สคบ. เผยบุหรี่ไฟฟ้า จัดเป็นของลักลอบ การนำเข้าครอบครองจำหน่ายย่อมผิดกฎหมายทั้งหมด โดยเอาผิดได้  3 ข้อหา หากนำเข้าผิดกฎหมายกระทรวงพาณิชย์ หากขายผิดกฎหมาย สคบ. และหากครอบครอง ผิดกฎหมายศุลกากร

 

จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีการพกพา ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า เพราะอะไรถึงมีโทษหนัก ทั้งจำทั้งปรับ ล่าสุดนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส)  ยังออกมาพูดว่า  บุหรี่ไฟฟ้าเป็นวิถีชีวิตประชาชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีการใช้ แต่ก็ทำให้เกิดการลักลอบใช้ ลักลอบขาย ช่องทางทําให้เกิดธุรกิจผิดกฎหมาย เกิดส่วย เกิดการเรียกรับผลประโยชน์ เกิดการขายกันอย่างทั่วไป ไม่ใช่ออนไลน์เดียว  ตามตลาดขายกันทั่วไปหมดคิดว่า   ”ดัดจริต”  ควรเลิกและให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ที่โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพ นายเลิศศักดิ์ รักธรรม ผู้อำนวยการส่วนบังคับคดี หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ  สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  ได้เข้าร่วมภายในงานโฟกัสกรุ๊ปเรื่อง "สางปม บุหรี่ไฟฟ้า... หลากปัญหา รอวันแก้" ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส. )ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

โดยนายเลิศศักดิ์ กล่าวถึงประเด็นการบังคับใช้กฎหมาย ว่า กฎหมายไทยกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามทั้งการนำเข้า จำหน่ายหรือให้บริการ มีความผิด 3 ข้อหา  ประกอบด้วย

1.สคบ. มีคำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” ผู้ใดขายหรือให้บริการ โดยมีค่าตอบแทนรวมถึงการซื้อมาเพื่อขายต่อ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.ความผิดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุและพาหนะใดๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าบุหรี่ไฟฟ้าด้วย

3.มีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

นายเลิศศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนผู้ครอบครองหรือรับฝากไว้ มีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้น การจับกุมต้องบังคับใช้กฎหมายร่วมกันหลายหน่วยงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ  ที่ผ่านมาสคบ. ร่วมกับตำรวจ กรมควบคุมโรค ออกตรวจจับ โดยจับกุมผู้ขายในกทม. ที่ตลาดคลองถม 13 ครั้ง จับเท่าไรก็ไม่หมด หัวใจสำคัญคือต้องจัดการกับผู้นำเข้ารายใหญ่ และผู้ขายที่รับมาจากรายใหญ่แล้วกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยมีการลักลอบนำเข้ามาตามแนวชายแดนเป็นจำนวนมาก และขายในโลกออนไลน์ เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ โดยทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้ประชาชนว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมีทั้งโลหะหนัก นิโคติน และสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยลดการสูบบุหรี่มวนลง นอกจากนี้ จะเดินหน้าใช้กฎหมายฟอกเงินเพื่อดูเส้นทางการเงินเพื่อสาวให้ถึงต้นตอด้วย

นายเลิศศักดิ์ ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อมีกฎหมายควบคุม  สคบ.ก็ดำเนินการบังคับใช้ตามกฎหมายตลอด ขอยืนยันว่า สคบ.ทำงานโปร่งใส ไม่มีการรับผลประโยชน์ใดๆ อย่างที่ผ่านมาก็เคยมีคนจะให้ผลประโยชน์ แต่ไม่เคยรับ ดังนั้น ประเด็นเจ้าหน้าที่ที่เรียกรับผลประโยชน์นั้นก็ไม่ใช่ทั้งหมด  ซึ่งเรื่องเรียกรับหรือไม่ก็ต้องให้ความเป็นธรรม ตอนนี้ศาลยังไม่ตัดสิน

ส่วนประเด็นที่มีการพูดถึงว่า การมีกฎหมายโทษหนักเช่นนี้จะเป็นช่องทางเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่หรือไม่นั้น

“บุหรี่ไฟฟ้า เป็นหนึ่งในของลักลอบ โทษที่แรง คือ เรื่องของลักลอบ แต่จริงๆคนที่มีบุหรี่ไฟฟ้ามีช่องทางไม่ต้องกังวลเรื่องเจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์ เพราะช่องทางกฎหมายมีอยู่  อย่างให้ศุลกากรเปรียบเทียบไป อย่างสมมติซื้อมา 100 ก็จะถูกเรียกปรับไม่เกิน 4 เท่า สิ่งสำคัญจึงต้องให้ความรู้ตรงนี้ เรามีวิธีการระงับคดีได้” นายเลิศศักดิ์ กล่าว  

อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นของลักลอบ เจ้าพนักงานต้องยึดและเอาไปทำลายต่อไป ตรงนี้จะเป็นกระบวนการที่เจ้าหน้าที่จะใช้...

(ข่าวเกี่ยวข้อง : รวมข้อเท็จจริง! บุหรี่ไฟฟ้า...ไม่มีนิโคตินจริงหรือ...ช่วยเลิกบุหรี่มวนได้หรือไม่ )