สธ. ร่วม สปสช. แถลงแก้ปัญหาบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัส หรือการให้ยาเพร็พ ย้ำการรักษาเอชไอวีไม่มีปัญหาทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ คือ บัตรทอง ประกันสังคม ขรก. ส่วนบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค (PP) บัตรทองไม่มีปัญหา ยังรับบริการ ทั้งยาเพร็พและยาเป็ป  ถุงยางอนามัย ฯลฯ เหลือเพียงงบ PP นอกสิทธิบัตรทอง แต่จะให้การดูแลไปก่อน จากนั้นค่อยเคลียร์การเบิกจ่ายกับ สปสช.ภายหลัง ต้องไม่ให้ปชช.รับผลกระทบ พร้อมแจงกรณีองค์กรภาคประชาสังคมที่มาช่วยภาครัฐ

 

เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  หารือร่วมกับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เพื่อหารือถึงการแก้ไขปัญหาการให้บริการป้องกันเชื้อเอชไอวี การตรวจเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ และบริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัส หรือการให้ยาเพร็พ  (PrEP) สำหรับผู้ที่ไม่ใช่สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง)

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เรื่องของการรักษากรณีเอชไอวี/เอดส์ ไม่มีปัญหาทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ คือ บัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ ยังรับบริการและรับยาตามปกติ ส่วนบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค (PP) ในส่วนของสิทธิบัตรทองก็ไม่มีปัญหาเช่นกัน ยังรับบริการตามปกติ ทั้งถุงยางอนามัย ยาป้องกันเอชไอวีก่อนการสัมผัส (PrEP) และยาป้องกันเอชไอวีหลังสัมผัสหรือยาเป็ป (PEP) ซึ่งมีการลงนามจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยบริการทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงที่มีปัญหา คือ งบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคนอกสิทธิบัตรทอง (PP Non UC) ประมาณ 5 พันล้านบาท เนื่องจากประกันสังคมและข้าราชการให้แค่เรื่องการรักษา ไม่ได้ให้เรื่องป้องกันโรค แต่เทียบสัดส่วนกับงบประมาณทั้งหมดของหลักประกันสุขภาพคือ 1.4 แสนล้านบาท ก็ถือว่าน้อยมาก

 

"ย้ำว่ากลุ่มนอกสิทธิบัตรทอง สธ.จะให้การดูแลไปก่อน โดยไม่คำนึงถึงเรื่องของการเบิกจ่ายเงิน  จะไปเคลียร์การเบิกจ่ายกับทาง สปสช.ภายหลัง  ดูแลไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นสิทธิใดๆ ส่วนหน่วยงานนอกเหนือ สธ. ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ประชาสังคม ฯลฯ ทาง สปสช.จะไปติดตามทำความเข้าใจและวางระบบจัดการ ดังนั้น ที่กังวลว่าจะทำให้การป้องกันควบคุมโรค การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี และทำให้เอดส์ระบาด ก็เป็นคำกล่าวที่ดูเกินจริงไป" นพ.โอภาส กล่าว

** นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ส่วนองค์กรภาคประชาสังคมที่มาช่วยภาครัฐจัดบริการป้องกันเอชไอวี  กรมควบคุมโรคก็มีการวางระบบมาต่อเนื่องให้มารับบริการป้องกันโรคได้ เช่น รับยา PrEP ป้องกันการติดเชื้อก่อนสัมผัส เป็นต้น ทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงบริการง่ายขึ้น เพราะส่วนใหญ่กลุ่มนี้ไม่สะดวกไปรับบริการภาครัฐ แต่หน่วยงานเหล่านี้ไม่ใช่หน่วยงานสาธารณสุข ดังนั้น จะไปวินิจฉัยแทนแพทย์ จ่ายยาแทนเภสัชกร และตรวจแล็บแทนเทคนิคการแพทย์ไม่ได้ เพราะมีกฎหมายควบคุมเพื่อให้ได้รับบริการมาตรฐาน

ดังนั้น การดำเนินงานจึงมีระเบียบกระทรวงสาธารณสุขออกมารองรับ 3 ฉบับ ในการมอบหมายให้ดำเนินงานในความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เทคนิคการแพทย์ และเภสัชกรรม โดยจะไปช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มเสี่ยง เช่น ให้คำปรึกษาเอชไอวีเป็นอย่างไร กินยาป้องกันได้อย่างไร ต้องกินก่อนกี่วัน มีผลนานเท่าไร ควรกินยาเมื่อไร การเก็บตัวอย่างเอาเลือดไปตรวจว่าติดเชื้อหรือไม่ ให้วิชาชีพต่างๆ ได้ดูแล เมื่อแพทย์วินิจฉัยจำเป็นต้องกินยา ก็จะมีเภสัชกรจ่ายยาให้ เขาก็จะไปรับยาให้และช่วยติดตาม เป็นต้น ปัจจุบันเรามีอาสาสมัครทำตรงนี้มากกว่า 300 คน องค์กรมากกว่า 17 องค์กรในหลายจังหวัดที่เปิดบริการลักษณะเช่นนี้ได้

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในกลุ่มผู้รับบริการไม่อยู่ในสิทธิบัตรทอง เราดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ อย่างสังกัด สธ. หน่วยบริการก็ให้บริการเต็มที่ ส่วนหน่วยบริการอื่นที่ไม่ใช่สังกัด สธ. ก็มีการเดินสายขอความร่วมมือในหลายส่วนแล้ว ทั้ง กทม. กรมแพทย์ทหารบก กรมแพทย์ทหารเรือ และตำรวจ เหลือเพียงกรมแพทย์ทหารอากาศ ส่วนภาคประชาสังคมที่จัดบริการนั้น ก็ได้ไปขอความร่วมมือว่า ในระหว่างที่กำลังแก้ปัญหาด้านกฎหมาย หากสะดวกให้บริการป้องกันโรคนอกสิทธิบัตรทองก็ยังให้บริการต่อไปได้ โดยให้บันทึกข้อมูลไว้ก่อนแล้วรอมาเคลียร์กันกับ สปสช. แต่บางหน่วยบริการอาจจะรู้สึกไม่มั่นใจและยังไม่ชัดเจน ยังไม่อยากให้บริการ ก็ถือว่าเป็นสิทธิ เราห้ามไม่ได้ แต่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้รับบริการก็ขอให้แจ้งมายัง สปสช. เราจะประสานจัดระบบบริการเพื่อไม่ให้รับผลกระทบ โดยสามารถโทร 1330 กด 16 เบอร์พิเศษ จะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่อง 24 ชั่วโมง ประสานให้ได้รับบริการ สำหรับสิทธิประโยชน์ให้ตรวจเอชไอวีฟรีปีละ 2 ครั้งในทุกสิทธิก็ยังมีเหมือนเดิม ไม่ได้ไปยกเลิกสิทธิ ขอให้หน่วยบริการยังบริการเหมือนเดิม

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการหารือกับ 2 สิทธิที่เหลือผลักดันให้มีงบส่งเสริมสุขภาพด้วยหรือไม่  นพ.โอภาสกล่าวว่า ตรงนี้มีในมาตรา 66 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะต้องเป็น พ.ร.ฎ. ที่จะแก้ปัญหาทุกอย่าง ซึ่งเลขาธิการ สปสช.จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป หากออก พ.ร.ฎ.ตามมาตรา 66 ปัญหาจะจบในระยะกลางและระยะยาวต่อไป เพียงแต่ตอนนี้เราต้องแก้ปัญหาในระยะสั้น

นพ.ธเรศ กล่าวว่า หน่วยบริการภาคประชาสังคมที่เข้ามาช่วยก็ถือเป็นอาสาสมัคร คล้ายกับ อสม.ประเภทหนึ่ง ทำหน้าที่รับติดตามผู้ป่วยและไปส่งยาตามการรักษา วินิจฉัยของแพทย์และเภสัชกร สธ.เราเห็นประโยชน์ของอาสาสมัคร ก็มีการจัดอบรมและขึ้นทะเบียน ขณะนี้มีจำนวน 335 คน และต้องผ่านการประเมินทดสอบ และต้องไปทำงานภายใต้องค์กรประชาสังคม หรือ Community Based Organization (CBO) โดยย้ำว่าขณะนี้หน่วยบริการภาคประชาสังคมยังสามารถดำเนินการตามระบบเดิมต่อไปได้ ไม่ต้องกังวล ส่วนที่ยังไม่ชัดเจนจะไปแก้ไขให้ถูกต้อง โดยทีมกรมควบคุมโรค สบส. อย. และทีมกฎหมายสำนักงานปลัด สธ. จะหารือทำให้มีความชัดเจน ดังัน้น ขอให้ยึดเรื่องบริการโดยบริการไปก่อน ผู้จ่ายเงินก็รอทำเรื่องกฎหมายให้พร้อม จึงไม่ต้องกังวล

 

ด้าน ทพ.อาคม กล่าวว่า อย่าเพิ่งเอาเรื่องกฎหมายมาเป็นข้อขัดในการทำงาน ขอให้ดำเนินการไปก่อน ซึ่งตามระเบียบทั้ง 3 ฉบับ จะมีข้อ 7 ที่ระบุว่าบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้สามารถประกอบวิชาชีพเวชกรรมบริการด้านเอชไอวี โรคซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เฉพาะให้บริการปรึกษาก่อนหรือหลังการตรวจ และบริการปรึกษาทางการแพทย์ การเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ การเจาะโลหิตจากปลายนิ้ว การตรวจหาการติดเชื้อ โดยชุดตรวจแบบง่ายและรู้ผลเร็ว การอ่านผลและรายงานผล การส่งต่อเพื่อตรวจวินิจฉัย  และเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา รวมถึงการใช้ยาสามัญประจำบ้านตามกฎหมายว่าด้วยยา เพื่อรักษาอาการเบื้องต้น และยาที่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมสั่งจ่ายให้แก่ผู้รับบริการเฉพาะรายหรือเฉพาะคราว ที่เกี่ยวเนื่องกับเอชไอวี โรคซิฟิลิส หนองใน หรือหนองในเทียม หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน

ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน เพราะมีหลายกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยกรมควบคุมโรคและ สบส.จะหารือกันถึงทางออก ข้อสรุปและมาชี้แจงให้ชัดเจน