จากกรณีนักแสดงชายท่านหนึ่งซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตัวร้ายที่ท่านชายทุกคนไม่ควรมองข้าม เมื่อมีภาวะที่ผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์ มะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจพบได้เร็ว มีโอกาสรักษาหาย และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะของผู้ชายซึ่งทำหน้าที่เป็นหูรูดควบคุมการปัสสาวะ และสร้างน้ำเลี้ยงตัวอสุจิ บางคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นอัณฑะได้ มะเร็งต่อมลูกหมาก คือเซลล์เนื้องอกผิดปกติที่เกิดในต่อมลูกหมาก พบในคนที่สูงอายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งพบได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย เนื่องจากเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งคนมีอายุยืนมากขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ อายุและพันธุกรรม สำหรับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากปัจจุบันพบมากเป็นอันดับ 4 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดในเพศชาย จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทยโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (Cancer in Thailand Vol.X (2016-2018) สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข) รายงานผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากรายใหม่วันละ 10 ราย หรือ 3,755 รายต่อปี เสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมาก วันละ 5 ราย หรือ 1,654 รายต่อปี
นายแพทย์ศุภวัฒน์ ศิริคุปต์ นายแพทย์ชำนาญการด้านศัลยกรรมมะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยมักมาด้วยก้อนเนื้อมะเร็งกดเบียดท่อปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะลำบาก ไม่พุ่ง ต้องเบ่ง ปัสสาวะมีเลือดปน ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเรื้อรัง แต่ในระยะแรก ๆ นั้น ไม่มีอาการแสดงใด ๆ อาจต้องทำการตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก ร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostatic specific antigen ; PSA) อย่างน้อยปีละครั้งในผู้ชายที่อายุมากกว่า 50 ปี สำหรับความรุนแรงของตัวโรคนั้น อาจมีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง กดเบียดอวัยวะข้างเคียง กดเบียดท่อปัสสาวะทำให้ปัสสาวะเป็นเลือดสด ๆ ปัสสาวะไม่ออก มีการลุกลามไปกระดูก ปวดกระดูกรุนแรง มีการหักของกระดูกสันหลัง เกิดเส้นประสาทกดทับจนเดินไม่ได้ และมีการลุกลามไปอวัยวะภายในอื่น ๆ ได้ สำหรับการตรวจวินิจฉัย ต้องมีการเจาะตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (TRUS Biopsy) การตรวจเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การตรวจการลุกลามกระดูกด้วยสารนิวเคลียร์ เพื่อใช้วางแผนในการรักษา สำหรับแนวทางการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก หากตรวจให้พบในระยะแรกนั้น สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากและต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานออก ปัจจุบันมีความก้าวหน้ามาก สามารถผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก (Laparoscopic surgery) หรือใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic-assisted surgery) ซึ่งผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไวมากขึ้น และเสียเลือดน้อยลง ในบางครั้งหากผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการผ่าตัด หรือไม่อยากผ่าตัด อาจเลือกใช้วิธีการฉายแสง (Radiotherapy) ซึ่งในระยะต้น ๆ อาจทำให้หายขาดได้เช่นกัน ส่วนรายที่ลุกลามไปกระดูกแล้วก็ยังช่วยลดความเจ็บปวดได้อีกด้วย การรักษาด้วยการลดฮอร์โมนเพศชาย เนื่องจากมะเร็งมีการกระตุ้นและโตขึ้นจากฮอร์โมน Testosterone การฉีดยาลดฮอร์โมน หรือผ่าตัดเอาอัณฑะออก ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ การรักษาด้วยเคมีบำบัดเป็นการให้ยาทางเส้นเลือดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง มักใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาที่กล่าวข้างต้นแล้ว หรือมีการกระจายไปที่อวัยวะอื่นๆ ผลข้างเคียงในการรักษาจะมากกว่าวิธีอื่นๆ
สำหรับการป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมากก็พอจะมีอยู่บ้าง เช่น จากการศึกษาสารที่พบในมะเขือเทศ โดยเฉพาะสารที่เรียกว่า Lycopene ถ้าทานอย่างน้อย 10-30 มิลลิกรัม/วัน สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ และที่สำคัญที่สุดคือ การดูแลสุขภาพและตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะมีความแตกต่างกันได้ขึ้นกับหลายปัจจัย ผู้ป่วยควรปรึกษาและสอบถามกับแพทย์ เพื่อร่วมกันพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมกับตนเอง สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มได้ทาง https://www.nci.go.th/th/cpg/TextBook%20มะเร็งต่อมลูกหมาก.pdf และสามารถติดตามความรู้ข่าวสารด้านโรคมะเร็งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ส่งเสริมความรอบรู้สู้ภัยมะเร็ง http://allaboutcancer.nci.go.th/ เว็บไซต์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง https://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ และ Line : NCIรู้สู้มะเร็ง
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 340 views