจอเยอะ จนต้องขอตรวจทุกคนได้หรือไม่ จริงๆ คิดว่าอาจเจอทุกเขตสุขภาพก็เป็นได้

ข้อมูลงานวิจัยอ้างอิงจาก :   https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8430837/

 

(ข่าวอื่นๆ : หมอสูติฯ ชี้กรณี “นิ่ม” ตัวอย่างแม่วัยใสท้องไม่พร้อม ปัญหาสังคมเรื่องใหญ่)