สปสช. จับมือ กรมควบคุมโรค และ IHRI จัดประชุม “องค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการเอชไอวี” เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้าน HIV ในระบบบัตรทอง เร่งบริการเชิงรุกในชุมชน ดูแลกลุ่มเสี่ยงและผู้ติดเชื้อเข้าถึงบริการ พร้อมสร้างความเท่าเทียม เผยขณะนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 17 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 5 แห่ง
นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กลุ่มภารกิจสนับสนุนการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมาเป็น “วันเอดส์โลก” สปสช. ได้ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประกาศเจตนารมณ์ "U=U : ระบบสุขภาพต้องเท่าเทียมกัน ผู้ติดเชื้อต้องเท่าเทียมกันทุกคน" เพื่อรณรงค์ให้สาธารณชนตระหนักถึงความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวีตามหลักการ U=U (Undetectable = Untransmittable) หรือ ตรวจไม่พบเชื้อ = ไม่ถ่ายทอดเชื้อ ส่งเสริมให้ผู้มีเชื้อเอชไอวีคงอยู่ในระบบการรักษา
ทั้งนี้เพื่อผลักดันตามเจตนารมณ์ประกาศนี้และบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560-2573 นอกจากสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ที่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท พัฒนามาอย่างต่อเนื่องแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 บอร์ด สปสช. มีมติเให้ “องค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวีแลโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน” ที่ผ่านการประเมินตามมาตรฐานการจัดบริการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชนโดยกรมควบคุมโรค ร่วมเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น (หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545
นพ.รัฐพล กล่าวว่า ความคืบหน้าการดำเนินงานตามมติบอร์ด สปสช.นี้ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 65 สปสช. ได้จัด “ประชุมชี้แจงความคืบหน้าการอบรมและรับรององค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ที่จัดบริการเอชไอวี เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ผ่านทางออนไลน์ ความร่วมมือกรมควบคุมโรค และสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. และ นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดการประชุม ซึ่งมีผู้แทนองค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาชน องค์กรชุมชนด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เข้าร่วม 225 คน
สำหรับองค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวีฯ ที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมในระบบบัตรทอง 30 บาทนี้ ต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนด คือ 1.เป็นองค์กรหรือหน่วยงานภาคเอกชนที่ให้บริการสาธารณสุขตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ และไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ 2.มีผลการดำเนินงานด้านสาธารณสุขไม่น้อยกว่า 1 ปี และได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หรือองค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคลที่ สปสช. รับรอง และ 3.มีบุคลากรที่มีประสบการณ์และได้รับรองสมรรถนะจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หรือองค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคลที่ สปสช.รับรอง หรือมีบุคลากรที่ผ่านการอบรมหลักสูตรที่สอดคล้องกับบริการ
การประชุมฯ ครั้งนี้ เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจในขั้นตอนการดำเนินการให้กับองค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวีฯ และสนใจเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมกับ สปสช. ในการดูแลผู้ที่มีความเสี่ยงและผู้ติดเชื้อเอชไอวีในชุมชนให้ได้รับบริการ รวมถึงการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายยุติเอดส์ ซึ่งเอชไอวีเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องใช้กลไกต่างๆ ที่มีอยู่มาร่วมกันทำงาน เพราะเพียงหน่วยงานภาครัฐอาจไม่สามารถดำเนินการเชิงรุกได้ จำเป็นต้องดึงภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาชนมาร่วมกันทำงาน โดยมีสภาวิชาชีพทางการแพทย์ร่วมสนับสนุน
“ขณะนี้ สปสช. ได้ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว 17 แห่ง และอยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนอีก 5 แห่ง คาดว่าจะมีองค์กรที่เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 60 แห่ง นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรม” ผู้ทรงคุณวุฒิ กลุ่มภารกิจสนับสนุนการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิ กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
- 155 views