เสียงสะท้อน "การถ่ายโอนฯรพ.สต.พิษณุโลก" พบ จาก 200 คน มีขอโอนย้ายกลับ 1 คน เนื่องจากปัญหาส่วนตัว ที่เหลือยังมีความมั่นใจและมั่นคงปฏิบัติงานต่อภายใต้ อบจ.พิษณุโลก
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 66 นายชลิตร์ ชูวงศ์ ประธานมรม รพ.สต. 37 แห่ง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เผยว่า ด้วยปรากฏมีแพทย์ท่านหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาให้ข้อมูลว่า นับตั้งแต่การถ่ายโอน รพ.สต./สอน.เฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อ วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา ว่า มีเจ้าหน้าที่ขอย้ายกลับกว่า ๔๐% จากจำนวน ข้าราชการที่ถ่ายโอนมาทั้งหมด ประมาณ ๒๐,๐๐๐ กว่าคน นั้น ในส่วนของจังหวัดพิษณุโลก จำนวน รพ.สต.ที่ถ่ายโอนมาทั้งหมด ๓๗ แห่ง ข้าราชการและบุคลากร ทั้งหมดประมาณ ๒๐๐ คน มีขอโอนย้ายกลับ จำนวน ๑ คนเนื่องจากปัญหาส่วนตัว ที่เหลือยังมีความมั่นใจและมั่นคงที่จะปฏิบัติงานต่อภายใต้ร่ม อบจ.พิษณุโลก และในปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ยังมีขอถ่ายโอนเพิ่มมาอีก จำนวน ๑๐ รพ.สต.
นอกจากนี้ยังมีข้าราชการที่ปฏิบัติงาน ในโรงพยาบาลพุทธชินราช และโรงพยาบาลชุมชน รวมถึงที่ปฏิบัติงานอยู่ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกจำนวนหนึ่งขอสมัครใจถ่ายโอนมาปฏิบัติงานที่รพ.สต.ที่ได้ถ่ายโอนมาในปีงบประมาณ ๒๕๖๖ ทั้ง ๓๗ แห่งอีกด้วย แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาคัดค้าน ด้วยเหตุผลต่างๆนานา เพื่อสกัดการไหลออกของเจ้าหน้าที่ รวมถึงอ้างข้อขัดข้องเรื่องการโอนเงินจากโรงพยาบาลแม่ข่ายให้กับหน่วยบริการที่ถ่ายโอน ว่าอยู่คนละกระทรวงไม่สามารถโอนข้ามกระทรวงได้ การไม่คุ้มครองด้านการรักษาพยาบาลเบื้องต้นให้แก่ รพ.สต.ที่ถ่ายโอน รวมถึงการสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ขัดขวางกฎหมายกระจายอำนาจ
นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลที่บิดเบือนแก่บุคลากร ที่จะถ่ายโอน ว่าไปอยู่กับท้องถิ่นแล้ว การขึ้นเงินเดือน การได้รับสวัสดิการต่างๆจะลดลง ไม่ก้าวหน้าในตำแหน่งอย่างที่คาดหวัง แถมยังไปให้ข้อมูลเรื่องงบประมาณที่ รพ.สต.ถ่ายโอนจะได้รับ จากสำนักงบประมาณตามมติของคณะกรรมการกระจายอำนาจ ตามขนาด SML จาก ๑ ล้าน/๑.๕ ล้าน/๒ ล้านบาท จนเหลือเพียง ๔ แสน/๖.๕ แสน/ ๑ ล้าน ในปีงบประมาณ ๒๕๖๖ จากเหตุผลดังกล่าวมา ทำให้เห็นได้ว่า ต้นเหตุปัญหาที่ทำให้การถ่ายโอนฯไม่ราบรื่นเท่าที่ควรเพราะกระทรวงสาธารณสุขไม่มีความจริงใจในการดำเนินการและไม่สนับสนุนในการถ่ายโอน เพราะกลัวสูญเสียอำนาจในการบริหารและขาดหน่วยงานที่คอยรับใช้ในการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัดงานที่แต่ละกรม/กอง/ศูนย์วิชาการต่างๆได้กำหนดเป็นผลงานให้แก่ รพ.สต.นำมาปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุผลงานของแต่ละหน่วยงานดังกล่าว
ซึ่งโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเองซึ่งมีแพทย์ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารไม่ปฏิบัติตาม ตัวชี้วัดที่กระทรวงกำหนด แต่ติดตามงานมาทาง สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ จนถึงหน่วยบริการ รพ.สต. ซึ่งรพ.สต.เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่มีภารกิจดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ ด้านส่งเสริมสุขภาพ ฟื้นฟูสมรรถภาพ และป้องกันโรค เป็นหลัก และมีงานด้านรักษาพยาบาลเบื้องต้นเป็นงานเสริมเท่านั้น แต่ต้องมาทำงานตามตัวชี้วัดกระทรวงที่ไม่ตอบโจทย์ในเรื่องสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เท่าที่ควร และในด้านการบริหารบุคคลที่มีชนชั้นและเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมาก เพราะมีหลายวิชาชีพ ทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล ฯ แต่มีเพียงแพทย์เท่านั้นที่เติบโตในตำแหน่งหน้าที่และได้รับผลประโยชน์ทางการเงินมากที่สุด
แต่ในส่วนบุคลากรที่ปฏิบัติงานใน รพ.สต.ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ไม่ชัดเจนในการก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่และผลประโยชน์ทางด้านการเงิน จึงเป็นเหตุที่สมัครใจถ่ายโอนมา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่มีงบประมาณที่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน มีกรอบอัตรากำลังที่ชัดเจนและครบถ้วนตามกรอบทุกตำแหน่ง มีความก้าวหน้าตามตำแหน่งหน้าที่ที่สามารถเติบโตได้โดยไม่มีข้อจำกัด สวัสดิการเดิมที่ได้รับไม่น้อยกว่าเดิมและจะได้รับมากขึ้นจาก อบจ.ที่มีการจ่ายเงินรางวัลประจำปี(โบนัส) ตามผลการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัดของ อบจ.
นอกจากนี้การปฏิบัติงานด้านสร้างเสริมและส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพ แก่ประชาชนสามารถทำได้อย่างเต็มที่ ตามหลักวิชาชีพและองค์ความรู้ทางวิชาการที่ได้เรียนรู้มา โดยไม่มีข้อจำกัด จากภาระงานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดมา และดูแลสุขภาพของประชาชนตามบริบทของพื้นที่อย่างแท้จริง เพราะเราทำงานกับประชาชน ไม่ต้องทำงานเพื่อตอบตัวชี้วัดต่างๆที่สั่งการมาจากผู้บริหารระดับกระทรวง
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องปรับแนวคิดและบทบาทใหม่ที่ต้องออกนโยบายระดับชาติ ด้านสุขภาพ เพื่อให้หน่วยงานด้านสุขภาพ หน่วยบริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลต่างๆนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติเท่านั้น รวมถึงรวบรวมข้อมูลสุขภาพ จากหน่วยงานดังกล่าวเพื่อรายงานให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ และในการถ่ายโอนภารกิจ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ นวมินทราบรมราชินี ๖๐ พรรษาและ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ครั้งนี้และในปีต่อๆไป กระทรวงสาธารณสุขต้องสนับสนุนให้ถ่ายโอนครบถ้วน ทุก รพ.สต.หยุดพฤติกรรมขัดขวางต่างๆ หันมาช่วยปรับปรุง แก้ไข ในสิ่งที่ยังขัดข้องให้การถ่ายโอนเป็นไปด้วยความราบรื่นต่อไป
รพ.สต.ในจังหวัดพิษณุโลก ทั้ง ๓๗ แห่ง จึงขอยืนยันว่าตั้งแต่ได้รับการถ่ายโอนมาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เรามั่นใจในการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งสนับสนุนงานด้านบริการปฐมภูมิในทุกๆด้าน เช่นความก้าวหน้าในวิชาชีพ ด้านการเงินการคลังและการสรรหาบุคลากรครบตามกรอบอัตรากำลัง เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านสุขภาพแก่ประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
-สธ. เดินหน้าศึกษาหาทางออกช่วย "บุคลากรสาธารณสุข" ถ่ายโอนไป อบจ.กว่า 40% ขอย้ายกลับ
-สธ.เผย บุคลากร รพ.สต.ถ่ายโอนไป อบจ. ส่วนหนึ่งขอย้ายกลับ พร้อมเหตุผลหลายประการ
-“อนุทิน” ตอบปมปัญหาบุคลากรถ่ายโอนไป อบจ. ชี้เป็นหน้าที่ปลัดสธ.บริหารจัดการ
- 1402 views