รายงานการศึกษาภาวะสังคมไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2565 พบข้อมูลสำคัญด้านสุขภาพสุขภาวะที่น่ากังวลสำหรับสังคมไทย นั่นคือปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มประสบกับภาวะเครียดและซึมเศร้ามากขึ้น รวมทั้งมีผู้ป่วยยาเสพติดที่จำนวนหนึ่งมีความเสี่ยที่จะก่อความรุนแรง
ข้อมูลของศูนย์วิจัยและสารสนเทศโรคซึมเศร้า พบว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคาดประมาณ 1.36 ล้านคน โดยในเดือนกันยายนมีอัตราการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอยู่ที่ร้อยละ 90.6 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 84.9 ทั้งนี้ สมาคมจิตแพทย์ยังได้ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐเฉลี่ยวันละประมาณ 50 คน ขณะที่สถิติผู้รับบริการจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ระหว่างเดือนตุลาคม 2564 – สิงหาคม 2565 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15 อีกทั้งอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจำนวนจิตแพทย์จากรายงานข้อมูลทรัพยากรสาธารณสุข จะพบว่า ปี 2564 ประเทศไทยมีแพทย์จิตเวชศาสตร์และจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่นรวม 860 คน คิดเป็นอัตราส่วนจิตแพทย์ 1.3 คนต่อประชากรแสนคน โดยกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรแสนคนมากที่สุดที่ 4.9 ขณะที่บางจังหวัดมีจิตแพทย์เพียง 1 - 2 คน หรือไม่มีเลย ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดในการดูแลผู้ป่วยในบางพื้นที่ ซึ่งจิตแพทย์ 1 คน สามารถดูแลผู้ป่วยได้เพียงประมาณวันละ 20 คนต่อวันเท่านั้น ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยจะส่งผลต่อโอกาสที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ เนื่องจากจิตแพทย์ต้องลดระยะเวลาการให้คำปรึกษาเพื่อให้สามารถรักษาผู้ป่วยในแต่ละวันได้ครบทุกคน ซึ่งต้องเร่งหาแนวทางแก้ไข เพื่อให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และผู้ป่วยโรคจิตเวชกลุ่มอื่น ๆ ได้รับการรักษาที่มีคุณภาพและทันท่วงทีอันจะช่วยลดโอกาสที่ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ในระยะสั้นอาจเร่งขยายผลการบูรณาการร่วมกับกลไกในชุมชนในการประเมินอาการและให้คำปรึกษาเบื้องต้น เพื่อลดภาระแพทย์และลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น รวมถึงต้องหาแนวทางเพิ่มจำนวนจิตแพทย์หรือเพิ่มบทบาทของบุคลากรด้านสุขภาพจิตเพื่อเพิ่มคุณภาพการรักษาในระยะยาว รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตที่ดีเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาผู้ป่วยจิตเวช ยังพบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่เกิดจากการใช้สารเสพติด โดยในปี 2564 มีจำนวน 622,172 รายหรือคิดเป็นร้อยละ 15.6 ของจำนวนผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด 21 ประเภท ซึ่งการบำบัดรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อติดตามอาการและป้องกันผู้ป่วยกลับมาใช้สารเสพติดซ้ำ แต่เมื่อพิจารณาการดำเนินงาน ในปีงบประมาณ 2565 พบว่า ผู้ป่วยยาเสพติด เข้ารับการบ าบัดรักษาและติดตามดูแลจนครบระยะเวลาที่กำหนดอยู่ที่ร้อยละ 57.94
ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยยาเสพติดที่มีความเสี่ยงก่อความรุนแรงซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการบำบัดทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมอย่างต่อเนื่อง ที่มีจำนวน 53,484 ราย กลับได้รับการดูแลในระดับที่ต่ำกว่า เพียงร้อยละ 52.82 (ณ เดือนกันยายน 2565) ชี้ให้เห็นว่าผู้ป่วยเกือบครึ่งยังไม่ได้รับการบัดรักษาครบถ้วนตามกำหนดเวลา จึงต้องให้ความสำคัญกับการติดตามดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้มากขึ้น เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความสูญเสียทั้งต่อผู้ป่วยเองและต่อสังคมดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งในหลายกรณีพบว่า ผู้ก่อเหตุได้มีการใช้สารเสพติดร่วมด้วย รวมทั้งจะต้องเร่งปราบปรามยาเสพติดเพื่อเป็นการลดจำนวนผู้ป่วยได้ตั้งแต่ต้นทาง
