สูตรสมุนไพรผักบุ้งจีนผสมน้ำผึ้งไม่ช่วยรักษา ต่อมลูกหมากโต

จากข้อมูลสรรพคุณเกินจริงของสูตรสมุนไพรผักบุ้งจีนผสมน้ำผึ้งว่า ช่วยรักษาอาการ ต่อมลูกหมากโต สามารถเห็นผลได้ภายใน 2 วัน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ ยังไม่มีงานวิจัยระบุว่า หากรับประทานผักบุ้งผสมน้ำผึ้ง ตามที่โพสต์บอกคือ 3 เวลา ก่อนอาหาร โดยให้รับประทานเช่นนี้ติดต่อกัน 2 วัน ช่วยรักษาอาการ ต่อมลูกหมากโต 

สำหรับสรรพคุณของ ผักบุ้งจีน ตามภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไทยและสรรพคุณตามตำรายาไทย ระบุว่า ผักบุ้งจีน ช่วยในการขับปัสสาวะ บรรเทาอาการเรื่องการขับปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะได้ดีขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ช่วยเรื่องการรักษา ต่อมลูกหมากโต 

ต่อมลูกหมากโต คืออะไร

ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย อยู่รอบท่อปัสสาวะส่วนต้น โดยต่อจากกระเพาะปัสสาวะ หลังกระดูกหัวเหน่าต่อทวารหนัก ปกติแล้วขนาดของต่อมลูกหมากจะคล้ายกับขนาดของผลหมาก ลักษณะคล้ายเนื้อของผลหมาก ถูกกระตุ้นให้มีการเจริญเติบโตจากฮอร์โมนเพศชาย เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านฮอร์โมน ฮอร์โมนเพศเริ่มไม่สมดุล ทำให้ ต่อมลูกหมากโต ขึ้น

โรคต่อมลูกหมากมี 3 ชนิด 

ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า โรคต่อมลูกหมากโต เกิดจากการที่ ต่อมลูกหมากโต มีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่

  1. ชนิดธรรมดา พบได้บ่อยมากในผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป อีกทั้งพบได้มากขึ้นในคนที่สูงอายุ โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 30-40 หรือในชาย 3 คน มักจะเป็นโรคต่อมลูกหมากโต 1 คน
  2. ชนิดร้าย (มะเร็ง) พบเป็นอันดับสองรองลงมา โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เกิดกับคนในประเทศตะวันตกมากกว่าคนในประเทศตะวันออก ในอนาคตเมื่อคนมีอายุมากขึ้น อาจพบโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น 
  3. ชนิดอักเสบ พบได้น้อยกว่า 2 ชนิดแรก มักเกิดกับคนอายุน้อย ๆ

อั้นปัสสาวะไม่อยู่ เสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จริงหรือ

ต่อมลูกหมากโต ปัญหาสุขภาพสำคัญของเพศชาย เมื่ออายุมากขึ้น ต่อมลูกหมากโต จะเป็นไปตามธรรมชาติ แต่จะส่งผลให้การปัสสาวะผิดปกติได้ ต่อมลูกหมากที่โตขึ้นอาจอุดตันท่อปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะลำบาก อาจไปรบกวนระบบสืบพันธุ์ได้ ที่น่ากลัวไปกว่านั้น คือ อาการต่อมลูกหมากโตสามารถพัฒนาไปเป็น โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ได้ด้วย  

ส่วนข่าวที่ว่า "อั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุด เสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก" กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชี้แจงว่า อาการที่ระบุไว้ว่า อั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุด ไม่ใช่ว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเสมอไป อาการดังกล่าวอาจเกิดจาก ต่อมลูกหมากโต หรือปัญหาสุขภาพอื่น อย่างการติดเชื้อก็เป็นได้  

"อั้นปัสสาวะไม่อยู่ เสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จริงหรือ"

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ใช่ ต่อมลูกหมากโต แต่เป็น มะเร็งต่อมลูกหมาก

ปัจจุบันพบมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นอันดับ 4 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดในเพศชาย จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทยโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ รายงานว่า มีผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากรายใหม่ประมาณ 3,700 รายต่อปี หรือมีอุบัติการณ์ 7.7 รายต่อประชากร 100,000 คน พบผู้เสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมากประมาณ 1,700 ราย

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า มะเร็งต่อมลูกหมาก เกิดจากสาเหตุอะไร แต่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากก็มากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติครอบครัว ญาติสายตรงเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยมะเร็งต่อมลูกหมาก จะเกิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อภายในต่อมลูกหมากนั้นเจริญเติบโตหรือแบ่งตัวผิดปกติ ไม่อาจควบคุมได้ ซึ่งอาการของมะเร็งต่อมลูกหมากยังคล้ายคลึงกับ ต่อมลูกหมากโต โดยจะแสดงอาการเมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้น เพราะโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะไม่แสดงอาการในระยะแรก ๆ สำหรับอาการของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก พบได้ดังนี้

  • ปัสสาวะไม่ออก
  • ปัสสาวะลำบาก 
  • ปัสสาวะไม่พุ่งหรือหยุดเป็นช่วง ๆ 
  • รู้สึกปวดเมื่อปัสสาวะ

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก

ด้วยอาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก คล้ายกับ โรคต่อมลูกหมากโต หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ของต่อมลูกหมาก การรีบมาพบแพทย์เมื่อมีความผิดปกติในร่างกายจะดีที่สุด การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือการตรวจหาความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก จะทำได้ทั้ง 

  • การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งในต่อมลูกหมาก (Prostate specific Antigen: PSA) 
  • การตรวจทางทวารหนัก แพทย์ใช้นิ้วสอดเข้าไปในทวารหนัก คลำพื้นผิวรูปร่างและขนาดของต่อมลูกหมากว่าผิดปกติหรือไม่ 

หากได้รับการตรวจตั้งแต่ระยะเริ่มแรก รักษาได้รวดเร็ว ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็ก ไม่ลุกลามสู่อวัยวะอื่น จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพดีที่สุด โอกาสหายขาดจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากก็จะสูงขึ้นด้วย จึงควรตรวจร่างกายเป็นประจำ หากพบอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องแม่นยำ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : โรคต่อมลูกหมากโต

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org.