สสส.หนุน รพ.สต.บ้านวังมะด่าน จ.พิษณุโลก “ต้นแบบเลิกบุหรี่แบบหักดิบ” ภายใต้โครงการ “3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” ชี้ บุหรี่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ 74.9 พันล้านบาท เผย 6 เดือน ยอดสมัครเลิกบุหรี่กว่า 2 แสนคน ด้าน ผอ.รพ.สต.บ้านวังมะด่าน ฉายา “หมออนามัยหักดิบ” ประกาศเลิกสูบตลอดชีวิต ท้าชวนดื่มน้ำสาบานเลิกบุหรี่ทั้งหมู่บ้าน ชี้ “การหักดิบ” เลิกบุหรี่ได้สำเร็จเร็วกว่าลดปริมาณการสูบ
นายมงคล เงินแจ้ง (ซ้าย) นพ.บัณฑิต ศรไพศาล (ขวา)
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวภายหลังร่วมกิจกรรม “ท้าชวนดื่มน้ำสาบานเลิกบุหรี่แบบหักดิบทั้งหมู่บ้าน” ภายใต้โครงการ “3ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” ที่ รพ.สต.บ้านวังมะด่าน อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ว่า บุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดโรคมากมาย จากการประมาณการความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ จากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์คิดเป็นค่าใช้จ่ายสูงถึง 74.9 พันล้านบาท คิดเป็น 0.78 ของ GDP เป็นค่าใช้จ่ายตรงทางการแพทย์ 11,473 ล้านบาท การสูญเสียผลิตภาพจากการตายก่อนวัยอันควรเท่ากับ 61,219 ล้านบาท การสูญเสียผลิตภาพจากการขาดงานของผู้ป่วย 731 ล้านบาท
เพื่อลดความเสียหายที่เกิดจากบุหรี่ สสส.จึงได้ริเริ่มโครงการ “3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” เป็นความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย มูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย สมาคมหมออนามัยสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย มาร่วมทำความดี ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้วยการชักชวน เชิญชวน ท้าชวนให้เลิกสูบบุหรี่พร้อมลงชื่อสมัครใจเลิกบุหรี่ภายใต้ชื่อ “รวมพลคนรักษ์สุขภาพ (สร้างนำซ่อม)” โดยใช้กลไก “เครือข่ายหมออนามัยและ อสม.” ซึ่งกระจายอยู่ทุกตำบลและหมู่บ้านทั่วประเทศ และเป็นกลุ่มคนที่มีจุดแข็งคือ ใกล้ชิดประชาชนในระดับพื้นที่มากที่สุด สามารถขับเคลื่อนการทำงานรณรงค์เลิกบุหรี่ เลิกเหล้า ในระดับตำบล และระดับหมู่บ้าน
นพ.บัณฑิต กล่าวต่อว่า คณะทำงานวิชาการโครงการ 3 ล้านฯ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติ 9 ข้อ ให้แก่ เครือข่ายหมออนามัย และ อสม. เป็นแนวทางการทำงาน ดังนี้
1.ค้นหา สำรวจและจำแนกเป้าหมายคนที่จะชวนให้เลิกสูบ
2.หาแรงจูงใจเพื่อชวนให้ตัดสินใจเลิกสูบเด็ดขาด
3.ให้ข้อมูลด้านลบของการสูบบุหรี่
4.แนะนำให้ปฏิบัติเทคนิคการเลิกสูบที่ง่ายและได้ผล
5.แนะนำอุปกรณ์ที่ช่วยให้เลิกสูบได้ง่ายขึ้น
6.ติดตามเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ
7.ทำกิจกรรมสนับสนุนการเลิกสูบ
8.แนะนำบริการช่วยเลิกบุหรี่
และ 9.จัดกิจกรรมชื่นชมเชิดชู
ทั้งนี้ จากการดำเนินงานกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา (ส.ค.59-14 ก.พ.60) มียอดรวมผู้สมัครใจเลิกสูบบุหรี่ ทั้งผู้ลงนามออนไลน์ที่สมัครด้วยตัวเองและจากเครือข่ายฯ 7 จังหวัดทั่วประเทศ รวม206,287 คน
“สสส.เห็นถึงศักยภาพของเครือข่ายหมออนามัย อสม. ในการควบคุมยาสูบและดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ โดยช่วยคัดกรอง แนะนำให้เลิก ป้องกันการกลับไปสูบซ้ำ ป้องกันเด็กและเยาวชนจากการสูบบุหรี่ และช่วยกันเฝ้าระวังกลยุทธ์ต่างๆ ของบริษัทบุหรี่ในพื้นที่ได้ โดยเน้นการสร้างกิจกรรมรณรงค์มุ่งให้ข้อมูลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และกิจกรรมลงมือทำมุ่งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยกระบวนการกลุ่ม ซึ่งตัวอย่างของชุมชนบ้านวังมะด่าน อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก คือการตั้ง “กลุ่มคนเลิกบุหรี่ร่วมกัน” เพื่อพัฒนาไปสู่การสร้างบุคคลตัวอย่างเลิกสูบบุหรี่ ขยายไปสู่ชุมชนต้นแบบที่สามารถเผยแพร่ไปยังชุมชนอื่นได้” รองผู้จัดการ สสส.กล่าว
นายมงคล เงินแจ้ง ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านวังมะด่าน อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก หมออนามัยเลิกสูบบุหรี่ ฉายา “หมออนามัยหักดิบ” ผู้ประกาศเลิกสูบบุหรี่คนแรกของโครงการ 3 ล้าน 3 ปีฯ กล่าวว่า จังหวัดพิษณุโลกมีผู้สมัครใจเลิกบุหรี่เข้าร่วมโครงการ “3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” แล้ว 1,028 คน เฉพาะในพื้นที่ อ.พรหมพิราม 122 คน หรือ ร้อยละ 11.87
ซึ่งกลยุทธ์สำคัญของการเลิกบุหรี่ที่นำมาใช้คือ “การหักดิบ”เพราะหากมีจิตใจที่เข้มแข็งก็จะสามารถเลิกบุหรี่ได้ประสบผลสำเร็จและเลิกได้เร็วกว่าการค่อยๆ เลิกโดยการลดปริมาณการสูบ สำหรับกรณีบางรายที่ไม่สามารถใช้วิธีหักดิบได้ จะมีคลินิกเลิกบุหรี่ช่วยให้คำปรึกษา ส่วนกิจกรรมรณรงค์ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่
นายมงคล กล่าวต่อว่า วิธีการที่นำมาใช้คือการหากลุ่มคนที่สนใจและสมัครใจอยากเลิกบุหรี่มาเข้าร่วม โดยมีกิจกรรมเด่นที่ใช้ขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จ ได้แก่
1.การท้าชวนดื่มน้ำสาบานเลิกบุหรี่ทั้งหมู่บ้าน (1 คนท้าชวน 1 คนที่สูบให้เลิกสูบ = 1 คน เลิกสูบแล้ว ท้าชวน 1 คนเลิกสูบ ต่อเนื่องไป = 1 ทวีคูณ)
2.การจัดรายการวิทยุออนไลน์ทั่วโลก ให้ความรู้/แลกเปลี่ยนกับผู้มีประสบการณ์การเลิกบุหรี่
3.จัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติ คนชวนคนเลิกสูบบุหรี่ + คนเลิกสูบบุหรี่ต้นแบบในระดับจังหวัด และจัดระบบการป้องกัน
4.การให้กำลังใจ และการป้องกันการกลับไปสูบซ้ำ
5.การจัดเก็บข้อมูลผู้เข้าร่วมกิจกรรมเลิกสูบบุหรี่และรายงานผลอย่างต่อเนื่องผ่านระบบ LRM (Line report management) ซึ่งจะมีการประเมินผลหากสามารถเลิกบุหรี่ได้เกิน 6 เดือน ถือว่าเลิกได้สำเร็จ
“ผมสูบบุหรี่มาตั้งแต่อายุ 19 ปี สูบมาแล้วรวม 36 ปี สาเหตุที่สูบเพราะตามเพื่อน ค่านิยมของคนยุคนั้น มีพื้นที่สูบ หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง ส่วนเหตุผลที่ทำให้อยากเลิก คือ รู้ ต้องการเอาชนะใจตัวเอง อายุมากแล้ว พื้นที่ในการสูบมีจำกัด เป็นที่รังเกียจของสังคม ราคาบุหรี่แพงขึ้น อยู่ในสังคมแบบไม่มั่นใจ ที่สำคัญคือ ผมได้รับรู้ข้อมูลสูบบุหรี่ไม่ดีต่อสุขภาพ จึงได้เข้าร่วมโครงการประกาศเลิกบุหรี่ตลอดชีวิตกับ สสส. ต้องการเป็นตัวอย่างและเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ผมมั่นใจว่าผลและทุกคนจะเลิกสูบได้ ถ้ามีจิตใจที่เข้มแข็งซึ่งหลังจากเลิกสูบ ผลดีที่ได้ คือ สุขภาพร่างกายดีขึ้น จิตใจ อารมณ์ดีขึ้น เข้าสังคมได้อย่างมั่นใจ ได้รับคำชื่นชมจากคนรอบข้างและสามารถเป็นแบบอย่างกับคนอื่นได้” ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านวังมะด่าน กล่าว
ทั้งนี้ โครงการ 3 ล้าน 3 ปีฯ กำหนดเป้าหมายให้มีผู้เลิกสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องทั่วประเทศในเวลา 3 ปี (ปี 2559-2562) หรือตลอดชีวิตให้ได้ 3 ล้านคน โดยปีแรก จำนวน 560,000 คน และในปีที่ 2 (มิ.ย. 60– พ.ค. 61) จำนวน 2 ล้านคน (นับต่อยอดจากปีที่ผ่านมา) และปีที่ 3 (มิ.ย. 61– พ.ค. 62) จำนวน 3 ล้านคน
- 122 views