สปสช. จับมือ สกพอ. เดินหน้าลงนาม MOU “ส่งเสริมการลงทุนและบริการทางการแพทย์ ด้วยเทคโนโลยีระดับสูง เพื่อพัฒนาพื้นที่อีอีซี โดยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”  ยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมทางการแพทย์ไทย ประชาชนเข้าถึงสิทธิ์รักษาด้วยนวัตกรรมขั้นสูง สร้างสุขภาพดีให้คนไทยถ้วนหน้า

วันนี้  28 ธันวาคม 2565 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)  “การส่งเสริมการลงทุนและการบริการทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง เพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคะวันออก โดยการสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”

โดยมี นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการฯ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ นายแพทย์พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษ ด้านสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ร่วมกันแถลงข่าว พร้อมด้วยผู้บริหารจาก 2 หน่วยงาน เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ

นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สปสช. มีบทบาทและหน้าที่ในการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” เพื่อเป็นหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทย 48 ล้านคน ด้วยเป็นระบบหลักประกันสุขภาพขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของระบบ นอกจากงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลแล้ว ยังต้องสร้างความมั่นใจที่เอื้อต่อการดำเนินการของระบบ ไม่ว่าจะเป็นยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญของการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุข ทั้งต้องเพียงพอต่อการให้บริการดูแลประชาชน

ดังนั้น การลงทุนเพื่อให้เกิดการผลิตและการบริการทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมทางการแพทย์ในประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากทำให้เกิดการเข้าถึงบริการที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังเป็นส่วนที่ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในประเทศ พร้อมช่วยสร้างรายได้ เพิ่มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้ตระหนักถึงความสำคัญนี้ จึงนำมาสู่การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้

“ผลจากการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ สปสช. มั่นใจว่าจะนำมาสู่ผลที่ดี ทั้งต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ผู้มีสิทธิได้รับการบริการทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงมาทดแทนเทคโนโลยีเดิม ภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม ควบคุมได้ และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ภายใต้มาตรฐานบริการสาธารณสุขตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ผลดีต่ออุตสาหกรรมด้านทางการแพทย์ในประเทศ ทั้งในด้านการพัฒนาและขยายศักยภาพการคิดค้น วิจัยและผลิต โดยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ และผลดีต่อประเทศไทยเอง ในด้านความมั่นคงทางระบบสุขภาพของประเทศ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว  

 

นางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการฯ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า ปัจจุบันการบริการทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงในประเทศไทย ส่วนใหญ่ต้องอาศัยเทคโนโลยี และเครื่องมือที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ประชาชนบางส่วนมีข้อจำกัดที่จะสามารถเข้าถึงบริการรับการรักษา หรือรับวินิจฉัยโรคเหล่านั้นได้ โดยภายใต้ข้อตกลง MOU นี้ จะสามารถขับเคลื่อนสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ที่อยู่ภายใต้สิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง เช่น การลงทุนเพื่อการตรวจทางพันธุกรรม (Genetic Testing) ซึ่งจะมาทดแทนการทดสอบแบบเดิมภายใต้สิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง เป็นต้น รวมทั้งจะส่งเสริมให้ผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้รับการบริการทางการแพทย์ ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ให้สามารถรับการรักษาให้ปลอดภัย ทันการณ์ และสร้างสุขภาพดีให้คนไทยได้ถ้วนหน้า

ทั้งนี้ สกพอ. เรามีภารกิจสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งในอุตสาหกรรมการแพทย์เป็นหนึ่งในเป้าหมายของอีอีซีที่เราได้ขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในเร็ววัน เราต้องการที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในระดับภูมิภาค และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ต้นทุนการให้บริการทางการแพทย์ลดลง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการรักษา ประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการได้ครอบคลุมทุกโรค  และลดเรื่องของการพึ่งพาต่างประเทศ ในการนำเข้าครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ราคาสูง รวมถึงการสุ่มผลแลบต่างๆออกไปตรวจข้างนอก ตรงนี้จะทำให้ต้นทุนในการดูแลสุขภาพประชาชนลดลง และมีโอกาสที่จะเข้าถึงได้ง่ายด้วยระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นต้น

 

นายแพทย์พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษ ด้านสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้น ระหว่าง สกพอ. และ สปสช. ในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญสนับสนุนให้อีอีซี ขับเคลื่อน อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจะผลักดันให้เกิดการลงทุนทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี รวมทั้งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มตำแหน่งงานที่มีทักษะและค่าตอบแทนในระดับสูงให้บุคลากรไที่ทำหน้าที่ทั้งการบริการและการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของประเทศ ให้สามารถแข่งขันได้ รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร  ที่จะเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพครบทุกมิติตามนโยบายของรัฐบาล ยกระดับบริการด้านสาธารณสุขให้ประชาชนเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน