ภาคประชาสังคมจี้รัฐติดเบรคโครงการสอนขี่มอเตอร์ไซค์ในโรงเรียนทั่วประเทศหลังปภ.ทำหนังสือขอสนับสนุนวิทยากรจากบริษัทและร้านขายรถจักรยานยนต์ทุกจังหวัด หวั่นทำเด็กไทยตายพุ่ง
ภายหลังจากที่ครม.กำหนดให้วันที่ 21 ม.ค. ซึ่งเป็นวันเสียชีวิตของแพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล (หมอกระต่าย) ของทุกปีเป็นวัน "วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน" เพื่อให้บทเรียนความสูญเสียนำไปสู่การรณรงค์จริงจังเพื่อลดความสูญเสีย ถึงขนาดที่เพจเฟซบุ๊คของนายกรัฐมนตรี ที่ใช้ชื่อว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ได้ลงข้อความรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว ว่า พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 21 ม.ค.ของทุกปี เป็น “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน” เพื่อสร้างความตระหนักในสังคมและสร้างวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัยสำหรับผู้สัญจรทุกคน ทั้งผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร รวมทั้งผู้ใช้ทางม้าลาย ที่นอกจากจะต้องเคารพกฎหมายและมีวินัยจราจรอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังต้องมีน้ำใจสำหรับทุกคนบนท้องถนนอีกด้วย
โดยในการกำหนดให้วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน ตรงกับวันที่ "21 มกราคมของทุกปี" นั้น เป็นความเห็นพ้องต้องกันของภาครัฐและภาคประชาชน ได้แก่ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.), มูลนิธิเมาไม่ขับ และครอบครัวแพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล (หมอกระต่าย) ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากการสูญเสีย "หมอกระต่าย" ที่ถูกรถชนขณะข้ามทางม้าลายเมื่อปีที่ผ่านมา
โดยหวังให้เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นอุทาหรณ์ นำไปสู่การรณรงค์อย่างเอาจริงเอาจังเพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน และปลูกจิตสำนึกให้ผู้สัญจรทุกคน มีวัฒนธรรมความปลอดภัย เช่น เคารพกฎและไฟสัญญาณจราจร, หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย, ชะลอเมื่อถึงทางแยก และลดความเร็วเมื่อเข้าเขตโรงเรียน เป็นต้น ในโอกาสนี้ ผมขอเชิญชวนผู้ใช้รถใช้ถนนทุกท่าน ร่วมกับเครือข่าย "เมาไม่ขับ" รณรงค์สร้างวินัยจราจร มีน้ำใจบนท้องถนน และมีสติทุกเมื่อในระหว่างการเดินทางครับ
ข้อความดังกล่าวสร้างความดีใจและมีผู้เข้าไปคอมเมนต์ขอบคุณนายกรัฐมนตรีเป็นจำนวนมากที่เห็นความสำคัญของความปลอดภัยบนท้องถนนซึ่งประเทศไทยครองแชมป์อันดับ 1 ของอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์มากที่สุดในโลก คือ เสียชีวิต 1 คนในทุกๆ 37 นาที ล่าสุด พญ.ชไมพันธ์ สันติกาญจน์ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัยและอดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ ได้ออกมาเปิดเผยถึงการที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่มท.0607/11451 ถึงผู้บริหารบริษัทผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ขอสนับสนุนวิทยากรฝึกอบรมเยาวชนขับขี่ปลอดภัย
โดยหนังสือดังกล่าว ระบุว่า กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยมีกำหนดดำเนินโครงการฝึกอบรมเยาวชนขับขี่ปลอดภัยเสริมสร้างวินัยจราจรและป้องกันอุบัติภัยในโรงเรียน ประจำปีงบประมาณ 2566 ในพื้นที่ 76 จังหวัด จังหวัดละ 2 รุ่นในห้วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2566 โดยหนังสือดังกล่าวได้ขอความร่วมมือจากบริษัท และร้านขายจักรยานยนต์ในพื้นที่ทั่วประเทศให้สนับสนุนวิทยากรให้เข้ามาร่วมดำเนินการในโครงการดังกล่าว
พญ.ชไมพันธุ์ กล่าวว่า ในฐานะนักวิจัยและคนทำงานด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ ขอคัดค้านและประณามการกระทำของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ทำโครงการดังกล่าว โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบอันเลวร้ายที่จะเกิดขึ้น การไปอบรม ขับขี่จักรยานยนต์ให้เด็กถึงในโรงเรียนตั้งแต่ 3 ขวบ จะสุ่มเสี่ยงต่อข้อครหาเรื่อง การทำการตลาดและสร้างbrand loyalty หรือไม่ และไม่ใช่แค่โรงเรียนเดียวแต่เป็นโรงเรียนทั่วประเทศ ที่ผ่านมา หลายฝ่ายพยายามรณรงค์เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์และคัดค้านการที่จะให้เด็กขับขี้รถจักรยานยนต์ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมาก งานวิจัยจากทั่วโลก ก็ระบุชัดว่าการสอนขับขี่รถจักรยานยนต์ในโรงเรียน นอกจากจะไม่ช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว ยังมีส่วนทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มขึ้นด้วย
“ดิฉันขอเรียกร้องให้ ระงับเรื่องนี้ไว้ก่อนเพราะ เนื้อหาหลักสูตรที่แนบมายังมีปัญหา การอบรม ถ้าไม่มีการสื่อสารความเสี่ยงนำมาก่อน เพื่อตอกย้ำถึงความเสี่ยงและความสูญเสียอย่างต่อเนื่อง จะกลายเป็นการกระตุ้นให้เด็กอยากขับขี่ ส่งผลกระทบทางลบต่อเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น ยอนแย้งกับงานวิจัยทั่วโลกที่เสนอแนะให้พยายามยืดเวลาการขับขี่ออกไปให้เด็กและเยาวชนมีความพร้อมเพื่อความปลอดภัย ตามพัฒนาการ ทั้งในเรื่องการชอบเสี่ยง และ การยับยั้งชั่งใจ หากไม่ทบทวนให้เหมาะสม จะสร้างปัญหาในเด็กและเยาวชนของ ประเทศไทยอย่างกว้างขวางและใหญ่หลวงในระยะยาว” พญ.ชไมพันธุ์ กล่าว
อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ยังกล่าวด้วยว่า จากงานวิจัยของ Ian G Roberts และ Irene Kwan ซึ่งได้ทำการทบทวนการวิจัยอย่างเป็นระบบ ที่เรียกว่า Cochrane Systematic Review ระบุไว้ชัดเจนเลยว่า การสอนขับขี่รถในโรงเรียน นำไปสู่การขอออกใบอนุญาตก่อนเวลา และไม่มีหลักฐานว่า ช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ขณะเดียวกันอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอุบัติเหตุบนถนนที่เกิดกับวัยรุ่นอีกด้วย” อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ กล่าวและว่า การสอนแบบนี้จะทำให้คนไม่สนใจว่าทำไมต้องทำตามกฎหมาย เพราะไม่เข้าใจว่าจะมีผลกระทบต่อตนเองครอบครัวและสังคมอย่างไร รู้เพียงแค่ว่าขี่เป็น ที่สำคัญจะเป็นการกระตุ้นให้เด็กอยากขี่รถมอร์เตอร์ไซค์มากกว่าที่จะรู้รอบเรื่องภัยจากรถจักรยานยนต์
“เราคัดค้านโครงการนี้ตั้งแต่เป็นแค่โครงการเล็กๆในขนส่งทางบกแต่ตอนนี้มาถึงศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเลย หนักหนาสาหัสมากแล้วค่ะ ถึงขนาดที่ทำการตลาดกับเด็กนักเรียน ผ่านโครงการของภาครัฐ ด้วยวิธีการที่แนบเนียน อ้างเรื่องความปลอดภัย แต่ที่สุดแล้ว เด็กขี่เป็นแล้วก็อยากซื้อรถมอร์เตอร์ไซค์ โดยที่ไม่มีความตระหนักในเรื่องของความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ดิฉันขอประณามคนที่คิดโครงการแบบนี้ขึ้นมาฆ่าเด็กไทยและขอเรียกร้อง เชิญชวนให้พ่อแม่ผู้ปกครองทั้งประเทศอย่ายอมให้มีโครงการนี้ เพราะเป็นโครงการที่จะฆ่าลูกของท่านให้ตายเร็วขึ้น ”พญ.ชไมพันธุ์ กล่าว
ด้าน พว.ชฎาพร สุขสิริวรรณ นักวิจัย ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ในฐานะ คนทำงานด้านความปลอดภัยของเด็กและการคุ้มครองเด็ก อยากตั้งคำถามกลับไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ว่า รู้ไหมว่าไม่ควรส่งเสริมการขับขี่ในเด็ก (เว้นวรรค) ไม่ควรจัดอบรม ช่วงสั้นๆ เพื่อว่าจะเกิดการขับขี่ปลอดภัย หรือเร่งรัดในการให้เด็กวัยเรียนขับขี่รถจักรยานยนต์ โครงการอบรมนี้ จึงไม่ให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่เด็ก ตาม มาตรา 23 ของ พรบ.คุ้มครองเด็ก 2546
“เห็นว่าการอบรม นี้ จัดทุกปีต่อเนื่อง แต่มีเด็กวัยเรียนตายต่อเนื่อง สมควรเลิกทำได้แล้ว ควรรับรู้ได้ว่าไม่เป็นหนทางแก้ไข โดยจัดอบรม 1-2 วัน ที่ไม่มีการประเมินและติดตามผล จึงไม่น่าเชื่อว่าสร้างคุณภาพขับขี่ปลอดภัย เพราะยังเห็นเด็กต่ำกว่า 18 ปี ขับขี่อันตรายและมีอัตราตายสูง” พว.ชฎาพร กล่าวว่า การฝึกอบรมขับขี่ เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างมีมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้เรียนรู้ปฏิบัติได้ถูกต้อง สร้างความปลอดภัยแก่ตนเองและผู้อื่น แต่การจัดอบรมในลักษณะนี้ เป็นการกระตุ้นให้เด็กอยากขับขี่และกระตุ้นความต้องการรถจักรยานยนต์ของเด็กต่ำกว่า 18 ปี สร้างความเข้าใจผิดว่า เขาสมควรขับขี่แล้ว ในขณะที่ ความพร้อมทางร่างกาย ประสาทรับรู้และการตัดสินใจ ยังไม่พร้อมสมบูรณ์เต็มที่ โดยส่วนตัวเห็นว่า ไม่สมควรจัดการอบรมแบบนี้แก่นักเรียน อีกทั้งยังจัดในโรงเรียน ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายสังคมอย่างมาก โดยผู้ปกครองและครูเป็นผู้คุ้มครองเด็กตามกฎหมาย หากยินยอม แสดงว่า ท่านปล่อยปละละเลย ไม่ให้สิ่งที่ปลอดภัยกับเด็ก
- 310 views