sciencealert.com เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 ได้รายงานถึงบทความการศึกษาวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับแนวทางการรักษาพยาบาลในสหรัฐอเมริกา โดยได้ระบุถึงหัตถการตรวจวินิจฉัยโรคและการรักษาที่ใช้มากเกินไปเมื่อปีก่อน อันเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายเรียกร้องปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบสุขภาพ
งานวิจัยดังกล่าวระบุว่า การแพทย์นั้นไม่ต่างอะไรจากการต่อสู้กันด้วยตัวเลข แพทย์ต้องแบกรับงานด้วยทรัพยากรจำกัด และบางครั้งการหาจุดสมดุลระหว่างเวลาและต้นทุนก็อาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยได้รับยาหรือหัตถการที่ไม่เหมาะสม
“หลายครั้งที่บุคลากรด้านการดูแลสุขภาพไม่ได้อ้างอิงหลักฐานล่าสุดและทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ดีที่สุดครับ” แดเนียล มอร์แกน นักวิจัยจากวิทยาลัยแพทย์มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์เผย “ซึ่งการศึกษานี้จะบอกให้โลกรู้ถึงการรักษาและการตรวจร่างกายที่ใช้มากเกินไป”
คณะผู้ศึกษาวิจัยสืบค้นบทความวารสารทางการแพทย์จากฐานข้อมูล PubMed ด้วยคำสืบค้นที่เกี่ยวข้อง (overuse, overtreatment, inappropriate และ unnecessary) ซึ่งจากบทบาทวิจัยที่รวบรวมได้ 2,252 เรื่องพบว่ามีบทความถึง 1,224 ที่กล่าวโดยตรงถึงการใช้ยามากเกินไปและได้รายงาน “การรักษาพยาบาลที่อันตรายอาจสูงกว่าประโยชน์ที่ได้รับ” โดยคณะผู้ศึกษาวิจัยได้รวบรวมหัตถการตรวจวินิจฉัยโรคและการรักษาที่ใช้มากเกินไป 10 อันดับแรกดังนี้
1.ถ่ายภาพหัวใจผ่านหลอดอาหาร
เป็นการถ่ายภาพหัวใจโดยอาศัยคลื่นอัลตราซาวด์ผ่านหลอดที่สอดลงไปทางหลอดอาหาร ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาหัตถการนี้แทนการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อย่างไรก็ดีนักวิจัยชี้ว่าข้อมูลที่ได้รับอาจไม่คุ้มกับความเสี่ยงต่อผู้ป่วย
2.ซีทีสแกนหลอดเลือดแดงปอด
การถ่ายภาพหลอดเลือดแดงปอดในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจด้วยซีทีสแกน วิธีการนี้ไม่ทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บและเป็นการตรวจที่มีความไวสูง แต่ผู้ป่วยจะได้รับรังสีและการรอตรวจอาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นก่อนการรักษา
3.ซีทีสแกนในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ
การตรวจซีทีสแกนในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจซึ่งไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตช่วยให้ผลลัพธ์การรักษาดีขึ้นเพียงเล็กน้อย ขณะที่การสแกนก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อผลบวกหลอก
4.อัลตราซาวด์และใส่ขดลวดหลอดเลือดคาโรติด
การอัลตราซาวด์หลอดเลือดคาโรติดมีสวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความกว้างของหลอดเลือดแดงที่คอซึ่งอาจช่วยระบุความเสี่ยงต่อสโตรก แม้การตรวจตั้งแต่เนิ่นอาจป้องกันการเสียชีวิต แต่พบว่าผู้ป่วย 9 ใน 10 ที่ได้รับการตรวจมักไม่มีอาการ และส่งผลให้ผู้ป่วยต้องใส่ขดลวดเพื่อขยายหลอดเลือดโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้การใส่ขดลวดจำเป็นต้องอาศัยการผ่าตัดซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงขึ้น
5.การตัดต่อมลูกหมากสำหรับมะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นอีกโรคหนึ่งที่สามารถรักษาได้ง่ายหากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นด้วยการตรวจ prostate antigens ในเลือด อย่างไรก็ดีเป็นการยากที่จะชี้ชัดว่า prostate antigens ดังกล่าวเป็นผลจากมะเร็งระยะลุกลามซึ่งจำเป็นต้องรีบรักษา หรือมะเร็งโตช้าที่อาจกินเวลานานหลายปีจนกระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิตไปก่อน สถิติชี้ว่าอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมากต่ำเพียงร้อยละ 1 ในผู้ป่วยที่ตัดต่อมลูกหมากออก อันเป็นตัวเลขเดียวกันกับผู้ป่วยที่ไม่ตัดต่อมลูกหมาก ขณะที่การตัดต่อมลูกหมากอาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนหลายประการ
6.ออกซิเจนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
การรักษาด้วยออกซิเจนบำบัดในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังไม่ได้ช่วยฟื้นฟูการทำงานของปอดหรือทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาวะดีขึ้น ขณะที่อาจส่งผลให้เกิดการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วย
7.การผ่าตัดสำหรับหมอนรองกระดูกเข่าฉีก
การฉีกขาดของกระดูกอ่อนรูปตัวซีในหัวเข่าซึ่งทำหน้าที่รองรับแรงกระแทกไม่ใช่เรื่องสนุกแม้แต่น้อย ทว่าการพยายามเข้าไปซ่อมแซมด้วยการผ่าตัดกลับมีประโยชน์มากกว่าการรักษาประคับประคองและกายภาพบำบัดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
8.โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยใน
โดยรวมภาวะทุพโภชนาการไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วย แต่การเสริมโภชนาการแก่ผู้ป่วยวิกฤติเพียงแต่ช่วยให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยมีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในแง่ระยะการนอนโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิต และการให้โภชนบำบัดในกรณีเกิดการล้มเหลวของระบบอวัยวะหรือมีภาวะแทรกซ้อนของระบบเมตาบอลิกก็ยิ่งทำให้ความเสี่ยงสูงกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ
9.การใช้ยาปฏิชีวนะ
ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยหนึ่งเมื่อปีก่อนประเมินว่ามีการสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ 506 รายต่อผู้ป่วยทุก 1,000 ราย แต่ตัวเลขการสั่งจ่ายยาที่เหมาะสมอยู่ที่ 353 รายเท่านั้น อีกด้านหนึ่งสำนักงานควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐฯ เพิ่งประกาศแผนรณรงค์ National Action Plan for Combating Antibiotic-Resistant Bacteria เพื่อลดการสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะสำหรับผู้ป่วยนอกโดยไม่จำเป็นลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งคณะผู้ศึกษาวิจัยมองว่าการกดดันทางสังคมให้แพทย์ยึดถือแนวทางเวชปฏิบัติที่ดีสำหรับการจ่ายยาปฏิชีวนะเป็นมาตรการที่จะเห็นผลชัดที่สุด
10.การถ่ายภาพหัวใจ
การถ่ายภาพหัวใจสำหรับผู้ป่วยเจ็บหน้าอกเพิ่มขึ้นราว 3 เท่าตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งที่ไม่มีประโยชน์อันใดเลยสำหรับผู้ป่วยความเสี่ยงต่ำ ขณะที่ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลและได้รับการรักษาโดยไม่จำเป็น และคณะผู้ศึกษาวิจัยเสนอทางออกด้วยการที่แพทย์และผู้ป่วยร่วมกันพิจารณาแนวทางการรักษาพยาบาล
อนึ่ง คณะผู้ศึกษาวิจัยไม่ได้มีเจตนาชี้ให้หลีกเลี่ยงหัตถการดังกล่าว และแนะนำให้ผู้ป่วยซักถามข้อมูลจากแพทย์อย่างละเอียด และว่า งานวิจัยที่มุ่งศึกษาแนวทางการให้บริการรักษาพยาบาลของบุคลากรด้านการดูแลสุขภาพจะมีความสำคัญต่อการรักษามาตรฐานให้อยู่ในระดับสูงด้วยทรัพยากรเท่าที่มีอยู่
แปลและเรียบเรียงจาก Here Are The Top 10 Most Unnecessary Medical Treatments, According to Scientists: www.sciencealert.com
This research was published in JAMA Internal Medicine.
เพิ่มเติมจาก Hfocus.org เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตในข้อ 8 โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยใน ซึ่งภายหลังจากบทความนี้เผยแพร่ทาง www.hfocus.org นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท นักศึกษาปริญญาเอก สาขามานุษยวิทยาการแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เขียนบทความชี้แจงถึงข้อสังเกตดังกล่าว hfocus.rg จึงขอนำเผยแพร่ตามนี้ นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท : ‘ผลวิจัย’ จากต่างประเทศ... อาจเชื่อถือไม่ได้และอันตรายกว่าที่คิด
- 446 views