กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคประชาสังคม จัดตั้งศูนย์ออกซิเจนทางการแพทย์ “ภารกิจลมใต้ปีก” จัดส่งถังออกซิเจนและเครื่องผลิตออกซิเจน ผู้ป่วยโรคโควิด 19 ระบบ HI - CI เขต กทม. และปริมณฑล ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านสายด่วน 1426 เว็บไซต์ http://oxygen.hss.moph.go.th/ หรือเครือข่ายจิตอาสา
วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2564 ที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิด “ศูนย์สนับสนุนออกซิเจนทางการแพทย์” และให้สัมภาษณ์ว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) จึงได้จัดตั้งศูนย์สนับสนุนออกซิเจนทางการแพทย์ (Medical Oxygen Support Center) ขึ้น โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และประชาสังคม ภายใต้ชื่อภารกิจ “ลมใต้ปีก” จัดส่งออกซิเจนทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เข้าแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และชุมชนหรือศูนย์พักคอย (Community Isolation) ซึ่งบางรายจำเป็นต้องได้รับออกซิเจนทางการแพทย์เพื่อประคับประคองอาการ ระหว่างรอเข้าระบบการรักษาในโรงพยาบาล มีทีมบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการติดตั้งที่ได้มาตรฐาน พร้อมแนะนำการใช้งานที่ถูกต้อง นอกจากนี้มีการบริหารจัดการคลังอุปกรณ์ การขนส่ง เบิกจ่าย ที่เป็นระบบตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับภาพรวมขณะนี้ในพื้นที่ กทม.มีผู้ป่วยเข้าระบบกักตัวที่บ้าน จำนวน 57,118 ราย และที่ศูนย์พักคอย กทม. 56 แห่ง จำนวน 2,271 ราย
“ภารกิจลมใต้ปีก เป็นความร่วมมือที่เชื่อมโยงการทำงานของทุกภาคส่วนที่มีประสบการณ์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องการออกซิเจนจะได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที ลดอาการรุนแรงและลดเสียชีวิต ผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ 3 ช่องทาง คือ สายด่วน 1426 เว็บไซต์ http://oxygen.hss.moph.go.th/ และเครือข่ายจิตอาสา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” ดร.สาธิตกล่าว
ด้านนายแพทย์ธเรศกล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานของศูนย์สนับสนุนออกซิเจนทางการแพทย์ ซึ่งตั้งอยู่ ณ อาคารกรม สบส. จะดำเนินงานในรูปแบบ One Stop Service โดยมีคอลเซ็นเตอร์ สายด่วน กรม สบส. 1426 บริการตลอด 24 ชั่วโมง รับเรื่องขอสนับสนุนออกซิเจนทางการแพทย์ พร้อมให้การประเมินผู้ป่วยและแจ้งข้อมูลความต้องการไปยังหน่วยจัดเก็บออกซิเจนทางการแพทย์ เพื่อจะมีเจ้าหน้าที่ส่งต่อถังออกซิเจนหรือเครื่องผลิตออกซิเจน ให้ผู้ป่วยถึงที่พัก พร้อมแนะนำการใช้งาน เปลี่ยนถังใหม่ หรือเติมก๊าซออกซิเจนให้ตามที่ร้องขอ และมีระบบติดตามเก็บคืนอุปกรณ์จากที่พักผู้ป่วย โดยผู้ป่วยหรือญาติไม่จำเป็นต้องเดินทางมาคืนเอง นอกจากนี้ กรม สบส.จะเข้าไปตรวจสอบความต้องการออกซิเจนทางการแพทย์ ผ่านแพลตฟอร์ม “จิตอาสา.แคร์” หรือ https://jitasa.care อีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ ศูนย์สนับสนุนออกซิเจนทางการแพทย์ ได้เตรียมพร้อมอุปกรณ์ ได้แก่ ท่อออกซิเจน 50 ท่อ เครื่องผลิตออกซิเจน 25 เครื่อง เกจออกซิเจน เรกูเลเตอร์ 100 ชุด ที่วัดอัตราการไหล 100 ชุด กระบอกเพิ่มความชื้น 100 ชุด สายออกซิเจนช่วยหายใจ 300 เส้น เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว 100 เครื่อง เป็นต้น
- 109 views