สภาเภสัชกรรมเชิญชวนผู้มีสิทธิบัตรทองมารับบริการคัดกรองประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรค 6 รายการที่ร้านยาได้ฟรี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แนะไม่ต้องรอให้ป่วย ถือบัตรประชาชนมาใบเดียว มองหาร้านยาที่มีสติ๊กเกอร์ “ร้านยาของฉัน ให้บริการสร้างเสริมสุขภาพ” แล้วรับบริการได้เลย

ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่ 2 กล่าวว่า สภาเภสัชกรรมขอเชิญชวนให้ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองมาเข้ารับการตรวจคัดกรองสุขภาพฟรี 6 รายการที่ร้านยาในเครือข่ายของ สปสช. อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้ทราบภาวะร่างกายว่าอยู่ในภาวะแบบไหน มีความเสี่ยงอะไร และต้องปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงอย่างไร ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสที่จะป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จนเสียชีวิตหรือต้องทานยาไปเรื่อย ๆ ตลอดชีวิต

ภก.ปรีชา กล่าวว่า 63% ของการเสียชีวิตของคนทั่วโลกเกิดจากโรค NCDs ขณะที่ตัวเลขของประเทศไทยอยู่ที่ 73% ถือว่ามากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ปัจจัยสำคัญอยู่ในช่วงวัยทำงานซึ่งเป็นวัยที่สะสมพฤติกรรมต่างๆ อันนำไปสู่โรค NCDs ด้วยเหตุนี้ สปสช. จึงมีนโยบายให้ร้านยาเข้ามาช่วยคัดกรองปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ ทั้งการสูบบุหรี่ การบริโภคหวานมันเค็ม ภาวะอ้วน การออกกำลังกาย เป็นต้น

ภก.ปรีชา กล่าวต่อไปว่า สำหรับบริการคัดกรองความเสี่ยงด้านสุขภาพจะแบ่งเป็นกลุ่มอายุ 15-34 ปี จะมีการคัดกรองดัชนีมวลกาย ความดันโลหิต คัดกรองความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งสารเสพติด ตลอดจนให้คำแนะนำเพื่อปรับพฤติกรรมลดปัจจัยเสี่ยง หรือบางคนต้องการเลิกบุหรี่ก็จะมีโปรแกรมการลดบุหรี่ให้

ขณะเดียวกัน คนวัยนี้อาจมีความเครียด/ซึมเศร้า ซึ่งนำไปสู่โรคซึมเศร้า ร้านยาก็มีแบบประเมินความเสี่ยงและให้คำแนะนำรายบุคคล รวมทั้งประสานงานส่งต่อพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

ในส่วนของช่วงวัย 35-59 ปี ก็คัดกรองแบบเดียวกัน แต่ที่เพิ่มขึ้นมาคือการคัดกรองความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวาน หากมีระดับน้ำตาลสูงก็จะออกรายงานใบส่งต่อเพื่อส่งต่อให้พบแพทย์ต่อไป รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งบางคนอาจมีภาวะบ่งชี้บางอย่าง เภสัชกรก็จะประเมินแล้วให้คำแนะนำปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคล

“ขอเชิญประชาชนมารับบริการ เพราะบางคนไม่เคยรับการคัดกรองความเสี่ยงด้านสุขภาพเลย การตรวจคัดกรองที่ร้านยาจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น และถ้าพบความเสี่ยงจะได้ให้คำแนะนำเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือส่งต่อให้แพทย์ดูแลต่อไป”ภก.ปรีชา กล่าว

สำหรับขั้นตอนการเข้ารับบริการนั้น ผู้มีสิทธิบัตรทองไม่ต้องรอให้มีอาการโรคก่อน สามารถมารับบริการได้เหมือนการตรวจร่างกายประจำปี โดยพกบัตรประชาชนมาใบเดียว ไปที่ร้านยาที่มีสติ๊กเกอร์ “ร้านยาของฉัน ให้บริการสร้างเสริมสุขภาพ” ติดอยู่หน้าร้าน เมื่อเข้าไปแล้วแจ้งความประสงค์ว่าต้องการมารับการตรวจคัดกรองความเสี่ยง จากนั้นร้านยาจะตรวจสอบสิทธิ หากเป็นสิทธิบัตรทองก็เข้าสู่กระบวนการคัดกรอง เช่น ซักประวัติ ถามอายุ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดรอบเอว วัดความดันโลหิต หากอายุมากกว่า 34 ปี ก็จะเจาะเลือดตรวจน้ำตาล และซักประวัติมากขึ้น

ทั้งนี้ นอกจากการตรวจคัดกรองโรคแล้ว ร้านยายังมีบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคอื่นๆ ทั้ง 1.บริการยาคุมกำเนิด 2.ยาคุมกำเนิดสำหรับสตรีที่ให้นมบุตร 3.ยาคุมฉุกเฉิน 4.ถุงยางอนามัย 5.ชุดตรวจการตั้งครรภ์ 6.ยาบำรุงครรภ์

“ตอนนี้อบรมเภสัชกรไปแล้ว 3,000 กว่าคน มีร้านยาเข้าร่วมประมาณ 600 แห่งทั่วประเทศ และยังมีอีกส่วนที่รอการอนุมัติจาก สปสช. คาดว่าในอนาคตจะมีร้านยาให้บริการได้ทั่วถึงทั่วประเทศ”ภก.ปรีชา กล่าว

ทั้งนี้ นอกจากบริการตรวจคัดกรองโรค ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคแล้ว ร้านยายังมีบริการอีกส่วนหนึ่งคือการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ ซึ่งจะมีสติ๊กเกอร์ว่า “ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย” ติดอยู่หน้าร้าน และส่วนมากร้านยาที่เข้าร่วมโครงการก็จะให้บริการทั้งการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยและส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคไปพร้อมๆกัน 

ปัจจุบันมีร้านยาที่ดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 680 ร้าน มีประชาชนเข้ามารับบริการประมาณ 3 หมื่นครั้ง และจากการสำรวจความพึงพอใจ พบว่าความพึงพอใจอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก เหตุผลเพราะเภสัชกรมีการซักถามอาการโรค จ่ายยา และมีการติดตามอาการ โดยที่ประชาชนไม่ต้องจ่ายค่ายา 

อนึ่ง ในอนาคตสภาเภสัชกรรมจะมีแอปพลิเคชัน “ร้านยาของฉัน” ให้ดาวน์โหลด เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ ค้นหาตำแหน่งร้านยาที่อยู่ใกล้ แจ้งสถานะเปิดหรือปิดร้าน แจ้งสถานะว่ามีเภสัชกรให้บริการหรือไม่ ร้านยานั้นให้บริการอะไรบ้าง รวมทั้งเป็นอีกช่องทางในการสะท้อนความคิดเห็นข้อเสนอแนะหรือข้อร้องเรียนมายังสภาเภสัชกรรมอีกช่องทางหนึ่งด้วย 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand