โอน "รพ.สต.พลายชุมพล" สู่เทศบาล กระจายอำนาจแห่งที่สองพิษณุโลก นพ.สสจ.ระบุใช้ MOU เพิ่มความมั่นใจการดำเนินภารกิจด้านสาธารณสุข
นพ.ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยถึงการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) และส่งมอบถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) พลายชุมพล ให้กับเทศบาลตำบลพลายชุมพล ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ที่กำหนดให้มีการถ่ายโอนภารกิจของภาครัฐไปยังหน่วยงานท้องถิ่น
นพ.ปิยะ ระบุว่า รพ.สต.พลายชุมพล เป็น รพ.สต.แห่งที่สองในจังหวัดพิษณุโลก ที่มีการถ่ายโอนไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลังจากที่ รพ.สต.สมอแข ได้มีการถ่ายโอนไปก่อนหน้านี้ในปี 2555 ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะถูกถ่ายโอนนอกจากทรัพยากร คือภาระหน้าที่ในการดูแลประชาชนทางด้านสุขภาพ ทั้งการรักษา ส่งเสริม และป้องกัน ตามภารกิจที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เคยทำ
"MOU นี้จึงเป็นการสร้างหลักประกัน สร้างความมั่นใจร่วมกันว่าเมื่อมีการถ่ายโอนไปแล้ว ท้องถิ่นจะยังคงดำเนินตามนั้น ซึ่งตามที่เรียกกันว่าการกระจายอำนาจ อาจทำให้ตั้งต้นมองเป้าหมายกันผิด เหมือนกับว่าใครจะมาได้อำนาจไป ถ้าจะให้ถูกคือการกระจายความรับผิดชอบต่อประชาชน เพราะไม่ว่าใครจะเป็นเจ้าของ ผลสุดท้ายก็ต้องคำนึงถึงภารกิจคือประโยชน์ของประชาชน" นพ.ปิยะ กล่าว
ในส่วนของกระบวนการขั้นตอนถ่ายโอน ภายหลังที่ท้องถิ่นแสดงความจำนงค์แล้ว จะมีคณะกรรมการลงไปประเมินความพร้อมของท้องถิ่นที่ขอ ว่ามีความพร้อมให้บริการสาธารณสุขตามหลักเกณฑ์หรือไม่ เมื่อผ่านการประเมินและได้รับความเห็นชอบจาก สธ. แล้ว ก็จะเริ่มโอนถ่ายทรัพย์สิน อาคาร สถานที่ บุคลากรต่างๆ ซึ่ง รพ.สต.พลายชุมพล ได้ผ่านขั้นตอนเหล่านี้เรียบร้อยแล้ว
นพ.ปิยะ กล่าวว่า ข้อกังวลหนึ่งของการถ่ายโอนบริการสุขภาพ คือความแตกต่างกับการให้บริการทั่วไปด้านอื่นๆ เพราะรูปแบบของการให้บริการด้านสาธารณสุข จะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ และการยืนอยู่บนพื้นฐานทางวิชาการเป็นอย่างมาก เช่น หากมีโรคระบาด การบริการจะไม่ใช่เพียงการฉีดพ่น ฆ่าเชื้อ แต่ต้องเข้าใจการกระจายของโรค ซึ่งบางกิจกรรมอาจต้องอาศัยการควบคุมที่เป็นสภาพบังคับกับประชาชน
นพ.ปิยะ กล่าวอีกว่า ในส่วนกรณีของการดำเนินงานด้านสุขภาพ เช่น เมื่อมีคนไข้เจ็บป่วยเยอะ เรียกร้องการเสริมเตียง การจ่ายยา หรือเครื่องไม้เครื่องมือที่มากขึ้น ซึ่งในหลักวิชาการอาจบอกว่าสิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นเพราะจะสูญเสียทรัพยากรโดยใช่เหตุ กรณีเช่นนี้จึงน่าห่วงว่าหากเป็นหน่วยงานที่ต้องการได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชน หากผู้คนต้องการอะไรก็จะทำให้หรือไม่
"ส่วนตัวมองว่าการถ่ายโอนสู่ท้องถิ่นอาจมีข้อดีในแง่การตอบสนองต่อประชาชนได้เร็วขึ้น ในส่วนที่ระบบราชการอาจตอบสนองได้ไม่เร็วพอ แต่ก็มีข้อควรระวังที่จะต้องคำนึงถึงในการให้บริการสุขภาพ ที่จะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานทางวิชาการมากพอสมควร ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ก็จะกลายเป็นไปทำงานเรื่องการตอบสนองหมดเลย หากเทศบาลไหนทนเสียงเรียกร้องไม่ได้ เช่น คนอยากให้มีเครื่อง MRI ก็ไปซื้อมา สุดท้ายอาจเป็นการใช้ทรัพยากรประเทศชาติที่มากเกินไป จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการมี MOU เพื่อทำความเข้าใจและให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้น" นพ.ปิยะ กล่าว
ขอบคุณภาพจาก Facebook สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก
- 351 views