นอกจากปัญหาด้านสุขภาพจิตแล้ว สิ่งที่น่าห่วงใยในด้านสุขภาพสุขภาวะของคนในสังคมอีกประการหนึ่งคือ การระบาดของโรคโควิด-19 โดยประเทศไทยยังคงต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ อาทิ เดลตาครอนที่ระบาดในฟิลิปปินส์ สายพันธุ์ BQ.1 และ BQ.1.1 ที่ระบาดในสหรัฐอเมริกา สายพันธุ์ XBB ที่ระบาดในสิงคโปร์ ซึ่งอาจมีการระบาดมากขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันไทยมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมด้านต่าง ๆ ลง ประชาชนออกมาใช้ชีวิตปกติดังเช่นก่อนการแพร่ระบาด มีการจัดกิจกรรมแบบรวมกลุ่มมากขึ้น และมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น ดังนั้น ประชาชนยังคงต้องรักษาระดับการป้องกันโรคส่วนบุคคลและเข้ารับวัคซีนและวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง
ด้าน การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ รายงานภาวะสังคมไทยระบุว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 3.9 จากพฤติกรรมการบริโภคที่มีแนวโน้มกลับมาดังเช่นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 1.2 อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องให้ความสำคัญกับการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ที่ถูกต้อง และสร้างการตระหนักถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็กและเยาวชน เนื่องจากยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่ถูกต้องนัก
ผลสำรวจของของสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) เกี่ยวกับทัศนคติของเด็กและเยาวชนไทยที่มีต่อบุหรี่ไฟฟ้า และสถานการณ์เด็กและเยาวชนไทยกับการรับข้อมูลและวาทกรรมสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ในปี 2565 พบว่า เด็กและเยาวชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เฉลี่ย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยร้อยละ 38.5 ของกลุ่มตัวอย่าง มีการรับรู้วาทกรรมที่ผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า อาทิ การสูบบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่แบบมวนเนื่องจากสามารถเลือกปริมาณนิโคตินเองได้ อีกทั้งผลสำรวจยังพบว่า เด็กและเยาวชนในกลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 72 มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเพียงในระดับปานกลาง ขณะที่อีกร้อยละ 19 ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า
นอกจากนี้ ผลการศึกษาพฤติกรรมการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดอื่น ๆ และติดตามผลต่อเนื่อง 12 เดือน ในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของประเทศไทยจำนวน 6,045 รายยังพบว่า เด็กที่เริ่มต้นสูบบุหรี่โดยใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอย่างแรก มีแนวโน้มจะสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น 5 เท่า และสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันยังพบด้วยว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีรูปแบบที่สวยงามมีรสชาติที่หลากหลาย และสามารถพกพาง่าย จึงเกิดเป็นกระแสนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้เด็กและเยาวชนโดยเฉพาะผู้หญิงมาลองใช้มากขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ งานวิจัยจำนวนมากระบุถึงผลกระทบทางด้านสุขภาพของบุหรี่ไฟฟ้าทั้งต่อผู้สูบและผู้อื่น อาทิ ภาวะซึมเศร้า ภาวะสมองล้า ที่อาจรุนแรงถึงขั้นภาวะสมองเสื่อมก่อนวัยอันควร โดยมีแนวโน้มจะเกิดมากขึ้นในผู้สูบที่มีอายุน้อย ขณะเดียวกันยังเป็นสาเหตุนำไปสู่โรคอื่นอีกด้วย ซึ่งล่าสุดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบรุนแรง หรือ อิวาลี (EVALI) จากสารเคมีและโลหะหนักในควันไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้า ส่งผลให้เกิดภาวะปอดอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งจะมีโอกาสพบได้น้อยกว่าในผู้ที่สูบบุหรี่มวน โดยโรคดังกล่าว จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้หนาวสั่น ไอ หายใจลำบาก ปวดเมื่อยตามตัว รวมถึงอาการทางระบบทางเดินอาหาร และจากการรวบรวมข้อมูล พบคนไทยเป็นโรคอิวาลีและมีแนวโน้มที่จะพบผู้ป่วยโรคนี้มากขึ้น
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ลดโอกาสในการทดลองสูบและนำไปสู่การเป็นนักสูบหน้าใหม่ต่อไป รวมถึงจะต้องเร่งดำเนินการทางกฎหมายแก่ผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งยังเป็นสินค้าผิดกฎหมายในประเทศไทยอย่างจริงจังและเข้มงวด ซึ่งปัจจุบันสามารถหาซื้อในง่ายตามท้องตลาด ตลาดนัดกลางคืน แพลตฟอร์ม ออนไลน์ต่าง ๆ เป็นต้น
- 3574 views