ปลัด สธ.สั่งฝ่ายกฎหมาย ถอนระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการใช้มาตรการบังคับทางปกครองสำหรับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พร้อมตั้งคณะกรรมการทบทวน เพื่อให้ตรงเจตนารมณ์ที่ต้องการบังคับใช้ในกรณีทุจริตและยักยอกทรัพย์ ไม่ใช่คดีบริการทางการแพทย์
วันนี้ (18 ธันวาคม 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับฝ่ายกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการใช้มาตรการบังคับทางปกครองสำหรับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ว่า ขณะนี้มีกระแสความวิตกกังวลถึงการบังคับใช้ระเบียบฉบับนี้ในเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อป้องกันการเข้าใจคลาดเคลื่อน ได้สั่งให้ฝ่ายกฎหมายถอนระเบียบออกมาก่อนเพื่อปรับปรุง (ดูข่าว ที่นี่, ดูราชกิจจานุเบกษา ที่นี่) โดยตั้งคณะกรรมการดำเนินการพิจารณาทบทวน เพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปตามเจตนารมณ์
สำหรับเจตนารมณ์ของระเบียบฉบับนี้ ต้องการให้มีผลบังคับใช้กับผู้ที่ทำการทุจริต ยักยอกทรัพย์สินของทางราชการ เพื่อนำทรัพย์สินของทางราชการกลับมา โดยมีคดีที่ค้างอยู่ประมาณ 21 คดีตั้งแต่ปี 2540 เกือบ 100% เป็นกรณียักยอกทรัพย์
ทั้งนี้ ในส่วนคดีที่ยังค้างอยู่ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานต่อไปได้สะดวก จะตั้งคณะกรรมการพิจารณาเป็นรายกรณีไป คล้ายๆ กับการสอบวินัยร้ายแรง โดยอิงจากกฎหมายที่มีอยู่คือ มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และมาตรา 57 ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง พ.ศ.2539
นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในกรณีคดีจากบริการทางการแพทย์ หากศาลพิพากษาแล้วว่าฝ่ายผู้ให้บริการทำผิด แต่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการ รัฐต้องรับผิดชอบชดเชยให้แก่ผู้เสียหาย และต้องพิสูจน์ว่ามีเจตนาทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่ ที่ผ่านมาคดีที่กระทรวงสาธารณสุขชดใช้ ไม่ปรากฏว่าผู้ให้บริการจงใจทำผิดหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จนต้องไล่เบี้ยเอากับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ
สำหรับกรณีที่รัฐเสียหายจากการที่เจ้าหน้าที่กระทำทุจริตยักยอกทรัพย์ เป็นประเด็นที่ทำให้ต้องออกระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการใช้มาตรการบังคับทางปกครองสำหรับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ในครั้งนี้ เป็นการออกวิธีการปฏิบัติ แต่ระเบียบดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด จึงอาจถอนระเบียบออกมาเพื่อทบทวนและทำให้ชัดเจน ระหว่างนั้นก็ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายใช้กฎหมายที่มีอยู่คือมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และมาตรา 57 ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง พ.ศ.2539 ดำเนินการในกรณีที่ต้องบังคับคดี
- 27 views