สธ.ร่วมกระทรวงยุติธรรมผลักดัน  “กฎหมายเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในทุกรูปแบบ” ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 4 และ 27  หวังเป็นเครื่องมือปกป้องสิทธิ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ หลังพบยังมีปัญหาถูกตีตราจากสังคม 26% ไม่ใช่แค่ไทย แต่ทั่วโลก ทั้งสถานประกอบการตรวจสุขภาพเจอผลบวก ขอให้ออก กับโรงเรียน แม้ไม่มากเมื่อเทียบ 20 ปีก่อน แต่ยังมี ขอสังคมช่วยสื่อสารลดตีตรา 

 

เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2565 นพ.โสภณ  เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวภายหลังการประชุมผลการทบทวนโปรแกรมการดำเนินงานเอชไอวีระดับประเทศ  ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานบริหารโครงการกองทุนโลก (GF) โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO) ศูนย์ความร่วมมือไทย – สหรัฐด้านสาธารณสุข (TUC) องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และ Duke University โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเอชไอวี/เอดส์ จากประเทศไทยและต่างประเทศ 12 ท่าน นำโดยหัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ Dr. Chris Beyrer ผู้อำนวยการสถาบัน Duke Global Health Institute และ หัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทย ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นพ.โสภณ กล่าวว่า  ไทยมีนโยบายยุติปัญหาเอดส์ให้ได้ภายในปี 2573 ตามยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560 -2573  โดยกำหนดเป้าหมายในการยุติปัญหาเอดส์ 3 ประการ ได้แก่ ลดผู้ติดเชื้อรายใหม่เหลือปีละไม่เกิน 1,000 คน ลดการเสียชีวิตจากเอดส์ให้เหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย และลดการเลือกปฏิบัติจากเอชไอวีและเพศภาวะลงเหลือไม่เกิน 10%   

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ผู้เชี่ยวชาญได้มาประเมินการทำงานที่ผ่านมา และชื่นชมประเทศไทยในการดำเนินการต่างๆในการลดผู้ติดเชื้อรายใหม่จากเดิมปี 2534 อยู่ที่ 140,000 คน  แต่ข้อมูลล่าสุดในปี 2564 คาดประมาณว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่เหลือเพียง 6,500 คน ซึ่งยังไม่ถึงเป้าหมายต้องให้ได้ไม่เกิน 1 พันคนในอีก 8 ปีข้างหน้า  ส่วนผู้เสียชีวิตเดิมเสียชีวิตปีละ 57,000 คนในปี 2545  แต่ล่าสุดเสียชีวิตเหลือ 9,300 คนในปี 2564  อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญคือ การเลือกปฏิบัติตัวเลขยังทรงๆ อยู่ที่ 26% ทางผู้เชี่ยวชาญมาประเมินและคิดว่าสิ่งสำคัญต้องให้รู้เร็ว และรักษาให้เร็วที่สุด และต้องป้องกันไม่ให้เกิดโรค มีทั้งถุงยางอนามัย และยังมียาเพร็พ หรือยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ ซึ่งมีในชุดสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว   สิ่งสำคัญจากนี้ต้องร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการดำเนินการต่างๆ ทั้งเรื่องเพศศึกษาในกลุ่มเยาวชน ลดการตีตราในกลุ่มเยาวชนที่ป่วย และให้เข้าถึงยาเพร็พมากที่สุด ทั้งนี้ ในเรื่องการลดการตีตรานั้น

“ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้ขับเคลื่อนการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติโดยผลักดันให้เป็น “กฎหมายเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในทุกรูปแบบ” ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 4 และ 27 ซึ่งกำหนดว่าห้ามเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในทุกรูปแบบ ไม่เฉพาะสถานะด้านเอชไอวี แต่รวมถึงความเห็นและสถานะทางสังคมที่แตกต่างกัน โดยกระทรวงยุติธรรมได้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อรัฐสภา ” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า  นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างการดำเนินงานเพื่อบูรณาการระบบข้อมูลด้านเอชไอวี  ทั้งข้อมูลของผู้ที่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ข้อมูลผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ข้อมูลผู้ที่ใช้สิทธิ์สวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ รวมถึงแรงงานข้ามชาติและผู้ที่อยู่ระหว่างรอการพิสูจน์สัญชาติ (บุคคลไร้รัฐ) เพื่อให้เป็นระบบข้อมูลกลาง และสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการนำมากำหนดทิศทางการดำเนินงานในอนาคตได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขจะหารือร่วมกับกองทุนด้านสุขภาพทั้ง 4 กองทุน เพื่อให้ทุกกองทุนสนับสนุนการจัดบริการด้านเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคไวรัสตับอักเสบ แก่ทุกคนทุกสิทธิ์อย่างเท่าเทียมกัน

ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญทำงานด้านเอชไอวี  กล่าวเพิ่มเติมว่า  แม้ขณะนี้การตีตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะไม่มากเท่าอดีตที่ผ่านมา แต่ปัญหายังคงมีอยู่ อย่างที่ผ่านมามีคนร้องเรียนว่า สถานประกอบการให้ตรวจสุขภาพและพบว่าพนักงานติดเอชไอวี จะเลิกจ้าง ซึ่งกรณีนี้ยังมี แต่ไม่มาก ประปราย น้อยกว่าสมัย 20 กว่าปีที่ผ่านมา  อย่างไรก็ตาม การตรวจสุขภาพตรวจเลือดนั้น จริงๆ เป็นข้อมูลส่วนตัว ซึ่งการผลักดันกฎหมายก็จะช่วยได้ในการปกป้องสิทธิ์ผู้ป่วย

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกฎหมายจะปกป้องในส่วนเด็กและเยาวชนที่เรียนในโรงเรียนด้วยหรือไม่ ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ กล่าวว่า  จริงๆ โดยหลักในสถานศึกษาไม่มีการห้ามอยู่แล้ว อย่างนักเรียนถึงแม้พ่อแม่ติดเชื้อ นักเรียนไม่ติดก็มาเรียน หรือแม้นักเรียนติดก็สามารถมาเรียนได้ ในอดีตการตีตรามีอยู่ แต่ทุกวันนี้ดีขึ้น ถามว่ามีหรือไม่ มีอยู่แล้ว แต่น้อยกว่ามาก ปัจจุบันก็มีแบบติดเชื้อแต่ปกปิดไม่ให้ใครรู้ กับแบบเปิดเผย ซึ่งเปิดเผยมีไม่มาก สิ่งสำคัญเราต้องช่วยกันสื่อสารให้ลดการตีตรา เพราะการรู้ว่าป่วยเร็วกินยาเร็วก็จะช่วยได้มากขึ้น อย่าตีตราจะส่งผลต่อสังคมมาก นี่คือ สาเหตุที่ต้องมีการผลักดันกฎหมาย

 

อนึ่ง สำหรับการทบทวนโปรแกรมการดำเนินงานเอชไอวีระดับประเทศในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม          - 8 พฤศจิกายน 2565 เพื่อรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ผลการดำเนินงานโปรแกรมเอชไอวีที่ผ่านมาของประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2560 - 2564 โดยผู้เชี่ยวชาญได้ลงพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงราย อุดรธานี  และนครศรีธรรมราช เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะในการปรับปรุงนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านเอดส์ ให้สามารถเร่งรัดการยุติปัญหาเอดส์ให้สำเร็จภายในปี 2573 โดยมีข้อเสนอ ดังนี้

1. ให้ทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง ร่วมกันดำเนินงาน สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเอดส์และ โรคติดต่อ         ทางเพศสัมพันธ์ จัดการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาให้กับเยาวชน

2.ผลักดันให้มีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้มีความหลากหลายทางเพศ และมีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.ส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติทุกคนได้เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม และให้มีการบริหารจัดการงบประมาณด้านระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวอย่างมีประสิทธิภาพ

4.รณรงค์สร้างความตระหนัก เพื่อให้การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติ การใช้ถุงยางอนามัยเป็นเรื่องปกติ การใช้ยาป้องกันก่อนและหลังการสัมผัสเชื้อเป็นเรื่องปกติ

5.ขยายและเพิ่มบทบาทของภาคประชาสังคมที่ร่วมรณรงค์ และการจัดบริการเชิงรุก ร่วมกับการดำเนินการจากหน่วยบริการสาธารณสุขต่างๆ ในระดับพื้นที่ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

6.บูรณาการงานโรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคไวรัสตับอักเสบ โรควัณโรค รวมถึงโรคเรื้อรังอื่นๆ

7.บูรณาการระบบข้อมูลจากหลายแหล่ง เพื่อการใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย ทั้งข้อมูลการเฝ้าระวังโรค   การป้องกัน การดูแลรักษา และการติดตามประเมินผล