5 หน่วยงานรัฐยืนยัน “บุหรี่ไฟฟ้า” มีไว้ในครอบครอง แม้ไม่นำเข้าถือว่าผิดกฎหมาย พร้อมแจงละเอียดยิบ  3 ข้อกฎหมายฝ่าฝืนมีโทษ ทั้งจำทั้งปรับ หากพบเบาะแสแจ้งได้ที่สายด่วน สคบ. 1166 (ในวันและเวลาราชการ) และ ผ่านระบบออนไลน์ ได้ที่ "ระบบร้องทุกข์ผู้บริโภค" หรือ แอปฯ "OCPB Connect "  ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งสถานีตำรวจในท้องที่ที่พบการขายบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งหากเป็นบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน ห้ามสูบพื้นที่สาธารณสุข มีโทษปรับ 5 พันบาท

 

กลายเป็นประเด็นขับเคลื่อนกันยกใหญ่หลังเกิดกรณีดาราชาวไต้หวันระบุว่าโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจปรับฐานพกพาบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า การจับกุมเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ และสรุปแล้วบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายในประเทศไทยหรือไม่อย่างไร จนช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงประเด็นดังกล่าวกันจำนวนมาก

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  จัดแถลงข่าว  “สร้างความชัดเจน กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า”  โดย 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมควบคุมโรค  สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร และกรมการค้าต่างประเทศ  

 

นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า  กรณีที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อต่างๆ จะมีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งประเด็นการสูบ การครอบครอง รวมถึงประเด็นการห้ามนำเข้า การห้ามขาย มีความผิดตามกฎหมายหรือไม่นั้น ที่ประชุม 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ข้อสรุปถึงความชัดเจนเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ดังนี้

1.กรณีผู้ขายหรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีคำสั่งที่ 9/ 2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า "บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า" ดังนั้น ผู้ใดขายหรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาเติม มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

2.กรณีผู้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า มีความผิดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่า ของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กับให้ริบบุทรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุ และพาหนะใดๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าบุหรี่ไฟฟ้านั้นด้วย นอกจากนั้นยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

 

3.กรณีผู้ครอบครองหรือรับไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้า อันเป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรจะมีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักร โดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามแม้จะไม่มีเจตนาหรือไม่รู้ว่าเป็นของมีความผิด ก็ต้องถูกริบให้ตกเป็นของแผ่นดินและนำไปทำลายตามกฎหมายของศุลกากร สคบ.จะดำเนินคดีกับผู้ลักลอบจำหน่าย หรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ หรือบารากู่ไฟฟ้าทุกราย หากผู้ใดพบเห็นการจำหน่ายหรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ หรือบารากู่ไฟฟ้า

สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน สคบ. 1166 (ในวันและเวลาราชการ) และ ผ่านระบบออนไลน์ ได้ที่ "ระบบร้องทุกข์ผู้บริโภค" หรือ โมบายแอปพลิเคชั่น "OCPB Connect " ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งสถานีตำรวจในท้องที่ที่พบการขายบุหรี่ไฟฟ้า

“ บุหรี่ไฟฟ้า  นับเป็นกลยุทธ์ของผู้ผลิต มีเป้าหมายคือ เด็กและเยาวชน มีวาทะกรรมว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย รวมไปถึงอ้างว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ ทางกรมควบคุมโรคขอยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้าถือว่ามีอันตรายชัดเจน ทั้งนี้ บุหรี่ไฟฟ้ามีแรงดึงดูดทำให้เยาวชน กลุ่มเปราะบางเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ได้ง่ายมาก ซึ่งการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าแพร่เร็วมาก ที่ผ่านมาจึงเสนอมาตรการการห้ามนำเข้า และมีมาตรการให้ความรู้เรื่องนี้ควบคู่กันไป”  ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กล่าว

 

นอกจากนี้ สำหรับพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ยังระบุห้ามสูบในสถานที่สาธารณะ โดยมีบารากู่ดั้งเดิม บารากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้า(หากมีสารนิโคติดเป็นสวนประกอบ)  โดยมีบทลงโทษ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท

 

ขอบคุณภาพจากเพจมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org